นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ทําอย่างไรให้ไร้ “ฝ้า”

Volume
ฉบับที่ 7 เดือน มีนาคม 2556
Column
Beauty Full
Writer Name
รศ.พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ทําอย่างไรให้ไร้ “ฝ้า”

คุณผู้หญิงหลายๆ คน คงจะรู้สึกกังวลกับปัญหาต่างๆ บนใบหน้ามากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องสิว กระ รอยดํา รวมถึงปัญหาฝ้าบนใบหน้า คอลัมน์ Beauty-Full ฉบับนี้ มาทําความเข้าใจกับ “ฝ้า” กันเถอะ

ทําอย่างไรให้ไร้ “ฝ้า”

ลักษณะของฝ้า

ฝ้า มีลักษณะคือเป็นรอยสีน้ำตาลดําที่มักเกิดบนใบหน้า บริเวณแก้ม หน้าผาก จมูก บริเวณเหนือริมฝีปากและคาง บางครั้งฝ้าอาจลามมาบริเวณคอและปลายแขนด้านนอกที่ถูกแสงแดด ปัญหาของฝ้ามักจะพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมักพบในหญิงสาวถึงวัยกลางคน

ทําอย่างไรให้ไร้ “ฝ้า”

สาเหตุการเกิดฝ้า

ฝ้าเกิดจากการเพิ่มจํานวนของเซลล์ที่สร้างเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนัง ซึ่งนอกจากจะมีจํานวนเพิ่มขึ้นแล้ว เซลล์เหล่านี้ยังขยันทํางาน สร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดปื้นน้ำตาล-ดําขึ้นปัจจัยสําคัญที่ทําให้เกิดฝ้า

1) แสงแดด เป็นปัจจัยสําคัญที่สุดในการเกิดฝ้า โดยแสงอัลตร้าไวโอเลต ชนิดเอ ชนิดบี และแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะสามารถกระตุ้นให้ฝ้าดําคล้ำขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำอยู่ได้บ่อยๆ

2) ฮอร์โมน เช่น ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกําเนิดจะมีโอกาสเกิดฝ้าได้มาก ผู้ที่เป็นฝ้าอาจสังเกตว่าหน้าคล้ำลงในระยะใกล้มีประจําเดือน เนื่องจากผลของฮอร์โมนนั่นเอง

3) สารเคมีบางอย่าง เช่น สี น้ำหอมที่มีอยู่ในเครื่องสําอาง

4) ความเครียด รวมทั้งการอดนอน

วิธีการดูแลเมื่อเป็นฝ้า

วิธีการดูแลตนเมื่อเป็นฝ้า ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดฝ้า เช่น เลี่ยงการรับประทานยาคุมกําเนิดและเครื่องสําอางที่สงสัย ที่สําคัญคือการหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะในช่วง 10.00 –  15.00 น. หากจําเป็นต้องสัมผัสกับแดด ควรป้องกันผิวด้วยหมวกปีกกว้าง กางร่ม ร่วมกับการใช้ยากันแดดช่วย

การรักษาฝ้า

ในด้านของการรักษาฝ้า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการรักษาฝ้าให้หายขาดเป็นเรื่องยาก และฝ้าเมื่อเป็นแล้วมักจะเป็นๆ หายๆ ยาที่รักษาฝ้าเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีที่ได้ผล 100% หรือทําให้ฝ้าหายขาด และมักจะต้องใช้ยาหลายๆ ชนิดร่วมกัน

ตัวยาที่ใช้รักษา

  1. ยาที่มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี โดยไม่ทําลายเซลล์สร้างเม็ดสี เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งยาที่กล่าวมานั้น สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่อนุญาตให้ผสมและจําหน่ายอยู่ในเครื่องสําอางทั่วไป เพราะถือว่าเป็นยาที่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง เช่น เกิดอาการระคายผิว หน้าแดง ไวต่อแสงแดด หน้าบาง สิวขึ้น ขนขึ้น หรือเส้นเลือดฝอยขึ้น จึงควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผิวหนังเท่านั้น
  2. สารที่มีคุณสมบัติลดการสร้างเม็ดสีในหลอดทดลอง ที่มีฤทธิ์อ่อนกว่ายาในกลุ่มเเรก แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่งมีผสมอยู่ในเครื่องสําาอางต่างๆ เช่น สารกรดโคจิค ไลโคไรซ์ อาร์บูติน และวิตามินซี เป็นต้น
  3. สารอื่นๆ เช่น กรดอะซีเลอิก กลุ่มกรดไฮดรอกซี่ ทั้งเอเอชเอ และบีเอชเอ การทําทรีทเมนต์ ใช้ร่วมในการรักษาฝ้าได้ แต่ต้องระวังเพราะมีความเป็นกรด จึงอาจระคายผิว และอาจทําให้แสบคัน เมื่อใช้ความเข้มข้นสูงได้

คําแนะนํา และการรักษา

คําแนะนําในการรักษาฝ้า ไม่ควรซื้อยาฝ้าใช้เอง เพราะอาจทําให้เกิดผลข้างเคียงสูงได้ หากใช้ไม่ระมัดระวังและในระหว่างรักษาฝ้า ควรพบแพทย์เป็นระยะ ตามคําแนะนํา เพื่อปรับยาให้เหมาะสม นอกจากนี้ไม่ควรหยุดทายาฝ้าทันที เพราะฝ้าอาจกลับคล้ำขึ้นอีกได้ ควรให้แพทย์แนะนําการปรับหรือลดยาให้เหมาะสม

แนวทางการรักษาที่ดีที่สุดคือ การมาพบแพทย์ผิวหนัง และควรมาพบแพทย์ผิวหนังตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพราะการรักษาต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่องและติดตาม

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 7