เมื่อกล่าวถึงไวรัสตับอักเสบแล้ว เราจะทราบกันดีว่า มีทั้ง ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี ซึ่งแต่ละชนิดก็มีการแสดงอาการแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจในไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ เรามาติดตามข้อมูลกันดีกว่า
หากถามว่า ไวรัสตับอักเสบชนิดใดบ้างที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คำตอบก็คือ มีหลากหลายชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี ซึ่งไวรัสทั้ง 3 ชนิด สามารถติดต่อกันได้ตามแต่ชนิดของไวรัส ดังเช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ และ อี สามารถติดต่อได้จากการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ขณะที่ไวรัสตับอักเสบ บี ซี และ ดี สามารถติดต่อกันได้ทางเลือด จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ป่วย การมีเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้
ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ซึ่งพบเฉพาะในไวรัสตับอักเสบบี ซี และ ดี โดยที่ผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีความผิดปกติของผลเลือดที่แสดงการทำงานของตับ ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังอาจไม่แสดงอาการหรือความผิดปกติของการทำงานของตับได้ แต่อาจตรวจพบจากการตรวจแอนติบอดีหรือตรวจพบไวรัส
นอกจากนี้โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บี และซี ยังทำให้เกิดการอักเสบภายในตับได้ ซึ่งนำไปสู่ภาวะตับแข็ง เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มสุราเรื้อรัง ทั้งนี้ ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ดื่มสุราจะเกิดภาวะตับแข็งได้เร็วขึ้น ภาวะตับแข็งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร น้ำในช่องท้อง ความผิดปกติในสมอง ไตวาย และเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งในตับได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า แต่ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี อาจเกิดมะเร็งในตับขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะตับแข็งในระยะท้าย ๆ มีโอกาสที่จะเกิดตับวายหรือมีการทำงานของตับลดลงและมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นได้
ส่วนการรักษาจะแบ่งตามชนิดและระยะของโรค โดยไวรัสตับอักเสบ เอ รักษาตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะหายได้เองเกือบทั้งหมด และคนไทยในวัยผู้ใหญ่ส่วนมากจะมีภูมิป้องกันเชื้อ อันเกิดมาจากการติดเชื้อในวัยเด็กอยู่แล้ว
ไวรัสตับอักเสบ บี หากได้รับเชื้อจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์หรือในวัยเด็ก จะมีการติดเชื้อเรื้อรังได้สูงมากกว่าเมื่อได้รับเชื้อในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งได้เป็นยาฉีดและยารับประทานต้านไวรัส ที่ให้ผลการรักษาและระยะเวลารักษาแตกต่างกันตามชนิดของการรักษา โดยรวมแล้ว โอกาสที่จะหายขาดจากไวรัสตับอักเสบเรื้อรังค่อนข้างมีน้อย ซึ่งการรักษาจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับและชะลอหรือหลีกเลี่ยงภาวะตับแข็งได้
ไวรัสตับอักเสบ ซี หลังจากได้รับเชื้อไวรัสแล้ว พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ป่วย จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ ซี การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรังนั้นจะหายขาดได้มากกว่าการรักษาไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในอดีตแบ่งออกได้เป็น การใช้ยากลุ่มอินเตอร์เฟอรอน ร่วมกับยาต้านไวรัส และยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ในปัจจุบันใช้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานเป็นหลักโดยใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ ผลการรักษาพบว่าหายขาดประมาณร้อยละ 90 ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรังที่เข้าเกณฑ์การรักษาสามารถเบิกได้ตามสิทธิการรักษาทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ