สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
Volume: 
ฉบับที่ 16 เดือน กันยายน 2557
Column: 
Health Station
Writer Name: 
ดนัย อังควัฒนวิทย์

สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

หากจะกล่าวถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ไอที ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเรา เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงคิดถึง “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” ซึ่งอาการของโรคและสาเหตุสําคัญเป็นอย่างไร มาติดตามกันเลย

“โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอที เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่การอ่านหนังสือเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่พักสายตาจนทําให้กล้ามเนื้อตาล้า หรือการนั่งอยู่ในท่วงท่าอิริยาบถหนึ่งนานๆ โดยไม่ขยับเขยื้อน และอีกหลากหลายสาเหตุที่ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เกิดอาการของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมขึ้นได้ เช่น ทิศทางการเป่าของแอร์ ความสว่างของหน้าจอ ระยะการมอง ท่าทางการนั่ง ตําแหน่งการวางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

พญ.ญาณิน สุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ส่วนมากมักพบโรคนี้ได้ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทํางาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลา ทั้งทํางาน คุยผ่านโปรแกรมสนทนา หรือแม้แต่เล่นเกมส์ จนเมื่อเกิดอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ปวดตา ตาพร่า เกิดภาพเบลอหรือภาพซ้อน ปวดศีรษะ จึงมาพบแพทย์ ซึ่งการระบุได้ว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมหรือไม่นั้น แพทย์ต้องวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด

สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

เมื่อกล่าวถึงอาการตาแห้ง ถือเป็นอาการหลักที่ทําให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา และอาจจะมีการแพ้แสงร่วมด้วยได้ เราสามารถปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อลดอาการได้ เช่นว่า ปรับทิศทางการเป่าของแอร์หรือพัดลม โดยไม่เป่าโดนตา หรือตรวจสอบดูว่าความชื้นในห้องเป็นอย่างไร ถ้าเราปรับสิ่งเหล่านี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องให้การรักษาโดยการใช้น้ำตาเทียม

สายตากับโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

การดูแลรักษาโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม พบว่า เมื่อปรับสภาพแวดล้อมและพอจะแก้ปัญหาพฤติกรรมการใช้สายตาได้แล้ว อาการปวดศีรษะก็จะดีขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อตาก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เมื่อใช้งานหนักหรือหักโหมเกินไป ก็ทําให้เกิดอาการล้าและปวดตามมาได้ เหมือนกับดวงตาที่ผ่านการเพ่งมองสิ่งใดเป็นเวลานาน ก็ควรเว้นระยะการใช้และพักสายตาบ้าง เช่น ใช้สายตาไป 20 นาที ก็ควรพักสายตาสัก 20 วินาที ก็คือ มองไปที่ไกลๆ จากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ฟุต เพราะบางทีเราลืมตัว ทํางานเป็นชั่วโมง พอเงยหน้ามองไปที่อื่น จึงทําให้จุดโฟกัสสายตายังปรับค่าระยะสายตาอยู่ที่วัตถุใกล้ ยังไม่ใช่สายตาปกติ จึงเป็นที่มาของอาการตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด เกิดภาพเบลอและภาพซ้อน โฟกัสที่ภาพได้ไม่ชัดเจน ต้องปล่อยไปสักพัก และจะค่อยๆ กลับไปเป็นปกติเช่นเดิมตามพื้นฐานสายตาของเรา

ส่วนการรักษาด้วยการใช้น้ำตาเทียมนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนําน้ำตาเทียม 2 ชนิด คือ น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (1 ขวดใหญ่ เมื่อเปิดแล้วใช้ได้ 1 เดือน)  และ  น้ำตาเทียมแบบรายวัน  (ใช้ได้ 24 ชั่วโมง แล้วทิ้ง) สามารถใช้ได้ตามอาการ เช่น หากตาแห้งไม่มากควรใช้แบบรายเดือน แต่ถ้าตาแห้งมากควรใช้แบบรายวัน เนื่องจากสามารถหยอดได้บ่อยและถี่ ซึ่งภายหลังการหยอดจะช่วยทําให้รู้สึกสบายตาขึ้น เหมือนมีน้ำหล่อลื่น ช่วงแรกๆ ที่อาการมากๆ ต้องใช้เป็นประจําต่อเนื่อง จนแผลเล็กๆ น้อยๆ ในตาสมานกันดีเสียก่อน พออาการค่อนข้างคงที่แล้วค่อยเว้นระยะการหยอดให้ห่างขึ้น

ผลมาจากการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทําให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ตามร่างกายได้ หากเราใช้ให้เป็นก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก แต่ควรระมัดระวังการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดอันตรายในระยะยาวได้

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 16