นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ไวรัสโรตาในเด็ก

Volume
ฉบับที่ 5 เดือน พฤศจิกายน 2555
Column
Health Station
Writer Name
รศ.พญ.สุพร ตรีพงษ์กรุณา หัวหน้าหน่วยทางเดินอาหาร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไวรัสโรตาในเด็ก

ขึ้นชื่อว่า ‘ไวรัส’..ย่อมมีอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย..ซึ่งไม่มากก็น้อย ย่อมต้องได้รับการรักษา เฉกเช่นเดียวกันกับไวรัสที่ชื่อ ‘โรต้า’ (Rota Virus)

ไวรัสโรตาในเด็ก

โรต้า ไวรัส มักพบได้ในเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อเด็กรับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป จะทําให้เกิดโรคท้องเสียโรต้า โดยเมื่อเด็กได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปในทางเดินอาหาร เชื้อจะทําให้เยื่อบุลําไส้เล็กบาดเจ็บ ทําให้เซลล์เยื่อบุลําไส้เล็กสร้างน้ำย่อยได้น้อยลง ทําให้การย่อยนมและอาหารลดลงการดูดซึมน้ำลดลง ขณะเดียวกันลําไส้เล็กมีการหลั่งเกินร่วมด้วย ทําให้เกิดท้องเสีย เมื่อเซลล์เยื่อบุลําไส้สร้างเสริมขึ้นมาซ่อมแซมซึ่งมักจะเกิดขึ้นใน 3-5 วัน อาการท้องเสียก็จะหายไป

ไวรัสโรตาในเด็ก

อาการทางคลินิก

ผู้ป่วยมีไข้ อาเจียนมากในวันแรก ตามด้วยท้องเสีย ถ่ายเหลวปนน้ำ อุจจาระมักมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาการอาเจียนและท้องเสียทําให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำ อาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหายน้ำมาก ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม หากขาดน้ำรุนแรงมากขึ้น ก็จะทําให้เด็กซึม ปัสสาวะน้อย หากยังไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอันตรายจนอาจช็อกได้ อาการท้องเสียมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-7 วัน

การรักษา

การรักษาที่สําคัญที่สุดคือ การแก้ไขภาวะขาดน้ำ โดยการให้ผงเกลือแร่ โอ.อาร์.เอส. และการให้อาหารที่เหมาะสม โดยให้ครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆ เพื่อให้ลําไส้สามารถย่อยและดูดซึมได้ทัน ไม่จําเป็นต้องงดนมหรืองดอาหาร การให้นมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโทสอาจช่วยได้ในทารก โดยเฉพาะย่างยิ่งรายที่อาการรุนแรงหรือเด็กขาดอาหารอยู่ก่อน ในเด็กที่อายุเกิน 6 เดือน ควรให้อาหารอ่อนย่อยง่ายร่วมด้วย เช่น โจ๊กไก่ หรือโจ๊กหมู เป็นต้น ส่วนการกินยาปฏิชีวนะนั้นไม่มีประโยชน์เพราะไม่สามารถกําจัดเชื้อไวรัสได้ ส่วนยาลดอาการท้องเสียนั้นไม่มีความจําเป็น และบางชนิดอาจมีอันตรายต่อเด็กเล็ก หากใช้ควรเลือกยาชนิดที่ไม่มีผลข้างเคียงหรือมีน้อยมาก ทั้งนี้จุลินทรีย์สุขภาพหรือโปรไบโอติกส์มีเพียงบางสายพันธุ์ที่มีผลการศึกษาว่าช่วยให้อาการท้องเสียหายเร็วขึ้นได้บ้าง

กลุ่มเสี่ยงสําคัญ

กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ เป็นช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด เด็กที่อยู่รวมกันในสถานเลี้ยงเด็กและเด็กที่ใกล้ชิดกับเด็กที่ท้องเสียจากเชื้อนี้ ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโรต้าแล้วจึงไม่น่ากังวล

วิธีการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยง

เนื่องจากเชื้อติดต่อจากคนสู่คน โดยการรับประทานเชื้อเข้าไป การป้องกันอาจจะทําได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนเตรียมหรือก่อนรับประทานอาหารหรือนม หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ที่มีอาการท้องเสีย อีกวิธีหนึ่งในการป้องกัน คือ การรับวัคซีนโรต้า 

ไวรัสโรตาในเด็ก

ข้อมูลวัคซีนโรต้า

เป็นวัคซีนชนิดหยอด ในขณะนี้มี 2 ชนิดในประเทศไทย เริ่มหยอดครั้งแรกอายุไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ ครั้งต่อไปให้ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หยอดทั้งหมด 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ดังนี้

ชนิดแรก หยอดทั้งสิ้น 2 ครั้ง  ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 6 เดือน

ชนิดที่สอง หยอดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายควรให้เสร็จก่อนอายุ 8 เดือน

ประสิทธิภาพของวัคซีน

วัคซีนลดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจากเชื้อโรต้าไวรัสได้ 80-90% ลดการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากท้องเสียได้ประมาณ 80-95% โดยรวมป้องกันท้องเสียจากเชื้อโรต้าได้ถึง 70%

ผลข้างเคียงของวัคซีน

วัคซีนมีความปลอดภัยสูง มีอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น ไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน ซึ่งไม่รุนแรง มีรายงานการเกิดภาวะลําไส้กลืนกันหลังรับวัคซีนได้บ้างหลังรับวัคซีนยังมีโอกาสเกิดโรคได้อยู่บ้าง แต่เมื่อติดเชื้อไวรัสโรต้าและเกิดโรคอุจจาระร่วง อาการมักจะไม่รุนแรง

 
ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 5