ฉบับที่ 35

สวัสดีคุณผู้อ่านนิตยสาร @Rama ทุกท่านครับ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงใยสุขภาพของท่านในช่วงรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการแพร่ระบาดสำคัญของเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคไวรัสโคโรนา COVID-19 ผลกระทบจากทั้งสองเรื่องได้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง รวมถึงข้อมูลในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

ในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีพันธกิจสำคัญในการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชน เรามีความห่วงใยทุกท่านในการดูแลตนเองทั้งในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย และการป้องกันเพื่อรับมือโรคไวรัสโคโรนา COVID-19

ซึ่งท่านสามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ ในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากสถานการณ์ของโรคได้ทางสถานีโทรทัศน์รามาฯ แชนแนล และนิตยสาร @Rama ได้ทุกช่องทาง ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพและปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ ครับ

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

นิตยสาร @Rama : ป้องกันโรคไวรัส COVID-19
บทบรรณาธิการ: 

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า นี่คงเป็นฉบับสุดท้ายที่เป็นบรรณาธิการแล้วนะคะ จะขอลาท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ เล่มนี้เลย อยู่กับ @Rama ตั้งแต่ฉบับที่ 1 มีนาคม 2555 จนถึงฉบับที่ 35 ในปี 2563 @Rama เปรียบเสมือนลูกที่คอยประคับประคอง ดูเขาค่อย ๆ เติบโต และก็ถึงเวลาที่ต้องส่งต่อแล้วนะคะ ผู้ที่จะมารับหน้าที่บรรณาธิการท่านใหม่ คือ ผศ. พญ.จริยา ไวศยารัทธ์ ซึ่งการันตีได้ว่าท่านผู้อ่านจะได้ทั้งสาระและความบันเทิงเช่นเดิมค่ะ

ฉบับนี้มาเริ่มต้นกันกับเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เป็นตัวปัญหาทำให้ผู้คนตื่นตระหนกกันมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่ไม่มีฝนตก วันไหนท้องฟ้าขมุกขมัว วันนั้นก็เป็นวันของ PM 2.5 นี้แหล่ะค่ะ ผ่านพ้น PM 2.5 ก็มาเจอกับไวรัสโคโรนา COVID-19 ที่ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้ประชาชนประหวั่นพรั่นพรึงไม่แพ้เจ้า PM 2.5 เลยค่ะ ที่ผ่านมาเราพบว่าประชาชนยังใช้หน้ากากอนามัยอย่างผิดวิธีกันอยู่ซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อได้แม้ใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นในฉบับนี้เราจะมาสอนวิธีการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีกันนะคะ ใส่หน้ากากอนามัยแล้วอย่าลืม ล้างมือบ่อย ๆ กินของร้อน และใช้ช้อนกลาง ด้วยนะคะ

เรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพฉบับนี้ จะว่าด้วยเรื่องการกินไข่อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากกว่าโทษนะคะ ติดตามได้ในคอลัมน์ Believe it or not? ในหัวข้อ “กินไข่วันละฟองได้จริงหรือไม่” ตามด้วยคอลัมน์ใน Health station ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กังวลกันทั่วทั้งโลกอย่าง โรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ลองติดตามกันดูว่าเราจะมีวิธีรับมือกันอย่างไร ส่วนคอลัมน์ Beauty-Full เป็นเรื่องใกล้ตัวเลยค่ะ คอลัมน์นี้ได้แนะนำเรื่อง “ทำอย่างไรหากสงสัยว่าแพ้เครื่องสำอาง” พลาดไม่ได้เลยนะคะ ต่อด้วยคอลัมน์ RDU ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับ “วัคซีนไข้เลือดออก” ซึ่งกำลังเป็นวัคซีนที่มีคนสนใจและซักถามกันอย่างมากค่ะ

สุดท้ายนี้ขอแนะนำหลักสูตรใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้นะคะ นั่นคือหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ค่ะ หลายคนดูซีรี่ส์ “รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน (My Ambulance)” ที่มาถ่ายทำที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กันแล้ว มีคนสนใจและอยากเรียนหลักสูตรนี้มากเลยค่ะ หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถติดตามได้ในคอลัมน์ Education Talk นะคะ

ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามและสนับสนุนกันมาโดยตลอดนะคะ @Rama วางแผนจะเพิ่มช่องทางการติดตามและ update ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าถึงสาระดีดีแบบนี้ได้ทันท่วงทีนะคะ ส่วนรายละเอียดจะแจ้งใน @Rama ฉบับหน้าค่ะ

เนื้อหาภายในฉบับที่ 35