สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน @Rama ทุกท่าน .. มีคนเคยถามผู้เขียนว่าหากเราอยาก “ปล่อยวาง” ต้องทำอย่างไร? ด้วยอาจมีคนเห็นว่าผู้เขียนดูไม่ค่อยโกรธใคร หรือโมโหโทโสใครสักเท่าไร เอาจริง ๆ ธรรมะข้อนี้เป็นธรรมะที่ทำได้ยากมาก ๆ ผู้เขียนเองก็ยังไม่สามารถปล่อยวางได้ทุกเรื่อง แต่พอจะแบ่งปันประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเทคนิคที่ตัวเองได้ฝึกใช้ธรรมะเพื่อการปล่อยวางให้กับผู้อ่านได้อยู่บ้าง .. หากมีข้อเสนอแนะที่ดีกว่าหรือเทคนิคที่ดีกว่า ผู้เขียนยินดีรับฟังนะคะ ส่งความคิดเห็นกันเข้ามาได้เลยค่ะ
“ความทุกข์” ทำให้ “ใจ” เราหนัก บางคนหนักถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับเลยทีเดียว หากเป็นนาน ๆ เข้าก็ถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ คราวนี้จากเรื่องเล็ก ๆ พาลกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเลยก็มี การจะปล่อยวางได้ เราต้องรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์กันก่อน ทีนี้เรามาดูต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์กันนะคะ
ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งจากทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางกายนั้นเกิดได้ในทุกคน เช่น ทุกข์จากการเจ็บป่วย ไม่สบายตัว ปวดหัว ปวดท้อง มีไข้ เป็นต้น หากหมอหาสาเหตุและรักษาได้ ทุกข์นี้อยู่ไม่นานก็หายไป แต่หากหาสาเหตุไม่ได้ หรือเป็นโรคร้ายแรงหรือเรื้อรัง ทุกข์นี้ก็อยู่กันยาวนานจนเสียชีวิตไปเลยก็มี นอกจากการเจ็บป่วยแล้ว ทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือทุกข์จากการชราภาพ เดิมจากคนหนุ่มสาว หน้าตาสดใส กลายเป็นคนสูงอายุ หน้าตาเหี่ยวย่น หูไม่ค่อยได้ยิน ตามองไม่ค่อยเห็น เดินเหินไม่คล่องเหมือนตอนเช่นยังหนุ่มสาว หากเรายึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอก หน้าตาที่เคยสวย เคยหล่อ ได้หายไป อันนี้เป็นทุกข์ของใครอีกหลายคนเช่นกัน แต่หากเราเข้าใจว่าทุกสิ่งย่อมไม่เที่ยง แม้กระทั่งสังขาร คนเราเกิดมาต้องมีเจ็บ มีแก่ และตายด้วยกันทุกคน หลีกหนีไม่พ้น เราก็จะเข้าใจและคลายความทุกข์ของสาเหตุในข้อนี้ไปได้
ทุกข์ที่คนส่วนมากประสบพบเจอและแก้ได้ค่อนข้างยาก คือ ทุกข์ทางใจ อันเกิดเนื่องมาจาก อกุศลมูล 3 ประการ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ นั่นเอง กล่าวง่าย ๆ โลภะ คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น โทสะ คือ ความโกรธ ความโมโห ความเกลียดชัง ความพยาบาท โมหะ คือ ความหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด ความประมาท หลงยึดมั่นถือมั่น หลงงมงาย มัวเมา ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หากยกตัวอย่างทุกข์จากโลภะ ได้แก่ ทุกข์ที่อยากได้สิ่งสิ่งนั้นมาเป็นของเรา ทุกข์เพราะกลัวจะไม่ได้มา หรือทุกข์เพราะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา ทุกข์เพราะโทสะ คือ ความโกรธนั่นเอง เมื่อมีเรื่องมากระทบจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจเรา ขัดใจเรา ไม่พอใจเรา เรื่องคับแค้นใจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็นำใจเราไปสู่ความโกรธได้ในที่สุด ทำให้ใจเราร้อนรุ่ม บางทีโกรธมาก ร้อนตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยก็มี ส่วนทุกข์เพราะความหลงหรือความไม่รู้ตัวนั้นสามารถทำให้เกิดโลภะและโทสะเพิ่มมากขึ้นได้อีก เช่น หลงยึดว่าเขาเป็นของเรา หลงยึดในตำแหน่งหน้าที่ หลงยึดว่าเราเป็นนายเขา เป็นผู้มีพระคุณเขา เมื่อเราไม่ได้สิ่งที่เราหลงก็จะเกิดความทุกข์เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่เรามักหลงยึดในบุคคลที่เรารักหรือของที่เรารัก เมื่อใดก็ตามที่เกิดความพลัดพรากหรือสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป ความทุกข์ก็เข้าครอบงำทันที หลงอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเราอยู่บ่อย ๆ คือ หลงในอดีต และอนาคต บางคนยึดติดกับเรื่องราวในอดีต ทั้งเรื่องที่เจ็บปวด พลอยทำให้โมโหทุกครั้งที่นึกถึง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นได้ผ่านไปนานแล้ว หรือแม้แต่เรื่องราวดี ๆ ที่ผ่านไปแล้วในอดีต หวนให้คิดถึงและนำพาไปสู่ใจที่หมองเศร้า ส่วนเรื่องราวในอนาคตที่ยังไม่เกิด ก็ทำให้เรากังวลและคอยปรุงแต่งต่าง ๆ นานา กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
เมื่อกล่าวถึงสาเหตุของทุกข์ที่เกิดได้จากสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นแล้วนั้น ทีนี้หากเราจะปล่อยวางทุกข์เหล่านี้ได้นั้น เราควรทำอย่างไร? มีหลายคนเข้าใจความหมายของคำว่า “ปล่อยวาง” ผิด คิดว่าการปล่อยวางคือการทำใจให้ว่าง แต่จริง ๆ แล้ว การปล่อยวางที่ทำได้สำเร็จนั้น ต้องใช้ปัญญา ไม่ใช่แค่ทำให้ใจว่าง ดังนั้นเราต้องเข้าใจสาเหตุของทุกข์และหาวิธีดับทุกข์ให้ได้เสียก่อน โดยใช้หลักของอริยสัจ 4 ได้แก่
ทุกข์ (สิ่งบีบคั้น ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ) เราต้องกำหนดรู้ว่าทุกข์คืออะไร
สมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) เมื่อรู้ถึงสาเหตุแล้วจะต้องละ เพื่อไม่ให้เหตุนั้น ๆ เกิดขึ้นอีก
นิโรธ (ความดับทุกข์ รวมถึงหลักการและกระบวนการดับทุกข์) ต้องทำให้แจ้ง ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้
มรรค (ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากทุกข์) จะต้องลงมือทำ เพื่อให้ทุกข์หมดไป
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจะขอยกเป็นตัวอย่างง่าย ๆ สัก 2 ตัวอย่างนะคะ
กรณีที่ 1 เราทุกข์ใจ เพราะมีคนว่าเรา นินทาเรา ทำไม่ดีกับเรา ทำให้เกิดโทสะ เมื่อเรารู้แล้วว่าเราทุกข์เรื่องอะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ขัดใจเรา สิ่งที่เขาว่ากระทบกับตัวเรา ซึ่งมีตัวตน กระบวนการดับทุกข์ คือ เลิกเอาใจไปผูกกับคำพูดของคนอื่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เวลาคนอื่นว่าหรือนินทาก็จะไม่กระทบกับจิตใจเรามากนัก การปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากทุกข์ได้ คือ ต้องฝึกใจให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยคำนินทาให้ลอยผ่านไป ไม่เอามาเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้ว่าตัวฉัน ซึ่งเป็นของฉัน เราไม่สามารถเปลี่ยนคำพูดหรือความคิดคนอื่นได้ แต่เราเปลี่ยนที่ใจเราได้ ถึงแม้คนจะว่าเรา ถ้าเราไม่รับมา เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะคำพูดเหล่านั้น ทุกข์นั้นก็จะตกอยู่ที่คนพูดเอง
กรณีที่ 2 เราทุกข์ใจ เพราะโดนคนรักบอกเลิก สาเหตุของทุกข์คือเราพลัดพรากจากคนที่เรารัก เรายึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา กระบวนการดับทุกข์ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ไม่มีอะไรคงอยู่กับเราได้ตลอดไป มีพบก็ย่อมมีจาก ดังนั้นหากเราเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ดีแล้ว เราก็จะปล่อยวางได้ดียิ่งขึ้น แต่การปล่อยวางจะสำเร็จได้ ต้องอาศัย “สติ” ด้วย เพราะมี “สติ” “ปัญญา” จึงจะเกิด คนที่เพิ่งอกหักส่วนมากจะยังมีอารมณ์เป็นที่ตั้ง สติจะยังไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ปัญญาเลยยังไม่มา มักจะวนเวียนแต่เรื่องในอดีต เรื่องเก่า ๆ หรือหวังให้คนรักกลับมาคืนดี หรือไม่ก็พาลโทสะ ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนรอบข้างไปเลยก็มี
การทำให้จิตสงบ มีสมาธิ ด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน ประกอบกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นการเจริญปัญญา ให้รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีการตั้งอยู่และดับไป จึงเป็นหลักธรรมคำสอนสำคัญที่เราควรฝึกปฏิบัติกันไว้ เมื่อใดความทุกข์มาเยือน เราจะได้ “ปล่อยวาง” ได้อย่างไม่ยากเย็น