ทันตกรรมรากเทียม คือ การรักษาทางทันตกรรมแขนงหนึ่ง เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็น 1 ซี่ หลายซี่ หรือทั้งปาก รากเทียมมีลักษณะคล้ายรากฟัน ผลิตจากไททาเนี่ยม ซึ่งเป็นโลหะชนิดหนึ่ง ที่มีความเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อในร่างการมนุษย์ เมื่อผ่าตัดฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร และรอระยะเวลาให้รากเทียมเชื่อมยึดกับกระดูกดีแล้ว สามารถใช้รากเทียมเพื่อเป็นฐานยึด สำหรับ ครอบฟัน สะพานฟัน หรือ ฟันเทียมถอดได้
ในการรักษาทางทันตกรรมรากเทียม ควรมีการประเมินสภาพโดยรวมในช่องปาก และโดยเฉพาะบริเวณที่จะฝังรากเทียม เช่น ปริมาณและคุณภาพของกระดูก เนื้อเยื่ออ่อน เส้นประสาท ไซนัส ฟันและรากฟันข้างเคียง ในบางรายที่มีกระดูกไม่เพียงพอต่อการฝังราก อาจต้องมีการปลูกกระดูก หรือยกไซนัส ร่วมด้วย รวมทั้งประเมินโรคทางระบบบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้มีข้อควรระวังในการทำหัตถการมากขึ้น เช่นผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและช่องปาก ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่ม Bisphophonates เป็นต้น
เนื่องด้วยทันตกรรมรากเทียม สามารถลดข้อด้อยของการใส่ฟันเทียมแบบธรรมดา ซึ่งมีความไม่สะดวก สบาย ทั้งในด้านการบดเคี้ยว การถอดเข้าออก และการดูแลความสะอาด จึงตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านทันตกรรมรากเทียม มีการพัฒนาไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องวิธิการทางศัลยกรรม การเปิดแผลที่เล็กลง การอักเสบหรืออาการเจ็บปวดลดลง และระยะเวลาการรักษาสั้นลงเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการใช้ในการรักษากันอย่างแพร่หลาย