คำถามที่พบบ่อย

1

ถาม เครื่อง MRI ทำงานอย่างไร

ตอบ เครื่อง MRI ตรวจระบบอวัยวะต่างๆ โดยอาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของไฮโดรเจนอะตอม (Hydrogen, H) โมเลกุลของน้ำ (H2O) ในร่างกายเมื่อร่างกายอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก เครื่องจะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะ เข้าไปกระตุ้นอวัยวะที่จะตรวจเมื่ออวัยวะนั้นๆ ถูกกระตุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามขบวนการทางฟิสิกส์ ที่เรียกว่า การกำทอน (Resonance)หลังจากหยุดกระตุ้น ไฮโดรเจนอะตอมภายในอวัยวะมีการคายพลังงานออกมาให้ อุปกรณ์รับสัญญาณ แล้วแปลงเป็นสัญญาณภาพบนจอภาพออกมา

2

ถาม ต้องใช้เวลาในการตรวจนานเท่าไหร่

ตอบ ขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะส่วนที่ตรวจ อาจนานประมาณ 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังขึ้นกับ รอยโรคที่สงสัย และความร่วมมือของผู้รับการตรวจในการตรวจ ตัวอย่างเช่น การตรวจเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อสมองโดยรวม จะอยู่ที่ประมาณ 20-25 นาที แต่ถ้าต้องการตรวจดูหลอดเลือดด้วย เวลาที่ใช้ในการตรวจ ก็จะเพิ่มขึ้น อีก 15 นาที กรณีที่ตรวจเพื่อดูความผิดปกติของส่วนช่องท้อง จะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที เป็นต้น

3

ถาม ถ้ากลัวที่แคบ จะสามารถตรวจได้ไหม

ตอบ การตรวจจะขึ้นอยู่กับผู้รับการตรวจกลัวที่แคบมากน้อยเพียงไร โดยทางเจ้าหน้าที่จะซักถามและประเมินการกลัวที่แคบของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งจะให้ผู้เข้ารับการตรวจเข้า ไปดูเครื่อง MRI และอธิบายลักษณะการตรวจก่อน เนื่องจากการตรวจแต่ละส่วนจะมีความแตกต่างของการจัดท่าผู้ป่วยในการตรวจ เช่นกรณีที่ตรวจส่วนศรีษะ ตำแหน่งของศรีษะต้องอยู่กึ่งกลางของตัวเครื่อง หรือถ้าตรวจบริเวณข้อเท้าก็ให้ข้อเท้าเข้าอยู่กึ่งกลางของเครื่อง ดังนั้นถ้าท่านทราบมาก่อนว่ากลัวที่แคบ กรุณาแจ้งให้ทราบในวันที่นัดตรวจ เพื่อจะได้ประเมินการเตรียมตัวให้ กรณีที่กลัวมากผู้ป่วยจะต้องมีการให้ยาคลายเครียด ก่อนเข้ารับการตรวจ ผู้เข้า รับการตรวจจะต้องมีการเตรียมตัว งดน้ำงดอาหารก่อนให้ยา กรณีที่กลัวไม่มาก ทางเจ้าหน้าที่จะอธิบายลักษณะการตรวจ และจะให้ญาติเข้าไป อยู่เป็นเพื่อนในห้องตรวจได้

4

ถาม ต้องทำตัวอย่างไร ขณะที่ทำการตรวจและต้องนอนนิ่งแค่ไหน

ตอบ ในการตรวจ MRI เวลาเครื่องทำงานจะมีเสียงดังเป็นช่วงจังหวะหลายๆช่วง ช่วงหนึ่งนานประมาณ 3-5 นาที ในขณะที่มีเสียงดังให้ ท่านนอนนิ่งๆ ไม่ขยับอวัยวะบริเวณที่ตรวจ และในช่วงที่เครื่องไม่ทำงานจะไม่มีเสียงดัง ท่านสามารถขยับอวัยวะส่วนที่ไม่ได้ตรวจได้ แต่ต้องไม่ขยับมากจนทำให้เเปลี่ยนตำแหน่งของอวัยวะส่วนที่ตรวจ เช่น กรณีที่ตรวจส่วนสมอง ท่านสามารถขยับแขนขาได้ เมื่อเครื่องเงียบแต่ห้ามยกตัวเพราะจะทำให้ตำแหน่งของศีรษะเปลี่ยนไป เมื่อเสียงเครื่องดังต่อ ท่านต้องนิ่งเพื่อตรวจชุดต่อไป และเป็นแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการตรวจ

5

ถาม ถ้ามีโลหะฝังอยู่ในร่างกายสามารถตรวจได้หรือไม่

ตอบ ถ้าท่านมีอุปกรณ์ ที่เป็นอุปกรณ์โลหะ ฝังอยู่ในร่างกาย ท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบในวันที่นัดตรวจก่อน เพื่อแยกประเภทของโลหะ ว่าเป็นชนิดที่เข้าสนามแม่เหล็กได้หรือไม่ เช่น อุปกรณ์ที่มีวงจรอิเล็คโทรนิคฝังไว้ในร่างกาย เช่นเครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องช่วยฟังแบบฝัง ฯลฯ อาจเข้าตรวจไม่ได้ อุปกรณ์ที่เป็นขดลวด Stent สำหรับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ต้องตรวจสอบรุ่น และระยะเวลาที่ใส่มาแล้ว อุปกรณ์ข้อเทียมต่างๆ ต้องตรวจสอบชนิดของโลหะ ระยะเวลาที่ท่านใส่ไว้ และตำแหน่งที่ตรวจว่ามีการรบกวนของโลหะในการถ่ายภาพหรือไม่ และในวันที่ตรวจ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่เทคนิเชี่ยนก่อนตรวจด้วยอีกครั้ง เพื่อความสะดวกปลอดภัยของตัวท่านเอง

6

ถาม เครื่อง MRI มีอันตรายหรือไม่

ตอบ สำหรับเครื่อง MRI ที่ใช้กันทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้ว ความเข้มสนามแม่เหล็กและข้อกำหนดอื่นๆของเครื่องที่นำมาใช้ จะไม่เกินค่าขีดจำกัดที่องค์กรอาหารและยาของต่างประเทศ (FDA) กำหนดไว้ ดังนั้น จะมีความปลอดภัยสำหรับการตรวจ สำหรับบุคคลทั่วไป แต่ในผู้เข้ารับการตรวจที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะสามเดือนแรก เราจะทำการตรวจในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น อันตรายอีกอย่างจากเครื่อง MRI คือ อันตรายจากเสียงดัง ซึ่งในการตรวจ เราจะมีอุปกรณ์อุดหู ช่วยในการลดเสียงดัง

7

ถาม ถ้ามีปัญหาระหว่างตรวจต้องทำอย่างไร

ตอบ ถ้าท่านรู้สึกผิดปกติ เช่นสำลัก หรือไอ ท่านสามารถบีบลูกยางฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่ให้ไว้ เพื่อขอหยุดตรวจชั่วคราวได้

8

ถาม การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์กว่าการตรวจด้วยวิธีอื่นอย่างไร

ตอบ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจในแนวของภาพตัดขวางซึ่งให้รายละเอียดมากกว่า สามารถมองเห็นอวัยวะที่ซ้อนทับกันได้ และยังนำภาพที่ได้มาสร้างภาพเป็นภาพ2และ3มิติซึ่งนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการตรวจสั้น

9

ถาม การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีอันตรายจากการตรวจหรือไม่

ตอบ ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง นักรังสีการแพทย์จะใช้ปริมาณรังสีที่พอเหมาะสำหรับการตรวจแต่ละส่วน โดยจะไม่ให้เกินกว่าปริมาณที่มาตรฐานกำหนดไว้

10

ถาม ผู้ป่วยประเภทใดที่มีความเสี่ยงต่อการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ตอบ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก เพราะรังสีมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

11

ถาม ทำไมต้องกินอาหารอ่อนไม่มีกากก่อนการตรวจลำไส้

ตอบ เพราะว่าการตรวจลำไส้ คือการต้องการดูความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ ถ้าไม่มีการเตรียมลำไส้ให้สะอาด รังสีแพทย์อาจจะเห็นความผิดปกติภาย ในลำไส้ (ก้อนเนื้องอก) เป็นเศษอุจจาระ หรืออาจเห็นเศษอุจจาระเป็นก้อนเนื้องอกได้ ซึ่งถ้า เป็นเช่นนี้ ผลเสียจะตกอยู่กับผู้รับการตรวจ การรับประทานอาหารอ่อนไม่มีกาก 2วันก่อนการตรวจร่วมกับการ รับประทานยาระบายจะทำให้ลำไส้สะอาด เป็นผลดีกับการตรวจรังสีแพทย์อ่านผลได้ถูกต้อง

12

ถาม ทำไมต้องงดยา Metformin ก่อนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)

ตอบ Metformin และGlucophage เป็นยารักษาโรคเบาหวานซึ่งเมื่อรับประทานแล้วจะถูกขับออกทางไต สารทึบรังสีที่ฉีดเข้า ทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยเห็นภาพการตรวจที่ชัดเจนจะถูกขับออกทางไตเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีการฉีดสารทึบรังสี และกินยากลุ่มนี้ร่วมกันจะทำให้เพิ่มภาวะการทำงานของไตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อไต การงดยาเบาหวาน 1-2วัน ก่อนและหลังการตรวจจึงเป็นการช่วยยืดอายุการทำงานของไต

13

ถาม การงดยาเบาหวานทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้น ทำอย่างไรดี

ตอบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางคนจะได้รับยาควบคุมเบาหวานหลายชนิด แต่ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ต้องฉีดสารทึบรังสี รังสีแพทย์จะให้ผู้ป่วยงดยาเบาหวานที่อยู่ในกลุ่มของ Metformin เท่านั้น ส่วนยาเบาหวานตัวอื่นๆให้รับประทานได้ตามปกติ เนื่องจากยาเบาหวานอื่นๆนั้น บางตัวไม่ได้ถูกขับออกทางไต ดังนั้นวิธีที่ควบคุมเบาหวานที่ดีที่สุด คือ รับประทานอาหารแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น และเพิ่มการรับประทานผักผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด

14

ถาม กลุ่มยา Metformin มีชื่อว่าอะไรบ้าง

ตอบ Avandamet , Deson , Diamet , Formin , Glizid-M , Gluco-500 , Gluco-850 , Glucolyte , Glucono , Glucophage , Glugemin , Glutabloc , Metformin , Metfor , Metfron , MetforminGPO , Miformin , Pocophage , Poli-formin , Prophage , Serformin , Siamformet , Glucovance , Metaglip , Glucophage-XR

15

ถาม เวลามานัดตรวจลำไส้จะมียาให้รับประทาน 2 ขวด คือยาระบายและยาขวดที่เป็นน้ำสีขาวคล้ายน้ำนม ยาขวดนี้คืออะไร ทำไมต้องรับประทาน

ตอบ ยาขวดสีขาวคล้ายน้ำนม คือยาที่มีส่วนผสมของแบเรียมซัลเฟต ที่ห้องยาน้ำของโรงพยาบาลรามาธิบดีปรุงขึ้นเอง ใช้รับประทานครั้งละ 15ซีซี 3 เวลา หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ยานี้มีประโยชน์คือ จะไปจับกับเศษอุจจาระที่เหลือตกค้างในลำไส้ ในกรณีที่ถ่ายออกไม่หมด ถ้าสิ่งที่พบในลำไส้เป็นก้อนเนื้องอกยานี้จะไปเคลือบที่พื้นผิวของก้อนนั้น แต่ถ้าเป็น เศษอุจจาระยานี้จะแทรกเข้าไปตามก้อนอุจจาระ ทำให้รังสีแพทย์สามารถอ่านผลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วว่าสิ่งที่เห็นเป็นก้อนเนื้องอกหรือเศษอุจจาระที่เหลือตกค้างถ่ายออกไม่หมด

16

ถาม ทำไมจึงให้งดยาแก้ปวด (NSAID)ก่อนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วย

ตอบ ยาแก้ปวด (NSAID)มีหลายชื่อ เช่น Arcoxia, Celebrex,Naprosynยาเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ เช่นเดียวกับMetformin ดังนั้นเหตุผลการงดยาแก้ปวด NSAIDเช่นเดียวกับการงดยาMetformin

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวกิจกรรม
ข่าวทั้งหมด