หลักสูตรและการศึกษา (นักศึกษาแพทย์)

 
 
หลักสูตรวิสัญญีวิทยาสำหรับนักศึกษาแพทย์
 
ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 
มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 เริ่มใช้ พ.ศ. ๒๕๔๗
แก้ไขปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๔
 
 
ชื่อหลักสูตร หลักสูตรวิสัญญีวิทยาสำหรับนักศึกษาแพทย์หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 
 
ภาควิชาที่รับผิดชอบ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี    
 
ความสำคัญของวิชาต่อเวชปฏิบัติ
วิสัญญีวิทยาเป็นสาขาหนึ่งของวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวข้องกับการบำบัดความเจ็บปวดและการประคองชีวิตผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัญหาที่แพทย์ทั่วไปต้องได้พบ สำหรับแพทย์ทั่วไปที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย จำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญทางวิสัญญีวิทยามากกว่าแพทย์ทั่วไปในประเทศที่ถือกันว่าพัฒนาแล้ว เนื่องจาก
๑. ขอบเขตความรับผิดชอบกว้างไกลและซับซ้อนกว่า โดยอาจเป็นแพทย์คนเดียวในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งรับผิดชอบประชาชนทั้งอำเภอ  ต้องให้บริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทุกด้าน  ที่สำคัญคือการประคองชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน  
๒. โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่มีวิสัญญีแพทย์ที่จะให้บริการหรือเป็นที่ปรึกษา  แพทย์ทั่วไปจึงต้องปฏิบัติงานของวิสัญญีแพทย์ด้วยตนเอง   หรือต้องเป็นที่ปรึกษาแก่วิสัญญีพยาบาลและแก้ปัญหาการให้ยาระงับความรู้สึกที่เกิดจากวิสัญญีพยาบาลได้ 
โดยเหตุนี้นักศึกษาแพทย์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานความรู้ทางวิสัญญีวิทยา และมีความชำนาญในหัตถการต่างๆ ที่ใช้ในการประคองชีวิตเพียงพอที่จะปฏิบัติงานเมื่อจบเป็นแพทย์แล้ว    
 
วัตถุประสงค์ทั่วไปของหลักสูตร
นักศึกษาแพทย์ที่จะจบแพทยศาสตร์บัณฑิตต้องสามารถบอกขอบข่ายงานของสาขาวิสัญญีวิทยาได้ มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับการประคองชีวิตและการบำบัดความเจ็บปวดที่ไม่ซับซ้อน และมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการระงับ ความรู้สึกเพียงพอที่จะให้ยาระงับความรู้สึกด้วยตนเอง หรือเป็นที่ปรึกษาและแก้ปัญหาให้วิสัญญีพยาบาลได้ โดยยึดถือตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ของแพทยสภา 
 
รหัสและชื่อรายวิชา จำนวนหน่วยกิต และระยะเวลาที่ศึกษา
หลักสูตรวิสัญญีวิทยาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วยรายวิชาบังคับ และรายวิชาเลือก  ดังนี้ 
๑. รายวิชาบังคับ  สำหรับนักศึกษาแพทย์ปี ๕  ประกอบด้วย ๑ รหัสวิชาคือ รมวส ๕๐๕ (RAAS 505) ชื่อวิชา วิสัญญีวิทยาพื้นฐาน (Basic Anesthesiology)   จำนวนหน่วยกิต ๓ หน่วยกิต แบ่งเป็นหน่วยกิตภาคทฤษฎี ๒ หน่วยกิต และหน่วยกิตภาคปฏิบัติ ๑ หน่วยกิต  ระยะเวลาที่ศึกษา ๓ สัปดาห์  
๒. รายวิชาเลือก  เป็นวิชาเลือกเสรีสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่จบปี ๕ และนักศึกษาแพทย์ปี ๖ ประกอบด้วย ๔ รหัสวิชา คือ  
๒.๑ รมวส ๕๓๑ (RAAS 531) ชื่อวิชา การให้ยาระงับความรู้สึกในภาวะซับซ้อน (Complicated Anesthesia)  เป็นหน่วยกิตภาคปฏิบัติ ๒ หน่วยกิต ระยะเวลาที่ศึกษา ๒ สัปดาห์ 
๒.๒ รมวส ๕๓๒ (RAAS 532) ชื่อวิชา การบำบัดทางระบบหายใจ (Respiratory Care)   เป็นหน่วยกิตภาคปฏิบัติ ๒ หน่วยกิต ระยะเวลาที่ศึกษา ๒ สัปดาห์
๒.๓ รมวส ๕๓๓ (RAAS 533) ชื่อวิชา การดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care) เป็นหน่วยกิตภาคปฏิบัติ ๒ หน่วยกิต ระยะเวลาที่ศึกษา ๒ สัปดาห์ 
๒.๔ รมวส ๕๓๔ (RAAS 534) ชื่อวิชา การบำบัดความปวด (Pain Management) เป็นหน่วยกิตภาคปฏิบัติ ๒ หน่วยกิต ระยะเวลาที่ศึกษา ๒ สัปดาห์