การใช้ชีวิตช่วงน้ำท่วม
หน้าแรก
การใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมให้ปลอดภัยจากโรค
การใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมให้ปลอดภัยจากโรค

จากสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ตอนนี้ นอกจากความเสียหายในทรัพย์สินที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้วปัญหาอื่นที่ตามมายังมีในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องระวัง วันนี้เราจะมาพูดกันเรื่องของโรคและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เพื่อให้ถูกสุขลักษณะห่างไกลโรคที่ไม่พึงประสงค์

ปัญหาที่พบบ่อยในสถานการณ์น้ำท่วมก็คือ

ปัญหาของน้ำกัดเท้า ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เปื่อย และทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วขณะที่ผิวหนังแห้งสนิทจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ส่วนในร่างกายของคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือไม่มีปัญหาทางด้านภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อผิวหนังแช่น้ำนานกว่า 1 ชั่วโมง ผิวหนังจะเปื่อย ทำให้แบคทีเรียและเชื้อราเติบโตได้ง่าย

ดังนั้นหลังจากที่แช่น้ำมาสิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ

ควรทำความสะอาด ฟอกสบู่บริเวณที่แช่น้ำ หากผิวหนังแค่ระคายเคืองก็ให้เช็ดให้แห้ง แต่หากผิวหนังเริ่มเปื่อยแล้วหลังฟอกสบู่เสร็จควรใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน แอลกอฮอล์ ฯลฯ  เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่จะทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมา

โรคที่มักมาจากการแช่น้ำ

หากสาเหตุจากน้ำเพียงอย่างเดียวจะไม่รุนแรง อย่างดีก็แค่น้ำกัดเท้าที่ทำให้หนังกำพร้าเปื่อยและเกิดการระคายเคือง แต่ส่วนมากในภาวะน้ำท่วมขัง ในน้ำมักมีสิ่งแปลกปลอมอยู่เยอะ เป็นแหล่งเชื้อโรคมากมายอย่างเชื้อแบคทีเรียตามท่อหรือแบคทีเรียในดินและอื่นๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา อาจเป็นฝี เป็นตุ่ม รวมถึงการถูกกัดต่อยจากแมลงและสัตว์มีพิษที่แฝงมากับน้ำท่วม เช่น ตะขาบ ทำให้เกิดอันตรายได้ หรืออาจจะเป็นยุงมักแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงน้ำท่วม ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกตามมา เป็นต้น

ระยะเวลาในการแช่น้ำหากแช่ในเวลานานจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและถ้าหากนานมากๆ จะมีโอกาสเกิดเชื้อราได้ หากผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำและหนังกำพร้าหลุดลอกออกไปเยอะ หรือเกิดรอยแตก เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางนั้น ควรใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่ถ้าหากเป็นยาวนานถึงสัปดาห์แล้วไม่หาย อาจมีอาการเชื้อราร่วมด้วย

อาการน้ำกัดเท้า

โดยปกติจะไม่ได้รุนแรง แต่ในบางกรณีสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคตับ หรือไตเรื้อรัง เชื้อโรคอาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ส่วนในคนที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วอาการอาจจะรุนแรงขึ้น เช่น สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้ควรมีการป้องกันตัวเองให้ดี โดยการหลีกเลี่ยงการแช่น้ำเท่าที่จะทำได้ อาจหารองเท้าสำหรับป้องกันน้ำมาสวมใส่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสวมใส่รองเท้าชนิดนี้นานเกินไปก็จะทำให้เหงื่อออก และเกิดความชื้นได้เช่นกัน จึงควรปฏิบัติอย่างเหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม

ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ หากจำเป็นต้องมีการแช่น้ำหลังจากนั้นต้องทำความสะอาดฟอกสบู่เพื่อฆ่าเชื้อโรค และเช็ดให้แห้งสนิท อาจมีการใส่ยาฆ่าเชื้อประเภทเบตาดีน แอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้น สำหรับเด็กๆ ที่ชอบลงไปเล่นน้ำตอนน้ำท่วม ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก เพราะบางครั้งการลงไปเล่นน้ำ นอกจากร่างกายจะแช่น้ำเป็นเวลานานแล้ว น้ำอาจจะเข้าปากด้วย เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสียท้องร่วงตามมา

ผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกหลานอย่าให้เล่นน้ำท่วมขังจะดีที่สุด ทั้งนี้การเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วม ผู้ช่วยเหลือไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะส่วนมากจะมีการป้องกันอย่างดี เช่น การสวมชุดกันน้ำ และอีกอย่างกลุ่มคนเหล่านี้มักมีร่างกายที่แข็งแรง จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่สำคัญคือต้องมีการป้องกันที่ดีและเหมาะสมด้วย

ส่วนการอยู่ร่วมกันในปริมาณมากหรือแออัด มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อ โรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน รวมทั้งทางศูนย์เองก็ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ เพื่อไม่ให้ติดต่อโรคกัน ที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ประสบภัย คือควรรับประทานอาหารปรุงสุกอยู่เสมอ

หลังน้ำลดแล้วย่าเพิ่งไว้วางใจ

เพราะอาจมีสัตว์ร้ายแอบอยู่ซึ่งมากับน้ำท่วม เช่น ตะขาบ รวมไปถึงเชื้อราบนพื้น จึงยังไม่ควรใช้ผิวหนังสัมผัสโดยตรง ตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้าน อย่างภาชนะที่อาจมีน้ำขัง ก็ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ สุดท้ายเอาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ออกมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเปิดหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเท ให้แดดเข้าถึง ก็ช่วยให้ปลอดภัยไปได้อีกขั้น

 

ข้อมูลจาก
รศ. พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน
สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “การใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมอย่างถูกสุขลักษณะ : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
บทความสุขภาพ
07-05-2024

3

บทความ เรื่อง การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ของ ผู้หญิง
การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และความเสี่ยงอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
02-05-2024

2

บทความ เรื่อง ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ ผิวหนัง เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรค มะเร็งผิวหนัง
ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ผิวหนังเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคมะเร็งผิวหนัง ได้
บทความสุขภาพ
01-05-2024

11

บทความ เรื่อง ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาล แลคโตส ที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
บทความสุขภาพ
26-04-2024

7