ประวัติความเป็นมา

โรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดหลักสูตร “การบริหารโรงพยาบาล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 โดยได้รับความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรจาก  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ใช้เวลาอบรมทั้งสิ้น6 เดือน โดยต่อมาทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้การเห็นชอบ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  (ก.พ.)  ได้ให้การรับรองหลักสูตรนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2520  ใช้เวลาในการศึกษาอบรมประมาณ 6 เดือน

         

ต่อมาในปี พ.ศ. 2536  จึงได้แยกการศึกษาออกจากหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมเฉพาะการบริหารทั่วไปในเชิงธุรกิจและการบริหารงานโรงพยาบาล โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการศึกษาจากเดิมมาเป็นการอบรมระยะสั้นประมาณ 3 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารงานโรงพยาบาลที่สนใจได้เข้ารับการอบรมมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขในการปรับปรุงและส่งเสริมการบริหารการแพทย์อย่างมีคุณภาพ   หลังจากนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาลได้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านนโยบายภาครัฐ และวิชาการ รวมทั้งวิทยาการสมัยใหม่  มุ่งเน้นวิทยากรที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจ ในด้านการบริหารองค์กร และวิทยากรจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการบริหารงานให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม ทำให้ผู้เข้าร่วมการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         

เนื้อหาในหลักสูตร ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

  1. เป็นความรู้การบริหารทั่วไปที่จำเป็นในเชิงการบริการด้านสุขภาพ เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารทรัพยากร การตลาดในเชิงธุรกิจการบริการ การเงินและการบัญชีและการพัฒนาตนเองตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา  ให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมโลกปัจจุบัน เข้าใจได้ถึงหลักการที่ผู้นำจะนำพาผู้ใต้บังคับบัญชาของตนนั้นอยู่รอดได้ในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  2. มุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ เช่น ระบบมาตรฐานโรงพยาบาล, JCI , Hospital Accrediation,  Health economics  เป็นต้น
  3. การศึกษาดูงานด้านการบริหารโรงพยาบาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ทำให้ผู้เข้าอบรมได้มีประสบการณ์ และเกิดความคิดที่จะนำกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลต่อไป