ฆ่าตัวตาย

ถ้าคุณกำลังคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย อ่านตรงนี้ก่อน …

ถ้าตอนนี้คุณกำลังคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายอยู่ ผมอยากให้คุณอ่านหน้านี้สักนิด ผมไม่ได้พูดเพื่อจะเกลี้ยกล่อมหรือบอกว่าอย่าคิดแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น แต่ผมรู้ว่าคุณมีความทุกข์ใจมาก ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ คนเราคงไม่มีใครคิดอยากตาย
 
ผมอยากจะอยู่ใกล้ๆ คุณ รับฟังปัญหาของคุณ อยากรู้ว่าอะไรหนอที่ทำให้คุณปวดร้าวขนาดนี้ มีอะไรที่ผมจะช่วยได้บ้าง แต่เนื่องจากทำไม่ได้ ผมจึงขอใช้ข้อความเหล่านี้สื่อถึงความปรารถนาดีของผมแทน สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ผมจะพยายามพูดให้สั้นที่สุด ผมอยากให้คุณอ่านให้จบ
 
ขอเวลาคุยกับผมสักนิดหนึ่งก่อน คงไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่า อยู่ดีๆ คงไม่มีใครคิดอยากตาย คนเราคิดถึงการตายหรือคิดไม่อยากอยู่ ก็ต่อเมื่อเกิดความทุกข์ทรมานใจจนสุดที่จะทนอีกต่อไปได้ คุณไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ คนไม่สู้ ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ขณะนี้คุณกำลังทุกข์ใจมาก ไม่รู้จะทำยังไงอีกแล้ว ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง
 
เรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา หลายๆ คนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย อย่าไปคิดมัน ทำใจเถอะ ฯล แต่สำหรับเราแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมีความหมายกับเรามาก เราพยายามทำใจ ไม่คิดแล้ว แต่อะไรๆ ก็ไม่ดีขึ้น
 
ถ้าสู้ได้เราคงจะสู้ แต่มาถึงจุดนี้ เรารับต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ผมเชื่อว่าความปวดร้าวที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราคิดอยากตาย ดังนั้น ถ้ามีวิธีที่จะทำให้เราคลายความทุกข์ทรมานใจนี้ลงได้ บางทีเราอาจรู้สึกดีขึ้นก็ได้
 
ผมมีข้อคิดอยู่สองสามข้อ ที่อยากให้คุณลองอ่านดู
 
ความทุกข์ ความปวดร้าวใจที่เกิดขึ้น แม้จะมากเพียงใด ในที่สุดคนเราจะผ่านพ้นความรู้สึกเช่นนี้ไปได้ รวมทั้งความทุกข์ที่คุณกำลังประสบอยู่เช่นกัน ขอให้กำลังใจว่ามันจะไม่อยู่กับคุณตลอดไป
 
ผมอยากจะให้คุณให้เวลากับตัวเองอีกสักนิด อยากให้บอกกับตัวเองว่า “ฉันจะลองอยู่ต่อไปอีก 1 วัน” หรือ 3 วัน หรือ 1 อาทิตย์
 
ผมเข้าใจว่าตอนนี้คุณไม่คิดที่จะอยู่ต่อไปอีกแล้ว แต่ … ความคิด ความรู้สึก กับการกระทำ เป็นคนละเรื่องกัน เหมือนกับเวลาที่เพิ่งผ่านไปนี้ที่คุณคิดฆ่าตัวตาย แต่คุณก็ไม่ได้ทำอะไรลงไป คุณได้ผ่านเวลามาขณะหนึ่งแล้ว ลองให้เวลาตัวเองสักนิด ดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น
 
หลายครั้งที่คนเราอยากตายเพราะรู้สึกเจ็บปวดจากการกระทำของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เรารัก รู้สึกตัวเราไร้ค่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม การตกอยู่ในความทุกข์ทำให้เราจมอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นแต่ความล้มเหลว ความไร้ค่าของตนเอง
 
ถึงตอนนี้ ผมอยากจะให้คุณหายใจเข้าออกช้าๆ
 
หายใจเข้า … หายใจออก … หายใจเข้า … หายใจออก …หายใจเข้า … หายใจออก …
 
ถึงตอนนี้ ขอให้คุณรู้สึกว่าร่างกายผ่อนคลายลง จิตใจสงบเย็นลง
 
เอาละ … ลองมองว่าในช่วงที่ผ่านมาในชีวิตของเรา เราได้พบกับเรื่องอะไรที่เรารู้สึกดีมากๆ มีเหตุการณ์อะไรที่เรารู้สึกอบอุ่นใจ
 
คิดต่อไปอีกนิดว่าเราเป็นเราได้ทุกวันนี้เพราะการเกื้อกูลของใครบ้าง เชื่อว่าในชีวิตของคุณคงต้องเคยพบคนที่ดีต่อคุณ คนที่ทำให้คุณมีความรู้สึกดีๆ ลองนึกดูว่า ณ นาทีนี้ มีใครที่คุณพอจะเปิดอกพูดคุยกับเขาถึงความทุกข์ใจของคุณได้ มีใครที่ยินดีรับฟังคุณบ้าง เชื่อไหมว่า บางคนแม้จะไม่รู้จักกัน เขาก็ยังปรารถนาดีต่อกันได้
 
ผมอยากให้คุณโทรไปที่ศูนย์เหล่านี้ เราพร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะช่วยเหลือคุณทุกเมื่อ อย่าปล่อยให้ความปวดร้าวใจมันทับถมต่อไปอีกเลย ปัญหามันหนักเกินกว่าที่คุณจะรับต่ออีกแล้ว ให้เราได้ช่วยคุณเถอะ
 
ผมพบว่าคนเราจะผ่านพ้นนาทีวิกฤตินี้ได้ ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ “เขาเปิดใจยอมรับการช่วยเหลือจากคนอื่น เขาให้โอกาสคนอื่นช่วยเขา”
 
ผมดีใจที่คุณได้อ่านที่ผมกล่าวมาโดยตลอด เปิดโอกาสให้ตัวเองเถอะครับ คุยกับทุกคนที่คุณคิดว่าเขาช่วยได้ จะกี่คนก็ได้ ยิ่งได้คุย คุณก็จะได้พบข้อคิดที่ดีๆ มากขึ้น
 
โทรไปที่เบอร์ข้างล่างนี้นะครับ 
  1. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง.
  2. สะมาริตันส์  โทร (02) 713-6793  สายด่วนคลายทุกข์ เปิดให้บริการฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 22.00 น. 

เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร

เราขอชื่นชมที่คุณอยากจะช่วยเหลือเขา การช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง คนเราจะเห็นน้ำใจ เห็นความจริงใจของกันและกันก็ในยามที่เราเผชิญกับความทุกข์ทรมรู้สึกท้อแท้ต้องการกำลังใจ อย่างที่เขากำลังประสบอยู่ในขณะนี้
 
เราขอมอบคำแนะนำต่อไปนี้ให้แก่คุณ โดยหวังว่าจะมีส่วนให้คุณคลายความกังวลใจว่าจะช่วยเขาอย่างไรลงได้บ้าง
 
ขอให้สนใจกับสิ่งที่เขาพูดอย่างจริงจัง อย่าคิดว่าเขาพูดเล่นๆ เรียกร้องความสนใจ หรือเขาคงไม่ทำหรอก เรื่องไม่เห็นจะรุนแรงอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาจะรุนแรงมากหรือน้อย เราตัดสินจากความเห็นของเราไม่ได้ แต่ละคนก็เห็นปัญหาต่างกัน จริงๆ แล้วไม่ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาใหญ่หรือรุนแรงแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่ที่เขามองปัญหาอย่างไรต่างหาก
 
การพยายามฆ่าตัวตายเป็นการร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เราอาจคิดว่าการที่เขาฆ่าตัวตายแสดงว่าเขาได้ตัดสินใจแน่นอนแล้ว คงเปลี่ยนใจเขายาก แต่จริงๆ แล้วจากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่คนที่ฆ่าตัวตายจะมีความรู้สึกสองจิตสองใจจริงๆ แล้วเขาอยากมีชีวิตอยู่ แต่เขาทนความปวดร้าว ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ไหว ถ้าความทุกข์นี้ลดลงหรือได้รับการช่วยเหลือหรือมีคนชี้แนะ ความคิดอยากตายมักหายไปในที่สุด
 
ถ้าเขาบอกคุณ หรือคุณเห็นว่าเขามีท่าทีจะฆ่าตัวตาย อย่ารีรอ เขาอยู่ในช่วงวิกฤติ การลังเลใจที่จะพูดคุยกับเขาเรื่องที่เขาทุกข์ใจ หรือคิดว่าไม่อยากทำให้เขากระเทือนใจอีก บางทีกลับเป็นเหมือนเราไปปิดกั้นทำนบไว้
 
ในช่วงเวลาที่ทุกข์ใจเช่นนี้ เขามักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ ไม่มีใครจริงใจกับเขา หรือไม่อยากรบกวนคนอื่นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เราควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขา มากกว่าที่จะรอให้เขาร้องขอออกมาเอง เพราะบางครั้งเขาไม่พูด แม้ในขณะนั้นจิตใจเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด
 
ช่วงนี้เขาจะปวดร้าว อ่อนไหว กลัวไปหมด จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็กลัวเขาจะว่าเรื่องไม่เห็นมีอะไรเลย กลัวจะยิ่งถูกตำหนิ กลัวการถูกปฏิเสธ รู้สึกไม่มีใครเข้าใจเขาอีกแล้ว ฯลฯ สภาพจิตใจของเขาตกต่ำลงมาก การช่วยเหลือของเรา ณ ขณะนี้ คือ การช่วยให้เขาคลายจากความทุกข์ใจเฉพาะหน้านี้ไปก่อน
 
ท่าทีในการสนทนาเป็นสิ่งสำคัญ ควรฟังด้วยท่าทีพร้อมที่จะรับในสิ่งที่เขาเล่า ไม่ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่มีท่าทีด่วนไปตัดสินว่าเขาไม่น่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฟังด้วยความเยือกเย็น ไม่ลนลาน หรือวิตกกังวล แสดงความสนใจอารมณ์ความรู้สึกของเขา บางทีการแสดงความห่วงใยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชงโอวัลตินให้ เอาน้ำเย็นให้ ก็ทำให้เขารู้สึกสบายใจขึ้นได้จากการรู้สึกว่าเราแคร์เขา
 
เราอาจจะอึดอัดใจ ไม่รู้จะคุยอะไร ไม่รู้จะพูดอย่างไรให้เขาหายทุกข์ใจหรือเปลี่ยนใจ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การฟัง” ไม่ต้องไปมัวคิดว่าจะพูดอะไร หรือหวังว่าจะมีคำคมที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจ มีกำลังใจขึ้นมา เพียงแต่เรามีความจริงใจ มีความปรารถนาดีที่จะช่วยเขา จะเข้าใจเขา ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะออกมาเองตามธรรมชาติ เขารับรู้ได้ถึงความจริงใจของเรา เปิดโอกาสให้เขาได้พูด พยายามให้เขาเล่าเรื่องให้เราฟัง รับฟังโดยมองตามมุมมองของเขา อย่าเพิ่งไปขัดหรือแย้งเขา (ถ้าเขาคิดเหมือนเรา เขาก็คงไม่เป็นอย่างตอนนี้)ให้เขารู้ว่าเราพร้อมเสมอที่จะรับฟังเขา เราอยู่ข้างเคียงเขา
 
ในคนที่ยังไม่ได้พยายามฆ่าตัวตาย แต่เราสงสัยว่าเขาอาจจะทำ เพราะมีท่าทีส่อหลายอย่าง เช่น พูดเป็นนัยๆ ว่าเราอาจไม่ได้เจอกันอีก หรือบอกว่าเราคงไม่ต้องห่วงเขาอีกแล้ว หรืออีกหน่อยทุกคนคงจะได้สบายใจกันแล้ว ฯลฯ ขอให้ถามดูว่าเขามีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายไหม มักคิดกันว่ากับคนที่กลุ้มใจอยู่แล้ว การที่เราไปถามอย่างนี้เท่ากับไปชี้โพรงให้กระรอก แต่จริงๆ แล้วการถามกลับเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้พูด ออกมาตรงๆ ถ้าคนที่ไม่คิดอยู่แล้วเขาก็ไม่คิด คำพูดคำเดียวของเราไม่ได้ทำให้เขาคิดขึ้นมา
 
การถามอาจเริ่มจากคำพูดกว้างๆ ว่า “บางครั้งเคยกลุ้มใจมากๆ จนถึงกับคิดไม่อยากอยู่ไหม (คิดอยากไปให้พ้นๆไหม)” ถ้าเขาบอกว่าเคยเหมือนกันก็ถามลึกลงไปว่า คิดยังไง … คิดจะทำยังไง … ไปจนถึงคิดบ่อยไหม … คิดครั้งสุดท้ายเมื่อไร …
 
การถามเรื่องนี้ทำให้เขาได้ระบายความรู้สึกลึกๆ ออกมา เขารู้สึกว่าเราห่วงเขาจริง ไม่ใช่แค่คุยแล้วปลอบใจให้มันผ่านๆ ไป แต่เราเห็นว่าปัญหาของเขาเป็นเรื่องสำคัญและอยากช่วยเขาจริงๆ ขณะที่เขาเล่าเรื่องความคิดอยากตายนั้น ความรู้สึกคับข้องใจ ความทรมานใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มักจะพรั่งพรูตามออกมาเราจะเข้าใจเขามากขึ้น และเขาก็รู้สึกดีขึ้นด้วย
 
ถ้าดูแล้วเขาคิดอยากตายค่อนข้างมาก อย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว ยิ่งถ้าเราดูแล้วเรื่องราวต่างๆ ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ยิ่งไม่ควรไว้วางใจ แม้เขาจะบอกว่าสบายใจแล้วก็ตาม เก็บข้าวของที่เขาอาจใช้เป็นเครื่องมือฆ่าตัวตายไว้ให้หมด
 
ข้อคิดคือ “ทำมากดีกว่าทำน้อย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง”

อย่ารีรอ อย่าลังเล ไม่มีคำว่าความลับ

ในความรู้สึกสองจิตของใจของเขานั้น ใจหนึ่งเขาก็ไม่อยากจะให้ใครรับรู้เรื่องที่เขาเจ็บช้ำใจเรื่องที่เขาอับอาย แต่ส่วนลึกแล้วเขาต้องการความช่วยเหลือ การที่เราร่วมรับรู้ปัญหาของเขาเป็นการช่วยเหลือเขาไประดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเราดูแล้วเราไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาของเขาได้ ไม่รู้จะช่วยอย่างไร อย่าลังเลใจที่จะปรึกษาคนอื่น ให้รีบปรึกษาคนรู้จักที่เราคิดว่าไว้ใจได้ น่าจะให้คำแนะนำ หรือช่วยเขาได้ ช่วยกันหาทางว่าจะช่วยเขายังไง ในบางครั้งเราช่วยเขาได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเรื่องของเขาไปหมด หรือคนที่เราปรึกษาอาจไม่รู้ว่าคนๆ นั้นคือใคร
 
ถ้าไม่รู้จะปรึกษาใครจริงๆ หรืออึดอัดใจที่จะเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง ให้โทรปรึกษาหน่วยให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ (หมายเลขโทรศัพท์อยู่ท้ายเรื่อง) เล่าเรื่องให้เขาฟัง ถ้าไม่มั่นใจอย่าพยายามแก้ไขปัญหาให้เขาตามลำพัง ให้ปรึกษาคนอื่น อย่างน้อยก็ปรึกษาศูนย์ฮอทไลน์ การแก้ปัญหาคนเดียวเราอาจมองอะไรไม่รอบด้านหรืออาจมองผิดพลาดไปได้ การได้คุยกับคนที่มีประสบการณ์กับเรื่องเหล่านี้มามาก จะทำให้เราได้คำแนะนำหรือแนวทางในการช่วยเหลือเขาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ
 

เป้ อารักษ์ กับการฟังที่จะเปลี่ยนชีวิตที่เหลือของเขา

 

- – TIPS – -

  1. ให้เวลารับฟังเขา เปิดโอกาสให้เขาพูด ไม่ต้องกังวลว่าจะพูดอะไร หน้าที่ตอนนี้คือรับฟังให้มาก
  2. ท่าทีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เขาพูดหรือไม่พูด
  3. ฟังด้วยความพยายามที่จะเข้าใจความทุกข์ใจ และปัญหาในมุมมองของเขา
  4. ไม่รีบให้คำแนะนำ หรือบอกว่าอย่าคิดอย่างนี้ หรือหาเหตุผลมาหักล้างความคิดของเขา ยิ่งทำเขายิ่งไม่อยากเล่า
  5. ดูว่าเขามีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายไหม อย่ากลัวที่จะถาม ถามความถี่บ่อย วิธี ความคิดครั้งสุดท้าย
  6. อยู่ใกล้เขา ให้เขารับรู้ว่าเราพร้อมที่จะช่วยเขาตลอดในช่วงนี้
  7. เก็บของมีคมหรือของที่เห็นว่าเขาอาจใช้ทำร้ายตัวเอง
  8. ถ้าไม่ได้อยู่กับเขา บอกเขาว่าเราจะหมั่นโทรมาเช็ค ถ้าเขารู้สึกไม่สบายใจให้รีบโทรมาหาเราทันที
  9. ถ้าไม่รู้จะช่วยอย่างไรให้ปรึกษาคนอื่น
  10. ถ้าไม่รู้จะปรึกษาใครให้ปรึกษาหน่วยบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์
  11. ข้อควรจำ “ทำมากดีกว่าทำน้อย”

เข้าใจจิตใจผู้ฆ่าตัวตาย

การศึกษาของศาสตราจารย์ Schneidman พบว่าคนเราไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง จริงๆ แล้ว มีหลายๆ สิ่งเกิดขึ้นกับเขา รวมๆ กันจนถึงจุดๆ หนึ่งที่เขาทนรับต่อไปอีกไม่ได้เขาได้เสนอปรากฏการณ์ทางจิตใจที่มักพบในผู้ฆ่าตัวตาย ว่ามีดังต่อไปนี้
  1. จุดมุ่งหมายของเขา คือเพื่อหาทางออกต่อปัญหา
  2. เป้าหมาย คือ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้อะไรอีกต่อไป
  3. ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ความทุกข์ทรมานใจที่ยากจะทนได้
  4. ปัจจัยบีบคั้น (stressor) ได้แก่ ความผิดหวัง ไม่สมหวัง
  5. ภาวะอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง
  6. ความรู้สึกภายใน ได้แก่ ความรู้สึกสองจิตสองใจ
  7. สภาวะความคิดอ่าน(cognitive state) ได้แก่ คือความคิดหรือการมองสิ่งต่างๆ คับแคบลง
  8. พฤติกรรม ได้แก่ การพยายามหนีไป ณ ขณะนั้น
  9. พฤติกรรมที่มีกับผู้อื่น คือ การบ่งบอกถึงเจตนาสิ้นสุดชีวิต
  10. สิ่งที่พบบ่อย ได้แก่ รูปแบบการปรับตัวต่อปัญหาที่เป็นเช่นนี้มาตลอด

คำอธิบายเพิ่มเติม

  1. การฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย มันเป็นวิธีการเป็นทางเลือกที่เขาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากลำบาก ความกดดัน การที่จะเข้าใจว่า การฆ่าตัวตาย เป็นอย่างไรนั้น จะต้องเข้าใจว่าการกระทำของเขา เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอะไร
  2. เป้าหมายของคนที่ทำ ไม่ใช่เพื่อการตาย หากแต่เพื่อหยุดการรับรู้ หยุดความทุกข์ใจ ความปวดร้าว การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นขณะที่ความคิดเช่นนี้แว๊บขึ้นมา ในขณะที่ผู้ป่วยมีปัจจัย 3 ประการที่พร้อม คือ ความทุกข์ทรมานใจอย่างมาก การมองสิ่งต่างๆ ตีบแคบลง และการมีสิ่งเกี่ยวข้องกับ การฆ่าตัวตาย อยู่ใกล้ตัว
  3. การฆ่าตัวตาย เป็นเพื่อมุ่งไปสู่การหยุดการรับรู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการหนีไปจากความทุกข์ทรมานใจ
  4. ความต้องการอาจมีหลายๆ ประการ การฆ่าตัวตาย อาจดูเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล แต่ไม่มีการฆ่าตัวตายไหนที่เป็นไปโดยไม่ต้องการอะไรมาเกี่ยวข้อง หากความต้องการของเขาได้รับการตอบสนอง การฆ่าตัวตาย ก็จะไม่เกิด
  5. เรามักจะเคยชินกับความคิดแบบ dichotomous ตัวอย่างเช่น คำตอบต่อปัญหาถ้าไม่ถูก ก็ผิด ไม่ค่อยคิดว่าคำตอบนั้นเป็นได้ทั้งถูกและผิดในขณะเดียวกัน แต่จิตใจของคนเราจริงๆ แล้วมีได้แบบนั้น เราอาจจะทั้งรักและทั้งเกลียดในเวลาใกล้เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ในทำนองเดียวกัน คนที่ฆ่าตัวตายอาจเชือดคอตัวเองและใขณะเดียวกันก็เรียกให้คนช่วย

ความต้องการด้านจิตใจของผู้คิดฆ่าตัวตาย

  1. ผู้คิดฆ่าตัวตายต้องการความเห็นอกเห็นใจ และต้องการผู้เข้าใจในปัญหาและความรู้สึกของเขา แต่ไม่ต้องการถูกซ้ำเติมจากคนรอบข้าง
  2. ผู้คิดฆ่าตัวตายต้องการคนที่หวังดี ยินดีรับฟังและช่วยเหลืออย่างจริงใจ
  3. ผู้คิดฆ่าตัวตายต้องการระบายความทุกข์ออกมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การพูด เขียน ร้องไห้ หรือทำร้ายตนเอง
  4. ผู้คิดฆ่าตัวตายต้องการคนที่มีเวลาให้กับเขา ให้ความสนใจและเอาใจใส่ดูแล เนื่องจากเขาจะมีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเดียวดายมากกว่าปกติ
  5. ผู้ที่บางครั้งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เรียกร้องความสนใจ วุ่นวาย หวาดระแวง แสดงถึงความต้องการความเข้าใจเหตุผลของการกระทำ ท่าทีของผู้ช่วยเหลือที่มีต่อผู้คิดฆ่าตัวตาย ควรเป็นไปในลักษณะที่แสดงความเข้าใจถึง ความทุกข์ใจของเขา เห็นใจไม่ตัดสินถูกผิดต่อสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป การสนทนากับเขาควรทำในที่ที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว สนใจใส่ใความสะดวกสบายของเขาขณะสนทนา เขาจะรับรู้ความเห็นใจ ห่วงใย เอาใจใส่ของผู้ช่วยเหลือ ทำให้เกิดความไว้วางใจ สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ออกมาได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือพยายามปิดบัง

ทำไมคนเราถึงฆ่าตัวตาย

ธรรมชาติของสัตว์โลกย่อมรักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเป็นมนุษย์ซึ่งมีความคิดความอ่านมากกว่าสัตว์ทั้งปวง ความรักชีวิตย่อมมีมากกว่าสัตว์อื่นๆ แล้วทำไมคนเราถึงฆ่าตัวตายเล่า? คนเราทุกคนถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากตาย
ถ้าเขาคิดอยากตายแสดงว่าเขามีความปวดร้าวทรมานใจอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นมาจากปัญหาแตกต่างกันไป การที่เขาฆ่าตัวตายแสดงว่าเขาไม่เห็นทางออกอะไรอีกแล้วนอกจากการตาย เขารู้สึกทุกข์ทรมานใจอย่างมาก รู้สึกเจ็บปวดจนทนต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
 
การช่วยเหลือพวกเขาที่สำคัญที่สุดคือ การ “เปิดใจ” “รับฟัง” “รับรู้” ปัญหาหรือความทุกข์ใจของเขาคนที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างถึงที่สุด เขาต้องการคนที่เข้าใจ คนที่เขาสามารถระบายความทุกข์ใจได้ แค่ได้พูด ได้ระบายความกลัดกลุ้มใจกับคนที่เขาไว้ใจ คนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเขาอย่างเปิดใจกว้าง เขาก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นมาก มากจนความอยากตายเลือนไปจากความคิดคำนึงของเขา คนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะคิดพะวักพะวัน สองจิตสองใจ ใจหนึ่งก็อยากตาย ใจหนึ่งก็ห่วงญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด

คนที่คิดฆ่าตัวตายนั้นเป็นคนบ้าหรือเปล่า

เปล่า คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องบ้าหรือป่วยทางจิต คนที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นมักเป็นคนที่มีความเครียดมากและมักมีอาการซึมเศร้า อาการซึมเศร้านี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อคนเราเจอกับปัญหาในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้คนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช พวกเขาก็เหมือนเราๆ ท่านๆ ที่บางขณะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่มีความสุข ความคิดและการกระทำที่จะฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวัน ร่วมกับความรู้สึกที่ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สังคมเรามักไม่ค่อยยอมรับการเจ็บป่วยทางจิตเวช
 
คนที่มีความรู้สึกหรือคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมักจะกลัวถูกคนอื่นว่า “บ้า” เขาจึงลังเลที่จะร้องขอ ความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย

การถามถึงการฆ่าตัวตายจะกระตุ้นให้ผู้คิดฆ่าตัวตายนั้นลงมือกระทำจริงหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับวิธีพูด ถ้าพูดเกี่ยวกับอารมณ์ที่ทำให้เขาคิดฆ่าตัวตาย จะทำให้เกิดความเข้าใจและช่วยลดความเครียดของเขาลงได้มาก เพราะฉะนั้นการถามถึงการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะในคนที่ดูแล้วว่าเขายังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็จะเป็นการช่วยให้เขาได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่แย่ๆ และเกิดความเข้าใจความรู้สึกของตนเองมากขึ้น

อะไรที่ทำให้คนเรารู้สึกอยากตาย

ปกติแล้วคนเรามักจะจัดการกับปัญหาทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างดี แต่ถ้ามีสถานการณ์ที่ตึงเครียด สะสมมากขึ้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง วิธีการจัดการกับปัญหาแบบเดิมๆ ของเราก็อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ปัญหาหรือความเครียดในคนหนึ่งอาจจะไม่เป็นปัญหาเลยในอีกคนหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของคนคนนั้น และความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นคนเรายังมีวิธีจัดการกับปัญหาแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กันได้

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้รู้สึกอยากตายได้มีดังนี้

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเรื่องของ
  1. ความสัมพันธ์ ความเป็นอยู่ของตนและครอบครัว ภาพลักษณ์ งาน, การเรียน สถานะการเงิน
  2. สูญเสียคนที่เป็นที่รัก ความสัมพันธ์ที่มีค่ามากสำหรับเขา ความมั่นใจในตนเอง หรือ ผิดหวัง ตกงาน
  3. ถูกทำร้าย ร่างกาย อารมณ์ ทางเพศ ทางสังคม ถูกทอดทิ้ง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เรารักนั้นคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า

คนที่จะฆ่าตัวตายมักจะให้สัญญาณเตือนก่อนว่าเขาต้องการความช่วยเหลือที่เราจะสังเกตเห็นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่แสดงสัญญาณเตือนนั้นจะคิดฆ่าตัวตายเสียทุกคน และตรงกันข้ามคนที่คิดฆ่าตัวตายบางคนก็ไม่แสดงสัญญาณเหล่านี้ออกมาเลยก็มี

สัญญาณเตือนเหล่านี้ได้แก่

  1. แยกตัวจากเพื่อนฝูง พี่น้องครอบครัว
  2. มีอาการซึมเศร้า เช่น ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ดูเศร้า สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย การกิน การนอนเปลี่ยนแปลง ไม่มีเรี่ยวแรง ชอบตำหนิตัวเอง มีความคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายบ่อยๆ เปลี่ยนจากซึมเศร้าเข้าสู่ความรู้สึกสงบอย่างรวดเร็ว (นั่นคือตัดสินใจแล้วว่าจะฆ่าตัวตาย)
  3. พูด เขียน เอ่ยถึงการตาย
  4. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
  5. ความรู้สึกหมดหวัง สิ้นหวัง
  6. บริจาคของของตนให้ผู้อื่น
  7. สนใจที่จะทำพินัยกรรม หรือประกันชีวิต
ทั้งหมดนี้ไม่แน่ว่าจะเกิดการฆ่าตัวตายแน่นอน แต่จะบอกว่าคนที่มีสัญญาณเตือนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ

เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าคุณหรือคนที่คุณรู้จักรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย จงออกไปหาความช่วยเหลือ ให้ไปหาคนที่จะรับฟังคุณได้ คนที่คิดฆ่าตัวตายก็เหมือนพวกเราทุกคนที่ต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่การที่ได้ถามผู้คนเหล่านี้ถึงเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคนรับฟังและพร้อมที่จะเข้าใจ
 
ถ้ามีใครมาบอกคุณว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย จงฟังเขา ฟังให้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และพยายามพูดโน้มน้าวให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง เมื่อไรที่มีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายขึ้นมาต้องสัญญาว่าจะไม่ทำ จนกว่าจะติดต่อกับคุณหรือคนที่จะให้ความช่วยเหลือได้และรีบส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญต่อไป แต่ถ้าคนที่คุณช่วยเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด ถ้าคิดจะทำก็ทำเลย คุณก็ควรต้องพาเขาไปโรงพยาบาลทันที

ถ้าคุณไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากไหน

ก็สามารถหาได้จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้คำปรึกษาและให้บริการป้องกันการฆ่าตัวตาย

การพูดคุยจะช่วยผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้อย่างไร

การพูดคุย การถามคนที่คิดฆ่าตัวตายว่าเขารู้สึกอย่างไร เป็นการช่วยลดการแยกตัวของเขา และยังช่วยลดความเครียดลงอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลดลง
 
ในบางเรื่องที่ได้รับการปรึกษาอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ผู้ที่ให้การปรึกษาที่ดีก็สามารถช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นหาทางออกที่สร้างสรรค์ได้

ตัวเรามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือไม่

คนที่พยายามฆ่าตัวตายมักจะเป็นคนที่เครียดและหาคนปรึกษาหรือพูดคุยไม่ได้ ถ้าท่านมีคนที่พูดคุยด้วย รับฟังสิ่งที่ท่านพูดได้ ก็มักจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายมีผลต่อเพื่อน และสมาชิกในครอบครัวอย่างไร

การฆ่าตัวตายมักมีผลต่อจิตใจของเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัวอย่างมาก เพราะนอกจากพวกเขาจะรู้สึกเสียใจจากการสูญเสียผู้ที่ฆ่าตัวตายแล้วเขายังมีความรู้สึกผิด โกรธ สับสน และเครียดกับการกระทำการฆ่าตัวตาย เพราะมันเป็นเหมือนตราบาปอย่างหนึ่งสำหรับพวกเขา
 
คนรู้จักอาจจะมองหรือมีท่าทีต่อพวกเขาเปลี่ยนไป และไม่มีใครกล้าพูดหรือถามถึงว่ามีอะไรเกิดขึ้นเพราะกลัวการถูกตำหนิ บางคนอาจจะรู้สึกว่าชีวิตเขาล้มเหลวที่มีคนใกล้ชิดฆ่าตัวตาย หรือบางคนกลัวที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับใครอีก

 

บทความโดย: ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล