ทำอย่างไรเมื่อลูกกลัวหมอฟัน

          ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะพาเด็กมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการปวดฟันเท่านั้น ทำให้เด็กเจอแต่ประสบการณ์อันเจ็บปวดทรมาน ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่บางท่านก็ยังขยาดเมื่อเจอกับตัวเอง และเมื่อต้องมาพบทันตแพทย์ ก็ยังพบกับการรักษาที่ยุ่งยาก ทั้งการฉีดยา การถอนฟัน และการรักษารากฟัน คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง จึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มีความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์ และทัศนคติที่ดีของเด็กต่อการพบทันตแพทย์

คุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองควรปฏิบัติ ดังนี้

พาเด็กมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องฟัน คือ อย่างช้าที่สุด 6 เดือน หลังฟันซี่แรกขึ้น หรือ 1 ปีหลังคลอด เพื่อรับการตรวจและให้คำแนะนำในการดูแลป้องกัน เมื่อเด็กมีสุขภาพฟันที่ดี ก็จะไม่ต้องพบกับการรักษาที่ยุ่งยาก เด็กก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการพบทันตแพทย์

ก่อนพาเด็กมาพบกับทันตแพทย์ ควรพูดแต่สิ่งดีๆ เช่น “คุณหมอจะช่วยทำให้ลูกฟันสวยและแข็งแรง” ไม่พูดข่มขู่ให้เด็กกลัว เช่น “ดื้อนัก เดี๋ยวให้หมอฉีดยานะ”

เมื่อพาลูกมาพบทันตแพทย์                                                             

     3.1 ถ้าเด็กให้ความร่วมมือดี ทันตแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ปกครองนั่งอยู่ด้วย แต่เป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ไม่ควรช่วยทันตแพทย์พูดกับลูก เพื่อให้ทันตแพทย์ได้สื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง

     3.2 ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ทันตแพทย์จำเป็นต้องแยกผู้ปกครองกับเด็ก เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก

หลังทำฟันเสร็จควรให้คำชมแก่เด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น “หนูเก่งมากจ้ะ ฟันหนูสวยมาก” ไม่ควรถามเกี่ยวกับความเจ็บปวด เช่น “เจ็บไหมลูก?” “เห็นไหม แม่บอกแล้วว่าคุณหมอทำไม่เจ็บ” เด็กบางคนได้ยินคำพูดแบบนี้ร้องไห้ทันที เพื่อเรียกร้องความสนใจ

          เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ เด็กๆ ก็จะไม่กลัวหมอฟันอีกต่อไป

          ขอขอบคุณคุณพ่อ คุณแม่ที่ใส่ใจต่อฟันซี่น้อยๆ ของลูกคุณนะคะ.

ที่มา  ทันตแพทย์หญิงนันทนา  ศรีอุดมพร
        งานทันตกรรม  คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี