เจาะ Lifestyle ผู้ว่าฯ กทม. รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับหมอรามาฯ
หน้าแรก
สัมภาษณ์ชัชชาติ เจาะ Life Style กับหมอรามาฯ
สัมภาษณ์ชัชชาติ เจาะ Life Style กับหมอรามาฯ

“ไม่สบายต้องไปหาหมอ ทำยังไงหนอให้ร่างกายแข็งแรง”  ผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเกริ่นนำตอนต้นคลิป ซึ่งคลิปสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ทางช่อง Rama Channel ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุรุษที่ได้รับสมญานามว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่ากทมฯ คนปัจจุบัน เจาะประเด็นคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกับหมอรามาฯ

คุณหมอ: อาจารย์ตื่นมาทำอะไรตั้งแต่ตี 3 ครึ่งครับ
ชัชชาติ: มันตื่นเองครับหมอ แก่แล้วด้วย นอนสัก 4 ทุ่ม ตี 3 ครึ่งก็จะตื่น ปกติก็จะตั้งนาฬิกาปลุกประมาณตี 4 แต่มักจะตื่นตี 3 ครึ่งประจำ ตื่นมาก็เช็กอีเมลก่อน แล้วก็ออกกำลังกาย

คุณหมอ: อาจารย์ออกกำลังกายวิธีไหนครับ
ชัชชาติ: ผมวิ่งเป็นหลักเพราะมันง่าย ไม่ต้องนัดใคร แต่ก่อนไปวิ่งสวนลุม แต่มีช่วงหนึ่งที่เปิดตี 5 ไม่สอดคล้องกับกำหนดการของเรา บางทีเราต้องเสร็จก่อน 7 โมง ก็เลยเปลี่ยนเป็น City Run ซะเป็นส่วนใหญ่ ก็วิ่งออกทองหล่อ ใส่รองเท้าวิ่งออกไปริมคลอง แล้วขึ้นไปนานาบ้าง อโศกบ้าง แล้วแต่

คุณหมอ: อาจารย์วิ่งครั้งละกี่นาทีครับ 
ชัชชาติ: ถ้าเป็น City Run ประมาณชั่วโมงครึ่ง ประมาณ 10 กิโลเมตร พยายามวิ่งทุกวัน แต่ไม่ได้เพซ (pace) เร็วมาก เพราะ City Run ก็มีคนมาขอถ่ายรูปบ้าง หยุดเดินขึ้นสะพานบ้าง

คุณหมอ: อาจารย์จับ Heart Rate ยังไง Speed อยู่ที่เท่าไหร่ครับ 
ชัชชาติ: Heart Rate ของผมค่อนข้างต่ำ ถ้าเดินปกติจะอยู่ที่ประมาณ 58-60 bpm ถ้าวิ่งจะอยู่ที่ 130 bpm (ถือว่าอยู่ในโซน 3 burn fat)

Heart Rate Zones ของการออกกำลังกาย

คุณหมอ: อาจารย์วิ่งมากี่ปีแล้วครับ
ชัชชาติ: 20 ปีได้ละ ตั้งแต่สมัยเรียน วิ่งคลายเครียด สมัยเรียนวิ่งตอนเย็น ตั้งแต่อยู่จุฬาฯ วิ่งตามตรอกซอกซอย จนเป็นนิสัย ถ้าวันไหนไม่วิ่งเครียด หงุดหงิด แต่มีช่วงหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนที่สนามเขียวเปิด ก็ไปขี่จักรยานวันเสาร์ อาทิตย์ ผมว่าการวิ่งกับการปั่นจักรยานคล้าย ๆ กัน มันเหมือน push control คือพอเราเข้าโหมด เราก็จะไปได้เรื่อย ๆ สมองเราไม่ต้องคิดอะไรมาก มันก็ไปของมันเรื่อย ๆ เหมือนการนั่งสมาธิ เวลาผมวิ่ง ผมจะรู้สึกสบายใจ บางทีมันก็มีไอเดียอะไรโผล่ขึ้นมาตอนวิ่ง อย่างตอนเช้า ๆ คิดโน่นคิดนี่ ได้ลำดับความคิดที่จะทำงานในวันนี้ด้วย วันนี้จะประชุมอะไร จะคิดจะพูดอะไร ผมว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลำดับความคิดได้ดี เพราะว่าเราไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องเจอใคร ได้อยู่กับตัวเองชั่วโมงครึ่ง หาเวลาอย่างนี้ในชีวิตยาก ซึ่งเรื่องพวกนี้ผู้บริหารรุ่นใหม่พูดถึงกันเยอะ ทั้งเรื่อง Mindfulness (ทำให้จิตใจนิ่ง) เรื่องการ Meditate (การทำสมาธิ)

คุณหมอ: ฝนตกแล้วอาจารย์ไปวิ่งไม่ได้ อาจารย์ออกกำลังกายวิธีไหนครับ 
ชัชชาติ: ผมก็จะเข้าห้องยิม แต่ถ้าฝนตกไม่หนักผมก็วิ่งนะ มันก็เหมือนเราอาบน้ำ วิ่งเสร็จก็อาบน้ำ

คุณหมอ: อาจารย์คุมน้ำหนักไหมครับ 
ชัชชาติ: แต่ก่อนผมอ้วนกว่านี้เยอะ แต่ผมทำ IF (IF หรือ Intermittent Fasting คือ วิธีการลดน้ำหนักโดยจำกัดช่วงเวลาการกินและเพิ่มช่วงเวลาที่ร่างกายต้องอดอาหาร) อยู่ช่วงหนึ่ง ประมาณ 2 เดือน ลดไปเกือบ 10 กิโลกรัม ใช้สูตร 8:16 (กินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง) คือ ทำตามลูก แต่ก่อนเคยไปเยี่ยมลูกที่อเมริกา เห็นเขาทำก็ทำตามเขา ก็ดีนะ สะดวกมากเลย ตอนนี้ก็พยายามทำอยู่

คุณหมอ: อาจารย์อดอาหารกี่ชั่วโมงครับ
ชัชชาติ: ช่วงหลังนี่ ผมก็จะกินตั้งแต่เช้าไปจนถึงบ่ายสอง คือ จะไม่กินตั้งแต่บ่ายสองไปจนถึงแปดโมงเช้าแต่พอทำงานอย่างนี้บางทีมันก็มีบ้าง แต่ช่วงที่เอาซีเรียสจะไม่กินเลย ผมว่ามันดีมากเลย คล้าย ๆ พระ ไม่ต้องกินข้าวเย็น ก่อนวิ่งก็ไม่กินนะ ผมเป็นคนไม่กินอะไรก่อนวิ่ง หลังวิ่งก็จะเว้นไปช่วงหนึ่ง เพราะมันเหนื่อย จะกินแต่น้ำหรือเกลือแร่บ้าง ตื่นเช้าผมก็ดื่มกาแฟดำแก้วหนึ่ง ออกกำลังกาย สาย ๆ 10 โมง อาจจะมีกินผลไม้นิดหน่อย แล้วไปกินหนักมื้อเที่ยง มื้อเย็นแทบไม่กินได้ก็ดีหรือไม่ก็เบา ๆ

คุณหมอ: ตอนกลางวันไม่ง่วงบ้างเหรอครับ ไม่เพลียเลยเหรอ 
ชัชชาติ: ง่วง ! ผมก็หลับ ผมก็มีงีบตอนกลางวัน 15 นาที Power Nap (การนอนหลับช่วงเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ)

คุณหมอ: อาจารย์วิ่งมาเป็น 10 ปี มีปัญหาเรื่องข้อเข่าบ้างไหมครับ 
ชัชชาติ: มีผ่าเข่าไปแล้ว ! หมอนรองกระดูกขาด ก็ไม่เป็นไร ผ่าแล้วก็วิ่งได้ พักไป 3 เดือนก็วิ่งต่อ ก็ไปเปลี่ยนรองเท้า รองเท้าเด้งไป บางทีรองเท้ารุ่นใหม่ ๆ มันเด้งเยอะ และบางทีเราก็วิ่งเร็วไป

คุณหมอ: อาจารย์ชอบใส่รองเท้าคนละข้าง สีไม่เหมือนกัน 
ชัชชาติ: อันนี้เดิมทีมีคนเค้ามาขอแลก รองเท้ารุ่นนี้เบอร์ 13 มันหายาก ผมมีสีดำ น้องเขามีสีขาว ก็แลกคนละข้าง ก็แปลกดี มันก็เหมือนเราบริหารความแตกต่าง ชีวิตเรามันก็ต้องมีความแตกต่าง ต้องบริหารให้เดินไปด้วยกันได้

คุณหมอ: บางคนจะบอกว่าไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย อาจารย์คิดยังไงกับประโยคนี้ อาจารย์ดูยุ่งมาก ยังมีเวลาออกกำลังกาย
ชัชชาติ: ผมพูดเรื่องนี้เยอะเลยนะ ชีวิตเราเหมือนโถแก้ว 24 ชั่วโมง เรามีหน้าที่ 3 อย่าง มี หิน กรวด ทราย ใส่ลงไป หินเป็นเรื่องสำคัญ กรวดเป็นเรื่องรองลงมา ทรายเป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าบอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องเอาหินไปจองพื้นที่ก่อน แต่บางคนบอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่แต่สุดท้ายเอาทรายเอาเรื่องไร้สาระ เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊กไร้สาระเต็มไปหมด สุดท้ายไม่มีเวลาสำหรับหินก้อนใหญ่ บางทีแล้วชีวิตมันขึ้นกับเรากำหนดนะ ถ้าเรากำหนดว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญก็ต้องเอาหินก้อนใหญ่ไปจองไว้ก่อน ถึงบอกว่าบางทีสุขภาพมันจำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน แม้จะไม่ใช่ในนาทีนี้แต่ในระยะยาวมันจำเป็น ดังนั้นผมว่าต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี

คำคมชัชชาติ ชีวิตเหมือนโถแก้ว

คุณหมอ: อาจารย์มีงานเยอะมากในเวลากลางวันและออกกำลังกายด้วย อาจารย์แบ่ง Downtime Relax (การพักผ่อนในช่วงที่ไม่ค่อยยุ่ง) อย่างไร 
ชัชชาติ: Relax สุดของผมก็คือ การออกกำลังกายนี่แหละ มันรู้สึกสบาย พอวิ่งเสร็จแล้วรู้สึก Fresh (สดชื่น) สมมติว่าเวลาเท่ากัน ตื่นมาทำงาน 1 ชั่วโมงกับไปวิ่ง 1 ชั่วโมง ผมว่ามันต่างกัน ถ้าไปวิ่งรู้สึกชีวิตดีขึ้น แต่ถ้าตื่นแล้วพยายามทำอะไร 1 ชั่วโมง เผลอ ๆ ไม่ได้ทำอะไรมากหรอก เดินไปเดินมา เสียเวลาไปอีก 1 ชั่วโมง แต่การที่กัดฟันปุ๊บ 1 ชั่วโมงวิ่งเลย! มันได้เลย

คุณหมอ: นาฬิกาของอาจารย์ วันหนึ่งบอกว่าอาจารย์ขยับวันละกี่ก้าว 
ชัชชาติ: ผมจะดูตอนวิ่งเป็นหลัก ประมาณหมื่นสี่ถึงหมื่นห้าก้าว

คุณหมอ: 1 กิโลเมตร อาจารย์ใช้เวลาวิ่งเท่าไหร่
ชัชชาติ: ผมว่าประมาณ pace 6 (pace คือ เวลาที่ใช้ในการวิ่ง 1 กิโลเมตรหรือ 1 ไมล์) แต่ตอนนี้ก็ดี มีเพื่อนมาวิ่งด้วยกันมากขึ้น ส่วนมากก็จะไปเจอกันที่สวนลุม หรือถ้าไปตรวจงาน วันเสาร์ก็จะนัดวิ่งไปตรวจงาน ก็สนุกดีได้ 2 in 1 เสาร์ที่แล้วก็วิ่งไปตรวจที่สามแยกไฟฉาย ขึ้นอุโมงค์ไป ก็นัดเพื่อนวิ่งกันไปตรวจ มีวิ่งข้ามเรือด้วยนะ วิ่งไปดูตรงแยก ณ ระนองก่อนแล้วก็วิ่งลงเรือไปท่าช้าง ข้ามไปแล้วก็แยกไฟฉายตรงศิริราช

สัมภาษณ์ชัชชาติกับหมอรามาฯ

คุณหมอ: ปกติอาจารย์ชอบกินอะไรครับ
ชัชชาติ: ผมก็ง่าย ๆ พวกข้าวแกง ปกติก็ชอบกินของหวาน ซึ่งบางทีมันก็อาจจะเป็นข้อเสีย พอเราวิ่งแล้วบางทีก็อยากกินน้ำแข็งไส ไม่ได้ซีเรียสมากเรื่องการกิน แต่ถ้าไม่ได้กินข้าวเย็นก็ดี ไม่ต้องคิดว่าจะกินอะไร รู้สึกเบา ผมรู้สึกว่าเวลาอดข้าวหรือการทำ IF แล้วทำให้ Concentrate (เพ่งความสนใจ) ได้ดีขึ้น ไม่รู้ว่าเพราะอะไร
คุณหมอ: บางคนที่หลังกินอาหารเยอะ ๆ หรือหวานมาก ๆ พอน้ำตาลเข้าไปในหัว มันเป็น Sugar Rush (เป็นความเชื่อว่า การกินอาหารหวาน โดยเฉพาะน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้รู้สึกดีในช่วงแรก แต่ตามมาด้วยความง่วงและหมดแรง) ทำให้มันเบลอ
ชัชชาติ: ใช่ ๆ จำได้เลยช่วงที่แบบหิวข้าวแต่สมองทำงานได้ดี ผมว่าก็ไม่เลวเหมือนกัน

คุณหมอ: อาจารย์กินข้าววันละกี่มื้อครับ 
ชัชชาติ: หลัก ๆ ก็มื้อเดียว เช้า ๆ ก็กินนิดหน่อย ถ้ากินข้าวเช้า ข้าวกลางวันก็จะเหลือน้อยลง เวลาผมวิ่งผมมักจะกินอะไรไม่ค่อยลง วิ่งเสร็จมันเหนื่อย ก็อาจจะกินน้ำเย็น ๆ น้ำแดง แล้วก็อาจจะไปกินข้าวกลางวันเลย ข้าวเย็นก็จะพยายามลดให้มากที่สุด

คุณหมอ: อาจารย์ควบคุมน้ำหนักอยู่ที่เท่าไหร่ 
ชัชชาติ: 89 kg ผมถือว่า overweight นะ เพราะผมสูง 180 cm. ผมก็มีวิดพื้นบ้าง

คุณหมอ: เวลาอาจารย์นั่งรถ มีขยับร่างกายบ้างไหม
ชัชชาติ: ผมหลับเลย ! เพราะเป็นเวลาที่มีค่าในการหลับ เพราะถือว่าเราขยับเยอะแล้ว ตื่นขึ้นมาเราก็ขยับเยอะแล้ว ถ้ามีจังหวะได้ก็หลับ และเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผม relax ชีวิตผมก็ง่าย ๆ เพราะผมไม่เที่ยวไม่อะไร เหล้าผมก็ไม่กิน พอเราตื่นเช้าเราก็จะนอนเร็ว เพราะฉะนั้น 4 ทุ่มเราก็จะนอนแล้ว

คุณหมอ: อาจารย์พยายามนอน 4 ทุ่มทุกวันไหมครับ 
ชัชชาติ: 3 ทุ่มครึ่งแล้วก็หลับเลย หัวถึงหมอนไปเช้าแล้วก็ตื่นเอง

คุณหมอ: แล้วถ้าอาจารย์มีภารกิจตอนกลางคืน อย่างที่ไปดูน้ำท่วม อาจารย์ทำอย่างไร 
ชัชชาติ: อ่อ อันนั้นขยับ ชีวิตเราก็ relax แต่มันก็ตื่นสายไม่ได้ พยายามจะตื่นให้ฟ้าสว่างก็ไม่ได้ แต่มันก็จะไปง่วงตอนบ่าย ก็ถือว่านาฬิกาชีวิตมันให้ตื่นเช้า

คุณหมอ: แล้วนอกจากวิ่งแล้ว อาจารย์ออกกำลังกายด้วยวิธีไหนบ้างครับ 
ชัชชาติ: ผมก็มี Body Weight มี Planking มี Sit-up มีวิดพื้นอะไรเงี่ย ผมไม่ได้ตีกอล์ฟเพราะต้องใช้เวลานัดคน ไม่ได้เล่นกีฬาที่เป็นทีมสปอร์ตอะไร มีจักรยานบ้าง แต่ก่อนตอนไปเมืองนอกก็มีปั่นจักรยาน ลูกชายก็ปั่นจักรยานออนไลน์ อันนั้นก็ดีมากเลยนะ จักรยานกับวิ่งเป็นการออกกำลังกายง่าย ๆ ไม่ต้องนัดใคร

คุณหมอ: ปกติเวลาอาจารย์กินข้าว อาจารย์จัดหมวดหมู่อาหารไม๊ 
ชัชชาติ: มั่วเลย 55 ผมไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนะ แต่ผมก็ชอบกินผักกินเนื้อมันก็ผสมกันได้ ก็มีข้าวนิดหนึ่ง ข้าวก็พยายามน้อย ๆ หน่อย ก็ไม่ได้ซีเรียสมากแบบต้องกินคลีน และปิดด้วยขนมของหวานนิดหน่อย

คุณหมอ: อาจารย์ไปตรวจสุขภาพบ้างไหมครับ 
ชัชชาติ: ตรวจทุกปี น้ำตาลก็แตะ 98 (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ส่วนไขมันดีสูง (HDL) และส่องกล้องด้วยเพื่อดูเรื่องมะเร็ง เพราะมีเพื่อนที่เป็นมะเร็งเสียชีวิต ซึ่งเราไม่เคยรู้ ส่วนความดันปกติ แต่ผมว่า IF นี่เปลี่ยนชีวิตผมนะ มันทำให้มาเริ่มต้นใหม่ เพราะน้ำหนักผมเกือบร้อย แต่พอมาทำ IF 2 เดือนลดลงมา ก็ดีทุกอย่าง และก็ทำให้กินข้าวเย็นน้อย

คุณหมอ: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย 
ชัชชาติ: ลูกชาย ! คือ ลูกชายเขาทำ IF ไง แล้วเราก็ไปอยู่ที่เค้าสองคน พอเค้าไม่กินเราก็ไม่อยากกินยั่วเค้า มันก็เลยทำให้ไปด้วยกันได้ครับ

สัมภาษณ์ชัชชาติกับหมอรามาฯ

คุณหมอ: อาจารย์จัดการกับความเครียดอย่างไร 
ชัชชาติ: ผมว่าออกกำลังกายช่วยมากเลยนะ ไม่รู้สิ แต่หลัง ๆ พอได้ออกกำลังกายแล้วมันก็ดีขึ้น แล้วผมรู้สึกเหมือนกับว่าสติมันกลับมา มันตกตะกอนไง แล้วก็ต้องอย่าไปคิดอะไรมาก แล้วการออกกำลังกาย ยิ่งถ้าเป็น City Run นะ เห็นเลยว่าชีวิตมันมีหลายรูปแบบ มีทั้งคนที่มีชีวิตยากกว่าเราเยอะเลย เขาก็ยัง survive ได้ (เอาตัวรอด) บางทีเราก็อย่าไปเครียดมาก และผมว่าหลาย ๆ คน ที่เล่นโซเชียลมีเดีย บางทีเครียดเพราะว่าคอมเมนท์ก็ต้องปล่อยวาง

คุณหมอ: อาจารย์คิดอย่างไรกับ PM 2.5
ชัชชาติ: มันมาแน่ เพราะมันเป็น Seasonal (ตามฤดูกาล) เป็นหน้าที่ของกทม. ต้องดูแล ผมว่าอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเรา กทม. ก็ต้องเอาจริงเอาจัง ตอนนี้ก็เริ่มวางแผนระยะยาว มี 16 โครงการที่จะทำ เรื่องตรวจควันดำ รถ หาพื้นที่ปลอดภัย ต้องเริ่มทำ และตอนนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ทำคนเดียวไม่ได้ แต่ก็ต้องระวัง ยิ่งออกกำลังกาย ผลอาจจะไม่ใช่วันนี้ แต่เป็นในระยะยาว

คุณหมอ: ในชีวิตอาจารย์ เคยทำอะไรไร้สาระบ้างไหมครับ   
ชัชชาติ: โอ้ย เยอะแยะเลย ! ก็นั่งเล่น นั่งคุยกับลูก มันก็มีบ้างแหละ เรื่องเฮฮาบ้าง บางทีผมก็มีความสุขกับการอ่านหนังสือและมันก็ได้ประโยชน์ด้วย คือ ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ๆ การอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรา Relax ได้บางทีเบื่อ ๆ ก็นั่งดูทีวี 2 ชั่วโมงก็มี Netflix อะไรงี้

คุณหมอ: อาจารย์มีปัญหาด้านสายตาบ้างไหมครับ ทั้งประชุมทั้งอ่านหนังสือ ทั้งดูทีวี
ชัชชาติ: ต้องใส่แว่น เพราะสายตายาวหน่อยหนึ่ง ไม่เยอะเท่าไหร่แต่ต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือ แต่การมองเห็นก็ยังชัดเจน

คุณหมอ: อาจารย์อยากจะฝากอะไรถึงบรรดาแฟนคลับหรือคนกทม. ไหมครับ เรื่องสุขภาพ 
ชัชชาติ: ผมว่าสุขภาพสำคัญนะ อย่างที่บอก ถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้ เราดูแลคนที่เรารัก ดูแลเพื่อนร่วมงาน ดูแลคนในบริษัท ลูกน้องเราไม่ได้หรอก ผมว่าสุขภาพคือ หินก้อนใหญ่ เอาไปจองพื้นที่ในชีวิตก่อน แล้วที่เหลือมันก็จะดีตามไปเอง แต่ถ้าสุขภาพเราไม่ดี เรากลายเป็นภาระของคนอื่น หลาย ๆ อย่างที่เราอยากจะทำ มันทำไม่ได้ ผมขอฝากว่าสุขภาพดีไม่มีขาย ผมว่าทุกคนรู้ มันต้องเริ่มจากตัวเราเอง ดูแลตัวเราเอง และทำไปเถอะ ก้าวแรกมันอาจจะยากหน่อยแต่สุดท้ายแล้วเราจะติด พอติดแล้วมันจะง่ายเลย คราวนี้ไม่ออกกำลังกายจะยากกว่าละ มันขึ้นอยู่กับก้าวแรกครับ

คุณหมอ: วันนี้ต้องขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ ที่อุตส่าห์สละเวลาให้กับทาง Rama Channel ของเรา
ชัชชาติ: ยินดีครับ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ แล้วก็ไปเจอกันตามสวน สวนลุม สวนเบญจกิติ ถ้าไปเจอก็ทักทายกัน ไปวิ่งด้วยกัน
คุณหมอ: ผมว่าแฟนคลับของเรา ผู้ชมรายการเรา พอเห็นอาจารย์ที่แม้จะยุ่งขนาดนี้แต่ยังมีเวลาออกกำลังกาย น่าจะมีแรงบันดาลใจขึ้นมาออกกำลังกายบ้าง
ชัชชาติ: ไม่น่าเชื่อนะหมอ ตอนที่ผมไลฟ์สดตอนที่ออกกำลังกาย แล้วผมก็พูดอะไรอย่างนี้ แล้วก็มีน้องบางคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เค้าออกมาวิ่งกับเรา ผมว่าแค่น้องคนนี้คนเดียว มันก็คุ้มที่ผมจะไลฟ์ให้คนเห็นแล้ว หลายคนที่คอมเมนท์มาบอกว่าไม่อยากออกจากบ้าน แต่พอเห็นเราออกมาใช้ชีวิตแล้วก็มีกำลังใจที่อยากจะออกมา ผมว่าไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพหรอก แต่มันเป็นเรื่องของสุขภาพจิตด้วย ผมว่าเราต้องอยู่ด้วยความหวังแล้วก็ช่วยกัน

เพิ่มเพื่อน Line Ramathibodi

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
บทความสุขภาพ
07-05-2024

4

บทความ เรื่อง การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ของ ผู้หญิง
การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และความเสี่ยงอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
02-05-2024

2

บทความ เรื่อง ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ ผิวหนัง เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรค มะเร็งผิวหนัง
ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ผิวหนังเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคมะเร็งผิวหนัง ได้
บทความสุขภาพ
01-05-2024

11

บทความ เรื่อง ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาล แลคโตส ที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
บทความสุขภาพ
26-04-2024

7