รอยสัก

รอยสัก (TATTOO)
 
นพ.สมศักดิ์ ตันรัตนากร
 
        "การสัก" ในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 788 คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน, ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึกเรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า สักน้ำมัน (โบ) ทำเครื่องหมายสักเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น "สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือมีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปราชิก เป็นต้น"
        การสักและความนิยมในการสักมีขึ้นในหมู่มนุษยชาติต่างๆ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี      หลักฐานที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้จากกองประวัติศาสตร์ ยก.ท.ร. (2528 : 37) คือการขุดพบศพของกษัตริย์  อียิปต์ ในลักษณะของมัมมี่ บนร่างกายของศพมีการสักสลับสีอย่างงดงาม แสดงว่าการสักมีขึ้นในมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์    ประเทิน  มหาขันธ์ (2534 : 25) ได้ให้ความคิดเห็นว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากเชื่อเกี่ยวกับการสักว่า เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อโลกมีมนุษย์เพียงสองคน คือ อีฟ หรืออีวา กับ   อะดัม มีการตกแต่งร่างกายด้วยใบไม้และสีเขียว เพราะมีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องเพศ จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก มิตรภาพ ความรู้สึกและความสวยงาม     ยุธิษเฐียร (2501 : 25) กล่าวว่า “...คำว่า  Tattoo  ซึ่งแปลว่ารอยสัก มาจากศัพท์ว่า  Tatan  เป็นภาษาตาฮิติแปลว่ารอยสัก   จึงสันนิษฐานได้ว่า ชาวตะวันตกรู้จักการสักมาจากชาวตาฮิเตียนซึ่งเป็นชาวเกาะ    ในยุคที่ชาวตะวันตกออกเดินเรือไปยังที่ต่างๆ เมื่อสมัยศตวรรษที่ 15-16 นี้เอง...”     ในยุคประวัติศาสตร์      กลุ่มชนชาวบริตัน กอลส์ เยอรมันและกรีก ชาวยุโรปสมัยโบราณต่างนิยมประเพณีการสักด้วยกันทั้งนั้น     เฮโรโดตุส  (Herodotus) นักปราชญ์ชาวกรีก ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์            ได้บันทึกไว้ว่า พวกจารบุรุษในสมัยโบราณ เมื่อเข้าสืบความลับที่มีความสำคัญที่สุดของฝ่ายศัตรูได้แล้ว จะโกนศีรษะแล้วสักข้อความอันเป็นความลับนั้นลงที่กลางศีรษะแล้วทิ้งให้ผมยาวดังเดิม       จึงลอบกลับไปหาพวกของตน    การสักจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้จารบุรุษนำความลับผ่านแนวข้าศึกศัตรูได้อย่างสะดวก    ญี่ปุ่นนับได้ว่ามีฝีมือในการสัก แต่เนื่องจากญี่ปุ่นปิดประเทศ ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศแล้วฝีมือการสักของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก   ในคริสต์ศักราช 787 มีข้อห้ามมิให้คริสต์ศาสนิกชนในยุโรปทำการสักอย่างเด็ดขาด    โดยอ้างว่าการสักทำให้ร่างกายมัวหมองมีราคี   ปราศจากความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ไม่พึงประสงค์ของพระเจ้าเป็นยุคที่การสักในยุโรปซบเซาตั้งแต่นั้นมา   ในศตวรรษที่ 15-16 นักเดินเรือนำความรู้เกี่ยวกับการสักมาเผยแพร่อีกครั้ง    จนศตวรรษที่ 19 การสักเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในหมู่คนสามัญทั่วไปและขุนนาง คนชั้นสูง รวมถึงพระเจ้า  เอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษก็นิยมการสักเป็นอย่างยิ่งทำให้มีผู้นิยมตาม จนมีร้านสักที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ร้านแฮมแมนในกรุงลอนดอน
 
การสักในประเทศไทย
        การสักลวดลายบนผิวหนัง หรือที่เรียกว่า สักลาย หรือ สักยันต์ เป็นวัฒธรรม อย่างหนึ่งของไทยที่มีมา ช้านาน แต่ทุกวันนี้ ลายสัก หรือ สักยันต์ ตามความเชื่ออย่างโบราณแทบจะไม่มีแล้ว จะมีเพื่อความสวยงามเป็นการตกแต่งเสริมความงามให้กับร่างกายบ้างแต่ไม่มากนักเรื่องราวของลายสักของคนไทย เป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าเรื่องหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะไม่มีใคร สนใจใคร่ศึกษามากนัก ทั้ง ๆที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งและนับวันจะสูญหายไป
        การสักลายหรือลายสักของไทย ประเพณีการสักนั้นมีไม่แพร่หลาย บางหมู่บ้านจะพบว่า ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่มักมีลายสักที่หน้าอก และแผ่นหลังตามสมัยนิยม ในขณะที่ผู้ชำนาญในการสักของท้องถิ่นแสดงความสามารถที่สืบทอดมาอย่างเต็มที่ผู้ที่ทำหน้าที่สักมีทั้งพระสงฆ์และคนธรรมดา
        สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสักไม่ได้รับความสนใจเหมือนอดีต คือชาวเมืองและรวมถึงผู้คนทั่วไปมองว่า ผู้ที่มีลายสักเป็นคนชั้นต่ำ เป็นนักเลง ความคิดเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกที่มองผู้ที่มีลายสักว่าส่วนใหญ่มักเป็นกลาสีขี้เมา หรือคนจรจัด คนเมืองจึงเกิดความรู้สึกว่าลายสักเป็นวัฒนธรรม ของคนบ้านนอก คนไม่มีการศึกษา ทัศนคติเช่นนี้มิได้มีแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้นแต่แพร่ไปสู่เมืองอื่นๆ ด้วย โดยคิดว่า การสักลายเป็นเรื่องของคนจน กรรมกร และคนบ้านนอก ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องลายสัก จึงกระทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะคนที่มีลายสักมักจะปกปิดลายสักไว้อย่างมิดชิด ผู้ที่จะให้ข้อมูลและเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสักจะเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจของศิลปะโบราณนี้เท่านั้นการศึกษาค้นคว้าศิลปะชาวบ้านประเภทนี้ ควรจะได้รับการศึกษาบันทึก เกี่ยวกับการออกแบบ กรรมวิธีและพิธีกรรม ศึกษาเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มชน ศึกษาค่านิยมและความเปลี่ยนแปลง ศึกษา 
        การสักที่สืบทอดมาแต่โบราณ การสักมีรูปแบบที่แตกต่างกันอยู่ ๒ รูป แบบคือลายสักที่สืบทอดกันมาแแต่โบราณและ ลายสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ แต่ละรูปแบบจะมี
วิวัฒนาการตามแบบฉบับของมันและแสดงให้เห็นรูปแบบของธรรมเนียมในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแต่ละแง่แต่ละมุม ลายสักที่สืบทอดกันมาในสังคมไทยในอดีตนักประวัติศาสตร์ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตแบบไทย ๆ คงจะทราบความจริง ว่าข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย และอาจะเดาได้ว่าการสักเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งส่วนราชการของไทย หรือการสักเป็นไปตามการแบ่งส่วนราชการ การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑ )
        การสักของไทยเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานทางด้านวัตถุและจารึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องของการสักจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติอื่นในบริเวณใกล้เคียง   เจียงอิ้งเหลียง (2532 : 93) “... ชาวจีน และชนชาวเผ่าโบราณนิยมการสักทั้งหญิงและชาย โดยในมณฑลยูนานจะสักจากหัวเข่าลงไปถึงน่อง หญิงสาวจะสักหน้าเป็นเครื่องประดับ ผู้ที่ไม่สักจะถูกชาวเมืองหัวเราะเยาะ...”  สายสม  ธรรมธิ (2538 : 10) กล่าวถึง “...การสักกับชาวไทยใหญ่ จะสักยันต์ลงบนร่างกายมีผลทางด้าน คงกระพันชาตรี สามารถป้องกันอันตรายจากศัตราวุธและของมีคมต่าง ๆ ได้...”      การสักที่ชาวไทใหญ่นิยมได้แก่
                1. สักยาข่าม (คงกระพัน) หรือสักก่ายะ มีการสักเป็นรูปต่างๆ รูปเสือ แมวดำ, หมูเขี้ยวตัน,   วัวกระทิง, รูปยันต์และอักขระคาถา
                2. สักยามหานิยม (ปิยะ) เพื่อให้มีสิริมงคล ทำมาค้าขายเจริญ นิยมสักเป็นรูปอักขระคาถา รูปยันต์ รูปนกยูง กระต่าย จิ้งจกสองหาง ผู้รับการสักต้องรักษาศีล ห้ามประพฤติผิดศีลห้า
                3. สักขาลาย (สับขาลาย) สักเพื่อแสดงความอดทนเข้มแข็ง เอกลักษณ์ของลูกผู้ชาย จะสักตั้งแต่เอวช่วงล่างลงมาถึงขาลวดลายเป็นเส้นหนาทึบ
                4. สักข่ามเขี้ยว (สับข่ามพิษ) โดยมากจะสักที่น่องไปจนถึงข้อเท้า เพื่อป้องกันพิษจากสัตว์ เช่น สุนัข งู ตะขาบ แมลงป่อง และผึ้ง มักสักเป็นรูป แมว เสือ และตัวอักขระคาถา
                ประเทิน  มหาขันธ์ (2534 : 65-76) ได้กล่าวไว้ว่า 
        ...สมัยก่อนลาวพุงดำ  ได้แก่  พวกลานนา  พวกที่มาจากรัฐฉาน นิยมสักยันต์เต็มตัว ดำบ้าง แดงบ้าง เหลือเฉพาะหน้าผาก  ชาวพม่าจะสักลายกันเต็มตัวถือว่าการสักลายเป็นยอดของความนิยม พวกมอญ พม่า  หรือเขมรนิยมสักเป็นรูปขอม ซึ่งได้แก่    กาฬราชสีห์   หรือราชสีห์ดำ เป็นลายม้าม ลายมอม ลายกนก  คนไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมการสักว่าเพื่อความสวยงามเรียกว่า การสักขาลาย มีความมุ่งหมายเพื่อให้มีเสน่ห์ เป็นที่สนใจของสตรีเพศ ผู้ไม่มีลายสักถือว่าเป็นคน  ต่ำต้อย เรียกว่า  ขาขาว ซึ่งไม่เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม... ("ขากบขาเขียดยังลาย ขาคนชายบ่ลายบ่เอาเป็นผัว")
 
        กองประวัติศาสตร์ ยก.ทร. (2538 : 27) กล่าวถึง เกี่ยวกับราชการทหาร คือการสักข้อมือ     ซึ่งแสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์มีสังกัดกรมกองแล้ว เริ่มการสักของกรมทหารเรือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2434   เพื่อแสดงหมู่เหล่าหรือสังกัดของทหารผู้นั้น ต่อมาได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5  เมื่อมีการควบคุมทางด้านสำมะโนครัวแล้ว การสักในเมืองไทยนิยมทางด้านไสยศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ทั้งที่สักกันเองหรือพระเป็นผู้สักให้   การสักเป็นรูปหนุมาน   รูปเสือ  รูปใบลาน สักยันต์เชื่อว่าทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี  หนังเหนียวแทงไม่เข้า ยิงไม่ออก ผู้สักรูปหนุมาน สามารถปีนป่าย เหินหาวได้อย่างแคล่วคล่อง  สักรูปเสือทำให้มีความดุดันเหี้ยมโหด   ผู้ที่สักเหล่านี้พระท่านเรียกว่า “อวิชชา” บางพวกสักเพราะความคึกคะนองของวัยรุ่นจะสักรูปหัวใจ รูปกามเทพแผลงศร   รูปผู้หญิงเปลือย   ในพวกแก๊งมาเฟีย  นักเรียนที่เข้ากลุ่มคึกคะนอง   กลุ่มอันธพาล อาจสักเป็นสัญลักษณ์ที่เหมือนกัน เช่น ดาวกระจาย  เปลวไฟ   การสักลายเป็นรูปรอยต่างๆ มีความหมายของการสักแตกต่างกัน
 
จำแนกการสักตามความมุ่งหมายได้คือ
                 1. การสักเพื่อแสดงความรักชาติ  โดยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงโปรดสักคำว่า  “ร.ศ. 112 และตราด” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเมื่อชาติไทยถูกอินโดจีน ฝรั่งเศสรุกราน และทหารเรือในยุคนั้นได้สักข้อความนี้ไว้ทุกคน
        อักษรจีน 4 ตัวที่เห็นในภาพแปลว่า " ตอบแทนชาติด้วยความซื่อสัตย์ " เป็นตัวอักษรที่ถูกสักอยู่ที่หลังของ งักฮุย ซึ่งเป็นแม่ทัพของจีนที่นำทัพเข้าต่อต้านกองทัพมองโกลในสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นรอยสักที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ชาติจีน
 
 
                 2. การสักเพื่อแสดงถึงการเริ่มต้น เป็นการสักเพื่อแสดงความเปลี่ยนภาวะของวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เป็นพิธีกรรมทางสังคม เช่นเดียวกับการโกนจุก การเข้าสุหนัต การสักแสดงถึงความเข้มแข็งพอที่จะทนต่อความเจ็บปวดได้ ย่อมบรรลุความเป็นผู้ใหญ่
                3. การสักตามประเพณี เป็นการสักตามประเพณีหรือความเชื่อถือที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ชาวเมารี (Maori) ในประเทศนิวซีแลนด์ และชาวไอนุ (Ainus) ของญี่ปุ่น เชื่อว่าการสักจะช่วยรักษาความหนุ่มสาว ความกระฉับกระเฉงให้คงอยู่เป็นเวลานาน หญิงชาวอาหรับมีประเพณีการสัก หน้าท้อง เพื่อให้ชายที่มาเป็นสามีทราบว่าเธอสามารถมีบุตรได้
                  4. การสักเพื่อแสดงเอกลักษณ์  ในพวกที่แยกตัวออกจากกลุ่มชอบทำอะไรแปลกไปจากผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางชั่ว ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่เหมือนผู้อื่นจะทำทันที ผู้ที่มีปัญหาต้องการแยกตัวออกจากกลุ่ม ส่วนมากเป็นผู้ที่ไม่มีญาติ ไม่มีครอบครัว ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว การสักเป็นเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยว มักจะสักข้อความเช่น รักแท้คือแม่เรา, โลกนี้มีข้าคนเดียว, คิดให้ซึ้งที่พึ่งคือตัวเรา   บางเผ่ามีความเชื่อว่ารอยสักชาตินี้จะจารึกเอกลักษณ์ประจำตัวให้ปรากฎในชาติหน้าได้
                  5. การสักเพื่อแสดงความเป็นสมาชิกกลุ่ม  เป็นการสร้างเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของกลุ่มโดยสักเครื่องหมายบนตำแหน่งที่กำหนดของร่างกาย สมาชิกกลุ่มเมื่อเห็นเครื่องหมายเหมือนกันจะต้องให้ความช่วยเหลือไม่ทำร้ายกัน และต้องจงรักภักดีต่อกลุ่มไม่ทรยศ  เช่น แก๊งยากูซ่า คณะเก้ายอด   คณะลักกัก   แก๊งอินทรีขาว   แก๊งโพดำ
                  6. การสักเพื่อแสดงหมู่กองที่ไพร่สังกัด  มีการสักที่ข้อมือเพื่อบอกหมู่กองที่สังกัด ถ้าไม่มีรอยสักเรียกว่าพวกแขนขาว เป็นไพร่ที่ไม่มีสังกัด เมื่อเกิดคดีความฟ้องร้องกันขึ้นจะไม่มีผู้ใดรับรอง คนที่เข้ารับราชการกองประจำการต้องสักขึ้นทะเบียนที่ข้าหลวงกลาโหมประจำเมืองนั้น
                 7. การสักเพื่อประจานความผิด ในสมัยโบราณผู้ที่กระทำความผิดจะถูกสัก เพื่อเป็นการประกาศให้ผู้ได้พบเห็น ไม่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และไม่คบค้าสมาคม ในสมัยรัชการที่ 4 มีการสักหน้าผากของผู้ที่กระทำความผิด
                  8. การสักเพื่อความสวยงาม  ในทรรศนะของการสักถือเสมือนเป็นเครื่องประดับร่างกายมีความสวยงาม สร้างความภูมิใจ ความพอใจ การเพื่อความสวยงามเป็นที่นิยมของชาวยุโรป    พระเจ้าเฟรเดริกแห่งเดนมาร์ก ทรงสักรูปมังกรสลับสีสองตัวที่พระอุระ ส่วนพระบาททั้งสองข้างทรงสักรูปมังกรใหญ่จอมพลมอนเตโกเมรี่ ชาวฝรั่งเศส สักรูปผีเสื้ออันสวยงามไว้ที่แขนขวา เลดี้  แรนดอล์ป เชอร์ชิล มารดาของท่านเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษสักรูปงูพันไว้ที่แขนระหว่างข้อศอกถึงข้อมือ การสักเพื่อความสวยงามในปัจจุบันที่นิยมมากคือการสักคิ้วถาวร    การเขียนขอบตาถาวร
                9. การสักเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกมั่นคงได้รับความปลอดภัย รอยสักมีอำนาจในการคุ้มครองป้องกันอันตรายต่างๆ ช่วยให้เกิดความนิยมชมชอบ ให้ได้รับสิ่งที่พึ่งประสงค์
                 10. การสักเพื่อสร้างอำนาจให้แก่ตนและข่มขวัญผู้อื่น การสักประเภทนี้มิได้มุ่งในแง่ความขลัง แต่มุ่งหมายให้เป็นที่ยำเกรงแก่ผู้พบเห็น เช่น รูปเสือเผ่นหรือเสือโผน  รูปมังกร   รูปนกอินทรีย์   รูปเทวดา   รูปพระนารายณ์ รูปหนุมาน   การสักข้อความ เช่น  เพชฌฆาตโหด  เป็นชาย  อย่าหมิ่นชาย   มังกรดำ
                 11. การสักเนื่องจากสภาพจิตที่วิปริต สภาพจิตของผู้สักส่งผลไปถึงรูปรอยของการสัก เช่น ผู้ที่มีความคิดจิตวิตถาร (Pervert) ผู้มีนิสัยสัปดน (Onaniat) ผู้นิยมกามวิตถาร (Homosexual)  ผู้นิยมซาดิสม์ (Sadism) ส่วนมากจะสักเป็นภาพลามก รอยสักในอาชญากร จะเป็นภาพแสดงถึงความแค้น ความเสียใจ ความดุร้ายเหี้ยมโหด ความอุจาดลามก
                 12. การสักเพื่อเตือนความจำ รอยสักที่ติดอยู่บนผิวหนังจะปรากฏให้เห็นได้ตลอดเวลา  ดังนั้น เพื่อไม่ให้ลืมสิ่งที่บุคคลต้องการจดจำ จึงใช้การสักข้อความที่ช่วยเตือนความจำให้ ระลึกถึง สิ่งที่ต้องการจดจำไว้ตลอดไป เช่น คำว่า “พ่อ” “แม่” “เจ็บแล้วต้องจำ”
                ในปัจจุบันรอยสักที่นิยมสักกันอย่างแพร่หลาย คือลวดลายสักที่สวยงามเพื่อตกแต่งร่างกายหรือเพื่อผลทางใจ  ( คือลวดลายที่ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจหรือผูกมัดต่อรูปนั้นๆ )และรอยสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์    แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสักเพื่อผลทางไสยศาสตร์แทบทั้งสิ้น   การสักเพื่อรักษาโรคมีน้อย  นอกจากการสักที่ใช้ปกปิดรอยแผลเป็น หรือรอยด่างของผิวหนังหรือการสักคิ้วถาวร  เขียนขอบตาถาวร เป็นการรักษาทางด้านจิตใจเพื่อความสวยงาม  สำหรับการสักเพื่อแสดงสังกัด  ทางราชการได้ประกาศยกเลิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2475
 
สรุป  การสักมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการคือ
            1. การสักเพื่อความสวยงาม  ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เป็นการสักเฉพาะรูปเฉยๆ ไม่มีการลงหัวใจของลาย หรือลงอักขระกำกับลวดลายสักจึงขึ้นอยู่กับความต้องการหรือรสนิยมของผู้สัก เช่น รูปผีเสื้อ  ดอกไม้  หัวใจ  ไม้กางเขน  รูปผู้หญิงเปลือย  รูปศิลปะต่างๆ  ช่างสักมักจะเป็นผู้มีความถนัดเชิงศิลปหรือมีความสามารถทางการวาดภาพ
             2. การสักเพื่อผลทางไสยศาสตร์  การสักประเภทนี้เป็นคติความเชื่อทางไสยศาสตร์  จึงต้องสักโดยครู  อาจารย์ที่มีวิชาอาคมศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเท่านั้น  ช่างสักส่วนใหญ่จึงเป็นพระภิกษุหรือเกจิอาจารย์  การสักเพื่อผลทางไสยศาสตร์มี 2 ชนิด คือ เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีให้แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ  อันตราย  ของมีคมทั้งปวง  ถ้าต้องการรอยสักที่มีผลทางเมตตามหานิยม  มักจะสักเป็นรูปจิ้งจก  นกสาลิกา  ลายสักที่มีผลทางคงกระพันชาตรี  จะนิยมสักลายเสือเผ่น  หนุมาน  หงส์  มังกร  ลายสิงห์  ยันต์เก้ายอด  ยันต์เกราะเพชร  หรือลายยันต์  ชนิดต่างๆ  เมื่อลงรอยสักแล้วจะต้องมีอาจารย์สักทำพิธีปลุกเสกกำกับลวดลายสักเหล่านั้นด้วย
            ส่วนกลุ่มบุคคลที่ประสงค์จะรับราชการก็นิยมสักน้ำมัน  เพื่อมิให้เห็นร่อยรอยการสัก  โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน  การสักที่นิยมในทางเมตตามหานิยมเพื่อให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของเพศตรงข้าม  หรือเพื่อผลทางการเจรจาเพื่อการค้าขาย   กลุ่มนี้มักมีอาชีพนายหน้าติดต่อ     ค้าขาย  หรือให้บริการต่างๆ  และมีกลุ่มที่รักสนุกต้องการสักเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายให้แปลกไปกว่าบุคคลอื่นๆ จึงมักจะสักกันเอง    หรือให้ช่างสักด้วยหมึกจีนให้เป็นรอยสักที่ต้องการเช่น ดอกไม้  ผีเสื้อ  ผู้หญิง  ลายสักประเภทนี้มักจะเป็นเด็กหนุ่มที่มีใจ    นักเลง  หรือผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว  สักเพื่อตกแต่งร่างกายหรือความสะใจประชดชีวิต  หรือเพื่อประทับความ ทรงจำบางอย่างไว้ เป็นต้น
 
ตำแหน่งของรอยสักบนร่างกาย
            ตำแหน่งของร่างกายที่จะรับการสักขึ้นกับรูปรอยที่สักและความมุ่งหมายในการสัก การสักเพื่อความขลังของศักดิ์สิทธิ์ นิยมสักตั้งแต่เอวขึ้นมาจนถึงศีรษะ   รอยสักที่นิยมสักที่        หน้าผาก  ได้แก่  นะหน้าทอง จะสักด้วยน้ำมัน เพื่อมิให้มองเห็น   ส่วนกลางกระหม่อมสักหัวใจอริยสัจ ท้ายทอยนิยมสักหัวใจอิติปิโส   อกและหลังนิยมสักรูปเทวดาใหญ่ เช่น นารายณ์แปลงรูป หนุมาน   รอยสักที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ มักสักไว้ร่างกายท่อนล่างตั้งแต่เอวมาจนถึงตาตุ่ม  รูปที่สักตั้งแต่ขาอ่อนลงมาถึงข้อเท้า จะเป็นการสักเพื่อป้องกันเขี้ยวงา ของสัตว์ร้าย   การสักรูปลามกไว้ที่ลับจะทำให้มีพลังในทางเพศสูง
 
อุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก
                สุลักษณ์ ศรีบุรี (2537 : 23) ได้รวบรวมชนิดของเข็มสักไว้ดังนี้
                1. หนามหวายที่มีปลายแหลมและแข็ง
                2. เข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้า 3-5 เล่ม มัดเข้าด้วยกันแล้วผูกติดกับด้ามไม้หรือเหล็ก    ให้เป็นด้ามจับถนัดมือ
                3. ก้านร่มฝนปลายแหลมเป็นหน้าตัด
                4. เหล็กปลายแหลมที่ทำด้วยทองเหลือง
                5. เข็มทำจากเหล็กตะปูที่ตอกโลงศพ เพื่อให้เกิดความขลัง
                6. ในปัจจุบันมีการนิยมใช้เข็มสักไฟฟ้า ซึ่งเหมาะสำหรับการสักลวดลาย เรียกว่า  Electric  Tattooing  Machine
    แต่อย่างไรก็ตาม  เข็มสักที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มักจะเป็นวัสดุปลายแหลมที่ทำจากโลหะเพื่อให้จับได้ถนัดมือและให้มีน้ำหนักถ่วงที่ปลายด้ามจะได้บังคับเข็มสักไปในทิศทางที่ต้องการ เข็มสักไฟฟ้าเหมาะสำหรับการสักเฉพาะลวดลายเท่านั้น  ไม่เหมาะในการสักตัวอักขระหรือยันต์แบบของไทย
 
สีหมึกที่ใช้ในการสัก
                สมชาย นิลอาธิ (2537 : 35-37) ได้รวบรวมสูตรผสมหมึกสักที่ใช้ในภาคอีสานไว้      4 สูตรได้แก่
                1. ใช้ต้นไม้ที่เรียกว่า “ต้นหมึก” แต่สีจะไม่ทนทานลบเลือนได้ง่าย
                2. ใช้ดินหม้อหรือเขม่าไฟ นำไปผสมกับดีควาย
                3. ใช้ผงถ่านสีดำที่อยู่ในถ่านไฟฉาย นำไปบดแล้วผสมกับยางต้น “มุกเกี้ย”
                4. ใช้หมึกจีนชนิดแท่งมาฝนให้เป็นผงละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันเสือ
                ที่นิยมใช้และหาได้ง่าย คือ หมึกจากปากกาเขียนแบบของช่างศิลปหรือหมึกจาก  ปากกาลูกลื่น  ซึ่งจะให้สีต่างๆ ทั้งเขียว  แดง  ดำ  ได้มีผู้คิดผสมสีสำหรับใช้สักโดยเฉพาะ สีพิเศษนี้  เรียกว่า  anti  septic colour มีคุณภาพใช้สักแล้วไม่เกิดเป็นพิษแก่แผลสักในภายหลัง
 
ผลกระทบของรอยสักต่อผิวหนัง
                 อันตรายที่อาจเกิดต่อผิวหนังคือ
                 1. การติดเชื้อ ได้แก่การติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นหนอง การอักเสบบวมแดงของผิวหนัง เชื้อไวรัสที่เกิดจากสักคือ โรคหูด ในปัจจุบันต้องระวังคือ โรคตับอักเสบชนิด B เพราะเคยมีรายงานว่ามีการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มผู้ทำการสักยันต์
                 2. โรคผิวหนัง เช่น โรคเรื้อนกวาง โรคแอลอี จะเกิดบริเวณรอยสัก ทำให้ผิวหนัง    ตกสะเก็ด มีอาการคันเกิดการติดเชื้อต่อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้
                 3. ปฏิกิริยาของผิวหนังต่อสีที่ใช้ในการสักถ้ามีอาการแพ้สี มีอาการตุ่มนูน มีอาการคันตาม  ผิวหนัง ถ้ามีอาการรุนแรงทำให้เกิดอักเสบเป็นหนอง
                 4. การสัก ผิวหนัง และสักคิ้ว จะทำให้มีการติดเชื้อเอดส์ได้โดยการสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลืองโดยตรง โอกาสติดโรคด้วยวิธีนี้ต้องมีแผลเปิดและปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายต้องมีจำนวนมาก
 
การลบรอยสัก
 
                 ผู้มีรอยสักจะลบรอยสักเมื่อต้องการเข้าสมัครงาน หรือสมัครเรียน การลบรอยสักทำได้ยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับปริมาณของรอยสักและตำแหน่งที่เป็น   ในอดีตมีการลบรอยสักดังนี้
                1. Dermabrasion การให้ศัลยแพทย์ตบแต่งเป็นผู้ทำ โดยการไถผิวหนังส่วนบนออกให้เม็ดสีของ รอยสักหลุดออกมาด้วย แล้วนำผิวหนังปกติจากต้นแขนต้นขามาปะลงบน รอยสักที่ตัดออกนั้น
                2. Salabrasion การขัดหนัง โดยใช้เกลือแกง ถูซ้ำๆ 2-3 ครั้ง จนกว่ารอยสักจะลบเลือนหรือจางลง
                3. Chemical erosive ใช้กรด
                4. Ablative laser การใช้แสงเลเซอร์ลบรอยสัก ที่นิยมกันคือ คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์  และอาร์กอนเลเซอร์ จากรายงานพบว่าได้ผลดีพอสมควร โอกาสเกิดแผลเป็นมีประมาณ 20%
 
ปัจจุบันการรักษาด้วย Q-switched laser (Ruby 694), Alexandrite 755, Nd-YAG (1064) ได้ผลดีมาก หายมากกว่า 90 % ขึ้นไป หลังทำ laser 6-8 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์
 
 
 
Compostion of Tattoo Pigments

 
Color

Materials

 Comment
 Black Iron Oxide (Fe3O4)

Iron Oxide (FeO)

Carbon

Logwood

Natural black pigment is made from magnetite crystals, powdered jet, wustite, bone black,and amorphous carbon from combustion (soot). Black pigment is commonly made into India ink.

Logwood is a heartwood extract from Haematoxylon campechisnum, found in Central America and the West Indies.

 Brown Ochre Ochre is composed of iron (ferric) oxides mixed with clay. Raw ochre is yellowish. When dehydrated through heating, ochre changes to a reddish color.
 Red Cinnabar (HgS)

Cadmium Red (CdSe)

Iron Oxide (Fe2O3)

Napthol-AS pigment

Iron oxide is also known as common rust. Cinnabar and cadmium pigments are highly toxic. Napthol reds are synthesized from Naptha. Fewer reactions have been reported with naphthol red than the other pigments, but all reds carry risks of allergic or other reactions.
 Orange disazodiarylide and/or disazopyrazolone

cadmium seleno-sulfide

The organics are formed from the condensation of 2 monoazo pigment molecules. They are large molecules with good thermal stability and colorfastness.
 Flesh Ochres (iron oxides mixed with clay)  
 Yellow Cadmium Yellow (CdS, CdZnS)

Ochres

Curcuma Yellow

Chrome Yellow (PbCrO4, often mixed with PbS)

disazodiarylide

Curcuma is derived from plants of the ginger family; aka tumeric or curcurmin. Reactions are commonly associated with yellow pigments, in part because more pigment is needed to achieve a bright color.
 Green Chromium Oxide (Cr2O3), called Casalis Green or Anadomis Green

Malachite [Cu2(CO3)(OH)2]

Ferrocyanides and Ferricyanides

Lead chromate

Monoazo pigment

Cu/Al phthalocyanine

Cu phthalocyanine

The greens often include admixtures, such as potassium ferrocyanide (yellow or red) and ferric ferrocyanide (Prussian Blue)
 Blue Azure Blue

Cobalt Blue

Cu-phthalocyanine

Blue pigments from minerals include copper (II) carbonate (azurite), sodium aluminum silicate (lapis lazuli), calcium copper silicate (Egyptian Blue), other cobalt aluminum oxides and chromium oxides. The safest blues and greens are copper salts, such as copper pthalocyanine. Copper pthalocyanine pigments have FDA approval for use in infant furniture and toys and contact lenses. The copper-based pigments are considerably safer or more stable than cobalt or ultramarine pigments.
 Violet Manganese Violet (manganese ammonium pyrophosphate)

Various aluminum salts

Quinacridone

Dioxazine/carbazole

Some of the purples, especially the bright magentas, are photoreactive and lose their color after prolonged exposure to light. Dioxazine and carbazole result in the most stable purple pigments.
 White Lead White (Lead Carbonate)

Titanium dioxide (TiO2)

Barium Sulfate (BaSO4)

Zinc Oxide

Some white pigments are derived from anatase or rutile. White pigment may be used alone or to dilute the intensity of other pigments. Titanium oxides are one of the least reactive white pigments.
เอกสารอ้างอิง 
1. กองประวัติศาสตร์ ทหารเรือ  2528.  “ประวัติศาสตร์ชาวเรือ การสักร่างกาย”.  กระดูกงู.   (กรกฎาคม 2528) : 37-38.
2. กองโรคเอดส์.   2538.  รู้ทันเอดส์.    (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพมหานคร : ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด.
3. เจียงอึ้งเหลียง.  2532.    ประวัติชนเชื้อชาติไทย.   กรุงเทพมหานคร:   โรงพิมพ์อักษรไทย.
4. จตุพร  บานชื่น.  2539.  ความหมายและขอบเขตของอาชญากรรม.  นนทบุรี  :  ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์
5. จำนงค์  อดิวัฒนสิทธิ์, เฉลียวฤกษ์รุจิพิมล, ประพีร์  วิริยะสมบูรณ์, เสาวคนธ์  สุดสวาส, สุดา  ภิรมย์แก้ว  และสุรพันธ์  เพชราภา.  2532.  สังคมวิทยา.  (พิมพ์ครั้งที่ 6 ).   กรุงเทพมหานคร :   โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
6. โชติ  ไทยยิ่ง ร.ต.อ.  2528 .  การวิเคราะห์สาเหตุการกระทำความผิดของผู้ต้องขังวัยหนุ่ม. กรุงเทพมหานคร : วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหิดล.
7. ณรงค์  ศรีสวัสดิ์.  2536.  การวิจัยทางสังคมศาสตร์.   คณะสังคมศาสตร์,  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อัดสำเนา)
8. ประเทิน มหาขันธ์.   2529.   “การสักกับการประพฤติ เกเรของเยาวชนไทย”.   ข่าวสำนักงานคณะ  กรรมการวิจัยแห่งชาติ.   27   (พฤศจิกายน 2529)   : 7-8 .
9. ประเทิน มหาขันธ์..  2534.   ศิลปะการสักลาย.  (พิมพ์ครั้งที่ 1 ).  กรุงเทพมหานคร :  โอ.เอส.ปริ้นติ้งเฮ้าส์.
10. ประภาพรรณ  วงศาโรจน์.  2532.  การพัฒนาเอกลักษณ์รักร่วมเพศในหมู่วัยรุ่น.  กรุงเทพมหานคร : วิทยานิพนธ์ปริญญาโท,  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 
11. ปรีดา  ศิริสวัสดิ์.   2529.  ปฏิกิริยาของสังคมต่อหญิงที่ถูกข่มขืน.  กรุงเทพมหานคร :  วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
12. นาทิศ  ธารบัวแก้ว.  2534.   เปิดคัมภีร์โบราณ ตำนานสักยันต์.   นนทบุรี  :  99  มีเดีย แอนด์ พับลิซซิ่ง.
13. นัทธี  จิตสว่าง.  2528.  การศึกษาผลกระทบของระบบสังคมในเรือนจำต่อผู้ต้องขัง.   กรุงเทพฯ :งานวิจัย สาขาสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
14. พิชิต  พิทักษ์เทพสมบัติ,  บรรณาธิการ.  2531   ปฏิบัติการเหนือตำราการวิจัยทางสังคม  Social  Research : Beyond Texts.  กรุงเทพฯ :  โครงการตำราวิทยาศาตร์อุตสาหกรรม.  หน้า 198.
15. ยศวันต์  บริบูรณ์ธนา.  2539.  การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยใช้เรือนจำและชุมชน.  นนทบุรี  :ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์
16. ยุธิษเฐียร  (นามแฝง) .  2501.  “ประวัติศาสตร์ของการสัก”.  สาระน่ารู้ .    กรุงเทพมหานคร  :  แพร่พิทยา.
17. ราชบัณฑิตยสถาน.  2525. พจนานุกรม. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ). กรุงเทพมหานคร : บริษัทอักษรเจริญทัศน์ จำกัด.
18. วิวัฒน์  โรจนพิทยากร.  2536.  “สักผิวหนังฝังเชื้อเอดส์”.  บ้านเมือง.   (26 พฤษภาคม 2536) : 9.
19. ศุลีมาน นฤมล . 2530 . กระบวนการกลายเป็นหมอนวด . กรุงเทพมหานคร : วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
20. สมชาย  นิลอาธิ.   2527.   “ลายสักจิตกรรมบนความเจ็บปวด”.   วารสารศิลปวัฒนธรรม.  2 (มิถุนายน  2527) : 112-124.
21. สว่าง  เลิศฤทธิ์.   2529.   “ลวดลายบนแผ่นหนัง (คน)”.  นิตยสารตกแต่ง .   92(มกราคม 2539) : 19-23.
22. สายสม  ธรรมธิ.   2538.   ลายสักไทยใหญ่ .  เชียงใหม่  :  โรงพิมพ์มิ่งเมืองเชียงใหม่.
23. สุลักษณ์  ศรีบุรี และทวีวงศ์  ศรีบุรี.   2537.   “ลายสักที่พบในภาคกลางของประเทศไทย.  วารสาร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.  1(มกราคม-มิถุนายน 2537) :  19-41.
24. สุรินทร์  นิยมางกูร.  2533.   สถิติวิจัย.   กรุงเทพมหานคร :  ฝ่ายโรงพิมพ์สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
25. เสริน ปุณะหิตานนท์.  2523.  การกระทำผิดในสังคม.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์บริษัทเดอะนิสซิงเนสเพรสจำกัด.
26. โสภา  ชนีลมัน .  2537 .  อาชญากรรม  :  ปัญหาที่ควรแก้ไขในสังคมปัจจุบัน .  กรุงเทพมหานคร :บ. โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.
27. Marilynn, L.  1995.   Tattoos and Permanent Makeup. New York : U.S. Food and Drug Administration.
28. Bowker , Arthur  .  1995.  Criminal  History  Investigations  FBI Law  Enforcement Bulletin.