นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือ?

Volume
ฉบับที่ 20 เดือน พฤษภาคม 2558
Column
Believe it or not
Writer Name
ผศ.พญ.รัชนี แซ่ลี้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือ?

สภาวะอากาศเมืองไทยในปัจจุบันสามารถทำให้เกิด Heat Stroke หรือภาวะลมแดดได้ คือภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเร็วเกินไป โดยมีอุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส นับว่าเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิตมีผลทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายผิดปกติ ได้แก่ สมองบวม ปอดอักเสบรุนแรง (ไม่ใช่จากการติดเชื้อ) หัวใจและการไหลเวียนล้มเหลว ตับวาย ไตวาย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลาย

Heat Stroke แบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบบ classical มักใช้เวลา 2-3 วัน มักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนบนเตียง ไม่สามารถดื่มน้ำได้ทันกับอากาศร้อน และแบบ exertional  มักเกิดในคนที่ต้องออกแรงมาก  ๆ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน เช่น ฝึกทหาร นักกีฬากลางแจ้ง คนงานที่ทำงานกลางแดด โดยมีอุณหภูมิกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้

อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือ?

อาการของผู้ป่วย Heat Stroke ได้แก่ สับสนวุ่นวาย ชัก หมดสติ หายใจเร็ว หอบ เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ และช็อก อาจมีท้องเสียอาเจียนร่วมด้วยได้ หากได้รับการช่วยเหลือช้าผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต

การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วย Heat Stroke  ต้องรีบนำผู้ป่วยออกจากสภาพอากาศที่ร้อนไปอยู่ในที่เย็นขึ้น โทรตามรถพยาบาล ถอดเสื้อผ้าให้มากที่สุดเพื่อให้ผิวหนังระบายความร้อนได้ ใช้ผ้าเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามข้อพับ ซอกคอเพื่อลดอุณหภูมิ (ห้ามนำผู้ป่วยไปแช่ในอ่างน้ำแข็ง) หากผู้ป่วยยังพอรู้ตัวให้ดื่มน้ำให้มากที่สุด (1-2 ลิตรใน 1   ชั่วโมง) หากผู้ป่วยหมดสติต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ซึ่งต้องรอรถพยาบาลมาถึง และห้ามให้ทานยาลดไข้พวก aspirinหรือ acetaminophen (พาราเซตามอล) หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยหายใจหรือหากหัวใจหยุดเต้นให้ช่วยชีวิตเบื้องต้นขั้นพื้นฐาน

เนื้อหาภายในฉบับที่ 20