ฉบับที่ 14

นิตยสาร @Rama : ดูแลทารกอย่างไรเมื่อกลับบ้าน
บทบรรณาธิการ: 

ผ่านพ้นกันไปอีกเดือนนึงแล้วนะค่ะ

เชื่อเหลือเกินว่า คุณผู้อ่านที่อยู่ในวัยทำงาน คงได้พักกันให้หายเหนื่อยเพื่อชาร์จพลังให้กับตัวเองมาตลอดทั้งเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม และเผลอแว่บเดียวก็จะครบครึ่งปีกันแล้ว คุณผู้อ่านท่านใดที่คิดทำสิ่งใดไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้วได้ลงมือทำแล้วก็ขอให้สำเร็จกันนะคะ ส่วนท่านใดที่ยังไม่ได้ลงมือทำ ก็ขอให้ได้ลงมือทำจนสำเร็จในปีนี้กันนะคะ

เมื่อเดือนก่อน ทีมงานในกองบรรณาธิการท่านหนึ่งได้ให้กำเนิดลูกน้อยตัวเล็ก ๆ ออกมา หน้าตาจิ้มลิ้ม พาลทำให้อดคิดไม่ได้เลยว่า ชื่อ “ฟ้าใส” คงเป็นชื่อที่ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ชื่นใจ และมีฟ้าใสดังเช่นชื่อจริง ๆ พวกเราเองก็อดคิดไม่ได้ว่า เอ๊ะ..เมื่อน้องคลอดออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการเลี้ยงดูแลลูก ที่เพิ่งคลอดกันอย่างไรเมื่อกลับบ้าน?

ทำให้เราอยากนำเสนอเรื่องราวการเลี้ยงดูแล ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่าน ที่ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะดูแลลูกน้อยที่เพิ่งเกิดได้เป็นอย่างดีและถูกต้องหรือเปล่า ... ฉบับนี้เราติดตามกันดีกว่าค่ะ

ต่อกันที่ อาหารการกินของลูกน้อยที่ยังเป็นเบบี๋ จะมีวิธีการจัดอาหารอย่างไรให้เหมาะสมในลูกน้อย ฉบับนี้น้องแพรวพาชิมมีมาฝากกันค่ะ

เช่นเคยกับความเชื่อที่ทุกท่านคาดไม่ถึงที่ว่า “ป้อนกล้วยในเด็กแรกเกิดเสี่ยงต่อปัญหาลำไส้จริงหรือไม่?” แค่ฟังคำถามก็คงอยากจะรู้คำตอบกันแล้วล่ะสิ รีบพลิกไปหน้าคอลัมน์ Believe it or not? กันเลยค่ะ

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เมื่อเข้าสู่วัยเรียนก็มักจะมีปัญหาให้พ่อแม่ปวดหัวอยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ ..อย่างชอบไปเล่นน้ำแล้วว่ายน้ำไม่แข็ง จนอาจจมน้ำได้ แล้วจะทำอย่างไรกันดีเมื่อจมน้ำ เรามีวิธีมาแนะนำกันในคอลัมน์ Varieties Corner ค่ะ

ส่วนครอบครัวใดที่ประสบปัญหาว่า คุณลูกเมื่อโตเป็นวัยรุ่นแล้วมักมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หัวแข็ง ไม่ค่อยมีสมาธิ ติดเกมส์ ไม่ค่อยสนใจการเรียน และมักมีปัญหาใช้กำลัง ปัญหาความรุนแรง คอลัมน์ Backstage เรามีข้อมูลคำแนะนำดีดีจากคุณหมอด้านจิตเวชมาฝาก เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงและพลุ่งพล่านน่าดูเชียวค่ะ

พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ
ผศ.พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค บรรณาธิการ @Rama

เนื้อหาภายในฉบับที่ 14