ดูแลใจอย่างไรเมื่อเกิดความเศร้าและการสูญเสีย

ดูแลใจอย่างไรเมื่อเกิดความเศร้าและการสูญเสีย

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการสูญเสีย 
มีได้หลายแบบนะครับ ทั้งเศร้าเสียใจ โกรธ 
บางคนตัดขาดจากความรู้สึกไปเลยโดยมุ่งเข้าใช้ความคิดและเหตุผลเพียงอย่างเดียว ฯลฯ 
ไม่มีอันไหนถูกต้องกว่าอันไหนนะครับ

 

แต่พึงมีสติด้วยว่า 
พฤติกรรมคำพูดทุกอย่างล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

การตัดสิน (judgment) ของแต่ละคนในทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน มันเป็นธรรมดานะครับ ที่คนเราจะมีความเห็นส่วนตัวและการตัดสิน ห้ามไม่ได้

แต่เราพึงมีสติกับมันได้นะครับ ก่อนที่จะหลงไปยึดว่ามันถูกต้องที่สุดหรือทำอะไรลงไปโดยอัตโนมัติ

สำหรับข่าวนักร้องชื่อดังที่กล่าวถึงว่ามีภาวะซึมเศร้า ติดเหล้าและใช้ยา ก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง 
และทำให้มีคนออกมาวิจารณ์ตัดสินต่างๆ ทำให้ผมเห็นว่า

1.ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าเอง 
ผมแนะนำว่าให้มีสติกับตัวเอง อารมณ์เศร้าเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์พึงจะมี

แต่บางครั้งเราก็ยึดเอามันเป็นตัวเป็นตนของเราโดยอัตโนมัติ 
เพราะฉะนั้นก่อนที่มันจะกลายเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงจนยากมากที่จะมีสติ แนะนำให้คอยดูแลตัวเองอยู่เสมอ 
ฝึกการเห็นแต่ละสิ่งอย่างที่มันเป็นโดยลดการตัดสินว่ามันถูกหรือผิด ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควร 
(แน่นอนว่าการมีการตัดสินเหล่านี้ ก็ไม่มีถูกและผิดเช่นกัน) 
ลองแค่เห็นมันแค่นั้น แล้วคุณอาจจะพบโลกใบใหม่ในชีวิต

2.ผู้ที่(มีความคิด)วิจารณ์การเป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย 
ผมแนะนำให้ลองมีสติสำรวจอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน

มันอาจเป็นอารมณ์เปราะบางบางอย่างที่ไม่ง่ายนักที่จะยอมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง 
เช่น เศร้าจากการสูญเสีย กลัวที่จะเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด สงสารผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ 
จนเปลี่ยนเป็นอารมณ์ที่จะไปจัดการความเปราะบางเหล่านั้น 
เช่น โกรธ หงุดหงิด หรือตัดขาดจากมันแล้วมาใช้เหตุผลแทน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ 
เพราะทุกคนมีประสบการณ์ของตัวเองที่จะทำให้รู้สึกอย่างนั้น 
และคุณอยากให้โลกดีขึ้น(ในแบบของคุณ)

แต่อย่าลืมว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาก็มีประสบการณ์ส่วนตัวและการตัดสินตัวเองไม่น้อยไปกว่าคุณเหมือนกัน

ถ้าคุณฝึกมีสติกับอารมณ์อ่อนไหวในตัวคุณ คุณอาจจะเปลี่ยนมันเป็นพลังที่สร้างสรรค์และดูแลโลกใบนี้ในแบบใหม่

3.ผู้ที่วิจารณ์ผู้วิจารณ์การเป็นโรคซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตาย 
ผมแนะนำแบบเดียวกับข้อ2.

4.ผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย 
ผมคงแนะนำแบบเดียวกันกับข้อ1.

เพราะมันคงเป็นเรื่องหนักมากสำหรับคุณ 
อยากจะบอกว่าไม่มีอะไร หรือ ใครเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าใครจะพูดหรือตัดสินอะไร 
ให้รู้ทันว่ามันเป็นเรื่องของเขา 
เราก็มีความรับผิดชอบที่จะดูแลตัวเอง

อดีตเป็นอดีต มันสำคัญ แต่มันเกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว 
คุณเรียนรู้จากมันและใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างเมตตาต่อตนเอง ผู้อื่น และผู้ที่จากไปได้ครับ

บทความโดย นายแพทย์ กานต์ จำรูญโรจน์

---------------------------------------------------

ปล1. ถ้าพบว่าคนใกล้ตัว หรือ ตนเอง มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แนะนำให้มาปรึกษากับแพทย์ที่เชียวชาญด้านนี้ได้ค่ะ 
เบอร์โทรเพื่อทำนัดพบแพทย์ 02 201 1235 
ปล 2. แบบประเมินคัดกรองเบื้องต้นโรคซึมเศร้า โดยกรมสุุขภาพจิต
http://www.prdmh.com/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%84%E…