การป้องกันฟันมีหลายวิธี ได้แก่ การเคลือบหลุมร่องฟัน การใช้ฟลูออไรด์ การปรับพฤติกรรมการบริโภค การทำความสะอาดฟันและช่องปาก และการตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ การเคลือบหลุมและร่องฟันได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันฟันผุบนด้านบดเคี้ยวที่มีประสิทธิภาพสูงตราบเท่าที่วัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันยึดติดอยู่กับฟัน การเคลือบหลุมและร่องฟัน สามารถป้องกันฟันผุบริเวณหลุมและร่องฟันได้โดยทำให้หลุมและร่องฟันตื้นขึ้น และมีพื้นที่ผิวเรียบขึ้นไม่เป็นที่กักเก็บเชื้อจุลินทรีย์ และอาหาร และทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ ของการเคลือบหลุมและร่องฟันขึ้นอยู่กับการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันกับผิวเคลือบฟัน วัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันชนิดเรซินจะยึดติดกับผิวเคลือบฟันด้วยกลวิธีแบบ Mechanical Retention โดยใช้เทคนิคการเตรียมผิวเคลือบฟันด้วยกรด (Acid-etch technique) เพื่อให้เกิดรูพรุน จากนั้นวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันจะแทรกซึมเข้าไปในรูพรุนเหล่านั้น เรียกว่า Tag ทำให้เกิด Mechanical Lock ของวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันกับผิวเคลือบฟัน
- การเตรียมฟันให้แห้ง โดยการใช้แผ่นยางกันน้ำลาย หรือสำลี
- การทำความสะอาดฟัน เพื่อกำจัดหินปูน แผ่นคราบจุลินทรีย์ และคราบอาหาร
- การเตรียมผิวฟันด้วยกรด เพื่อให้ผิวฟันเกิดรูพรุน
- การล้างกรดออกด้วยน้ำและทำให้ฟันแห้ง
- การทาวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟัน โดยให้วัสดุไหลไปตามหลุมและร่องฟันช้า ๆ เพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศ แล้วทำให้วัสดุแข็งตัวโดยการฉายแสง
- การตรวจสอบและปรับแต่ง โดยตรวจสภาพความสมบูรณ์ และการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟัน ถ้าวัสดุหลุดหรือมีส่วนหลุมและร่องที่ไม่ถูกเคลือบ หรือมีฟองอากาศให้ทาวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันเพิ่มเติม ตรวจการสบฟัน ถ้าสบสูงให้กรอปรับแต่ง
- การตรวจเป็นระยะ ๆ ฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมและร่องฟัน ควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆ ทุก 6 เดือน โดยตรวจการยึดติดของวัสดุ ถ้าพบว่าวัสดุเคลือบหลุมและร่องฟันมีการหลุดไป ให้ทำการเคลือบซ้ำ ถ้ามีการผุใต้วัสดุเคลือบหลุมและร่องฟัน หรือด้านประชิดของฟัน ต้องทำการรักษาด้วยการบูรณะที่เหมาะสม
ที่มา ทพญ.ศันสนีย์ ตีระลัภนานนท์
งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี