เมื่อ..ข้อเข่า..เสื่อม
..โรคข้อเข่าเสื่อม..น่ะสิ
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่สําคัญ ซึ่งพบมากในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาจทําให้มีความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ปฏิบัติกิจวัตรประจําวันต่างๆ ไม่สะดวก มีความทุกข์ทรมาน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้างการทํางานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลําดับ
ข้อเข่าเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะการเกิดคือ
- ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือ ไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ ของผิวกระดูกอ่อนตามวัย ซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัว เพศหญิง และกรรมพันธุ์
- ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า จากการทํางานหรือเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
อาการแสดงในระยะแรก
เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัดโดยเฉพาะเมื่อมีการหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อเริ่มขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทําให้เดินและใช้ชีวิตประจําวันลําบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
การวินิจฉัย
สามารถทําได้จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยแพทย์ ร่วมกับภาพถ่ายรังสีซึ่งสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมสามารถทําได้ดังนี้
- การปรับอิริยาบถในชีวิตประจําวัน เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดโดยไม่จําเป็น หรือ การยกหรือแบกของหนักๆ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรง ในระยะที่มีอาการปวดควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น วิ่ง หรือเล่นเทนนิส การออกกําลังกายที่แนะนํา ได้แก่ ว่ายน้ำ เดิน เป็นต้น
- การใช้ยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม เพื่อลดอาการปวดและอักเสบภายในข้อ ได้แก่ ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาพยุงหรือลดความเสื่อม เป็นต้น ซึ่งการรับยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อนั้น สามารถลดอาการปวดในช่วงสั้นๆ 2-3 สัปดาห์ ต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ แต่ไม่ควรฉีดประจํา เนื่องจากจะทําลายกระดูกอ่อนข้อต่อได้
- การรักษาโดยการผ่าตัด มีวิธีการผ่าตัดชนิดต่างๆ เช่น การส่องกล้องภายในเข่า เพื่อตรวจสภาพและล้างภายในข้อ ใช้ในกรณีที่มีเศษกระดูกอ่อนมาขวางการเคลื่อนไหวของเข่าและเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก การผ่าตัดปรับแนวข้อ ทําในกรณีที่มีการผิดรูปของข้อ โดยแก้ไขแนวแรงให้กระจายไปยังจุดที่ผิวข้อยังดีอยู่ และการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม ในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรง ที่ให้ผลการรักษาดีที่สุดคือ ทําให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายหลังผ่าตัด สําหรับประเทศไทยมีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมานานกว่า 40 ปีแล้ว และในปัจจุบันโรงพยาบาลรามาธิบดีมีการผ่าตัดชนิดนี้ประมาณ 30-40 รายต่อเดือน ซึ่งข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมคือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวด ซึ่งส่งผลต่อการทํากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจําวันของผู้ป่วย และได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการทําากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจําวัน ทั้งการเดิน วิ่ง ยกของหนัก การรับประทานอาหารที่มีผลต่อน้ำหนักตัว รวมทั้งการปรับรูปแบบการออกกําลังกายที่เน้นเฉพาะส่วน ซึ่งจะเกิดผลดีกับข้อเข่า เป็นการถนอมข้อเข่าให้มีไว้ใช้งานได้นานขึ้น
ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ สามารถมาพบแพทย์ได้ที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอกออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี