สภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

 
ความเป็นผู้สูงอายุ เริ่มต้นที่อายุเท่าไรนั้น เรื่องของตัวเลขที่แน่นอนยังเป็น ปัญหาที่ไม่ยุติ5 ถ้ามองในด้านการเกษียณอายุ ในประเทศไทยถือว่าอายุ 60 ปี เป็นวัยที่ เกษียณอายุราชการ ขณะที่บางแห่งอาจจะใช้อายุ 55 หรือ 65 ปี ก็ได้ ในทางการแพทย์ แล้วถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมลงของร่างกาย ซึ่งอวัยวะต่างๆก็เสื่อมลงในเวลา ไม่เท่ากัน ความสูงอายุนี้จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละคนไม่เท่ากันด้วย บางคนแม้ จะอายุเพียง 50 ปี ก็อาจจะมองดูสูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ขณะที่บางคนอายุ 65ปีแล้ว ก็ยังดูไม่ต่างจากคนหนุ่มอายุ 50 ปีแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้สูงอายุทุกราย คือ นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านสรีรวิทยาและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมต่างๆ สัมพันธภาพในสังคม บุคคลใกล้ชิด และการคาดคำนึงถึงความตายที่ใกล้เข้ามา การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในวัยสูงอายุ อาจจะไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ (abnormalities) แต่บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงอันเป็นไปตามภาวะธรรมชาตินี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาที่เหมือนกับเป็นโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านร่างกายหรือชีววิทยา (Biology ofaging) เรื่องสมองของผู้สูงอายุ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้วในบทอื่น จึงจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
 
ปัญหาทางด้านจิตใจ มักจะเกิดจากความรู้สึกสูญเสีย11โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับความสามารถของตนเอง เช่น การเคยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำให้กับคนอื่น การเป็นที่ยอมรับและยกย่องจากคนข้างเคียงเพื่อนฝูงหรือสังคมการขาดที่พึ่ง เช่น ผู้ใกล้ชิด เพื่อนสนิทถึงแก่กรรม เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สุขภาพไม่แข็งแรงพอที่จะปฏิบัติภารกิจต่างๆในชีวิตประจำวันได้ ขาดการติดต่อไปมาหาสู่กับผู้อื่น บุตรหลานก็เติบโตมีครอบครัวแยกย้ายกันไป ทำให้เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ ไม่สบายตามร่างกาย ปวดเมื่อย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปัญหาทางด้านสังคม ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดทางจิตใจได้มาก
 
สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากระบบเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น พึ่งพาอาศัยกันน้อยลงครอบ ครัวเปลี่ยนแปลงจากการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก กลายเป็นครอบครัวเล็กๆ ลำพังพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุขาดความสนใจจากลูกหลาน นอกจากนี้ ภาระหน้าที่ทางสังคมที่เคยกระทำมาก็ขาดหายไปจะเนื่องจากเกษียณอายุหรือจากบุตรหลานไม่อยากให้ทำงานต่อไปด้วยความหวังดีว่าทำงานหนักมานานแล้ว สมควรที่จะพักผ่อนให้สบายก็ตาม การขาดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในสังคมนี้ อาจเป็นเหตุให้กระทบต่อความรู้สึกในคุณค่าของผู้สูงอายุเอง ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เบื่อหน่าย แยกตัวออกจากสังคมได้

พัฒนาการทางด้านจิตใจในผู้สูงอายุ

พัฒนาการทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่น่าศึกษามิใช่น้อย Erikson ได้อธิบายถึงภาวะทางจิตใจของผู้สูงอายุ ว่าเป็นระยะที่บุคคลควรจะสามารถรวบรวมประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมา และเมื่อหันกลับไปมองชีวิตตัวเองแล้วก็เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป ภาคภูมิใจในชีวิตของตนที่ผ่านมา ภาวะที่บุคคลบรรลุถึงจุดนี้นั้น Erikson เรียกว่า “ego integrity”5 ซึ่งตรงกันข้ามกับภาวะของความสิ้นหวังท้อแท้ “the state of despair” ซึ่ง Erikson อธิบายว่า เป็นภาวะที่บุคคลประกอบด้วยความรู้สึกกลัวตาย รู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาของตนนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง
 
นอกจาก Erikson แล้ว ยังมีผู้อื่นอีกมากมายที่มองวัยสูงอายุนี้ว่าบุคคลเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์ในการสร้างชีวิตวัยต่างๆมาได้สำเร็จ และก็กำลังทำต่อไปในช่วงของการมีอายุมากขึ้น การผสมผสานประสบการณ์ในอดีต ทำให้พัฒนาต่อไป จากการมีวุฒิภาวะ (maturity) ไปสู่ความมีปัญญา (wisdom)5 การมองเห็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงทำให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในความยึดมั่นต่างๆ แม้แต่การที่สามารถมองชีวิตด้วยอารมณ์ขันมากขึ้น เป็นต้น
 
การมองชีวิตของคนสูงอายุผิดกับเมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาว10 เพราะในวัยนั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อผดุงตน สร้างฐานะครอบครัว ตั้งหน้าทำมาหากิน สร้างสรรค์และสะสมด้านวัตถุ เมื่ออายุมากขึ้นเริ่มมองไปข้างหลัง และเริ่มคิดว่าได้ทำอะไรมาบ้างแล้ว เริ่มมองว่าเป็นวัยที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ซึ่งตนทำมาตลอดชีวิต หลังจากที่ได้ลงทุนสร้างสมมาเป็นเวลานาน ได้ประหยัดมามากแล้วทั้งทรัพย์สมบัติและเวลา บัดนี้ถึงคราวที่จะชื่นชมและใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์แก่ตน มีผู้สูงอายุหลายคนที่ต้องพยายามปรับตัวและเผชิญกับภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น อาจจะเป็นในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจ หรือทรัพย์สินเงินทองก็ตาม ซึ่งเป็นภาวะที่กลับไปเหมือนเด็กที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น 
 
ถึงแม้จะมองสภาพจิตใจของผู้สูงอายุในแง่มุมต่างกันได้ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนๆกัน คือ ผู้สูงอายุนั้นต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆเหมือนกันคือ ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ สังคม การหาทางออกให้กับตนเองเพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่า และเรื่องของหน้าที่ของตนในครอบครัว บางคนมีการเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความตายที่ใกล้เข้ามาทุกที ในขณะที่บางคนไม่ยอมรับในเรื่องนี้เลยก็ได้สภาพทางจิตใจของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ยังทำให้เกิดผลตามมาอีกหลายประการ ที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ การสนใจในตนเองมากขึ้น หมกมุ่นกับเรื่องของตัวเอง (egocentricity) ความสามารถในการเก็บกดระงับความกังวลในยามที่เกิดความคับข้องใจ (repression) ลดลง เมื่อเผชิญปัญหาก็ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลอย่างมาก
 
ผู้สูงอายุที่ฉลาด สุขุม เข้าใจชีวิต เผชิญปัญหาได้โดยการยอมรับความเป็นจริงและปลงตก ปฏิบัติกิจกรรมอันมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ ก็ย่อมที่จะคงความมีสุขภาพจิตที่ดีและพัฒนาภาวะจิตใจของตนไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจ ภูมิใจในชีวิตของตนที่เกิดมาได้

การปรับตัวและการใช้กลไกการปรับตัว

พฤติกรรมการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ในวัยสูงอายุที่พบได้บ่อย คือ การแสดงออกเป็นอาการทางกาย (somatization) เพื่อนำมาซึ่งการดูแลเอาใจใส่จากผู้อื่น การถอยหนีไม่สู้กับปัญหา (withdrawal) การโทษผู้อื่น (projection) การปฏิเสธไม่รับรู้ความจริง (denial) และการท้อแท้เศร้าซึม (depression) ซึ่งอาจจะแสดงออกโดยเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆทางด้านสุขภาพตามมา ความคิดฆ่าตัวตายก็พบได้บ่อยพอควรในผู้สูงอายุ ความคิดระแวง (paranoid thinking) เกิดขึ้นบ่อยในคนสูงอายุ อาจจะเป็นเพราะหลายสาเหตุร่วมกัน ถ้ามองในแง่มุมของกลไกการปรับตัวก็เป็นไปได้ที่ความคิดระแวงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการใช้ projection มากขึ้น ในเวลาเดียวกันกับที่ประสาทการรับรู้ต่างๆลดน้อยลง เช่น ผู้สูงอายุอาจจะวิตกกังวลน้อยลงถ้าเขาเลือกที่จะเชื่อว่าคนอื่นๆหรือลูกหลานไม่ยอมบอกเรื่องราวต่างๆที่สำคัญๆให้เขาได้รับรู้ มากกว่าที่จะยอมรับว่าตนเองได้ยินน้อยลง ฟังไม่ชัดเจน หรือเริ่มจำอะไรไม่ค่อยได้เป็นต้น การใช้ copingmechanism แบบนี้ ย่อมทำให้สัมพันธภาพระหว่างเขาและคนอื่นเสียไป และทำให้ความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆลดน้อยลง
 
พฤติกรรมในผู้สูงอายุอีกแบบหนึ่ง คือ การขาดความยืดหยุ่น หรือมีความเข้มงวด (rigidity) ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นวิธีการปรับตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถจะคงอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างๆที่เคยชินมาแล้วเป็นอย่างดี เห็นได้ว่ามีพฤติกรรมการปรับตัวในผู้สูงอายุ หลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาจจะสรุปได้เป็น 4 ลักษณะกว้างๆ คือ11
  1. การปรับตัวโดยการแสดงออกทางกาย เช่น มีความสนใจร่างกายมากขึ้น มีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย เป็นต้
  2. การปรับตัวโดยใช้เหตุใช้ผล ใช้สติปัญญาความรู้ เช่น การอ่าน การเขียน การศึกษาเรื่องต่างๆที่แปลกใหม่ เป็นต้น
  3. การปรับตัวโดยการใช้กลไกทางจิตต่างๆที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง การโทษผู้อื่น เป็นต้น
  4. การปรับตัวโดยการแสดงออกเป็นพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวต่อต้าน หรือ หลบหนีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากพฤติกรรมการปรับตัวเหล่านี้ ทำให้พอจะจำแนกกลุ่มของผู้สูงอายุออกได้เป็น 4 กลุ่ม11 ดังนี้
 
กลุ่มที่ 1 ประพฤติปฏิบัติได้สอดคล้องตามวัยของตน ทำให้ไม่เกิดปัญหาต่อครอบครัว ได้แก่ มีความเป็นอยู่อย่างสงบ มีความสนใจกิจกรรมต่าง ๆ ตามความพอใจและความเหมาะสม มุ่งทำประโยชน์ต่อสังคม
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ชอบต่อสู้ มีพลังใจสูง ทำให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นได้
กลุ่มที่ 3 ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น มักจะต้องการความสนใจ และความเอาใจใส่จากคนในครอบครัวมาก
กลุ่มที่ 4 สิ้นหวังในชีวิต มักจะเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตใจ โดยเฉพาะโรคอารมณ์เศร้า

การพัฒนาตนเองทางด้านร่างกายและจิตใจ11

ผู้สูงอายุควรจะคำนึงถึงสุขภาพร่างกาย มีความสนใจที่จะออกกำลังและดูแลรักษาร่างกายให้สมบูรณ์ตามควร ส่วนทางด้านจิตใจนั้น การเข้าใจและยอมรับความเป็นจริงของชีวิตยอมรับปรากฎการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น บุตรหลานที่เติบโตแยกครอบครัว การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่สำคัญ เพื่อดำรงรักษาสุขภาพจิตให้มีความสุขตามควรแก่ฐานะของแต่ละคน

การป้องกันความอ้างว้าง10

การอยู่อย่างอ้างว้างในบั้นปลายแห่งชีวิต เป็นภัยแก่สุขภาพกายและสุขภาพจิตยิ่งนัก ทั้งนี้ มิได้หมายความเพียงการอยู่ตามลำพัง ผู้สูงอายุแม้จะอยู่ท่ามกลางลูกหลานมากมาย ก็อาจรู้สึกอ้างว้างได้ ถ้ารู้สึกว่าตนถูกลืม ถูกจำกัดที่อยู่ รู้สึกว่าผลแห่งการต่อสู้มาตลอดชีวิตคือความผิดหวัง วิกฤตการณ์แห่งชีวิตของคนเราเกิดขึ้นได้ 3 ระยะ คือ วัยแรกรุ่น ช่วงของการเปลี่ยนวัย และตอนเกษียณ
 
โดยทั่วไป สังคมกสิกรรมจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่ มากกว่าสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มไปข้าง “ตัวใครตัวมัน”10 คนหนุ่มสาวล้วนแต่มีภาระจนไม่มีเวลาให้แก่ผู้สูงอายุ ครอบครัวเล็กๆพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีส่วนร่วมด้วยในชีวิตความเป็นอยู่ หรือการตัดสินใจตกลงใจเรื่องใด ๆ ถ้าใครที่เคยต่อสู้เอาชนะชีวิตมาแล้วในตอนหนุ่มสาว พอมีอายุมากขึ้นก็อาจจะยังพอสู้ไหว แต่ปัญหาคือ ชีวิตในวัยนี้มีความสูญเสียพลังกาย ความจำ ความคิด ล้วนแล้วแต่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นไม่มีอะไรมั่นคงหรือสมหวังเลย ทำให้เกิดความท้อแท้เศร้าซึมได้
 
การเกษียณจากงานที่เคยทำเป็นกิจวัตร นับเป็นภาวะวิกฤตของชีวิตอีกอย่างหนึ่ง เพราะภาพพจน์ของตนเอง ค่านิยมอันเกี่ยวเนื่องกับงาน ความนับถือตนเอง รายได้ เพื่อนฝูง สิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องมีการป้องกันโดยการเตรียมตัวเผชิญวิกฤตการณ์เหล่านี้

การเตรียมเผชิญความสูงอายุ

ในวัยหนุ่มสาว น้อยคนนักที่จะนึกถึงหรือวางแผนไว้สำหรับชีวิตในวัยสูงอายุ การประสบความสำเร็จในการงานทำให้รู้สึกพอใจในตนเอง มองเห็นตนเองมีความหมายมีคุณค่าตามตำแหน่งหน้าที่การงาน เมื่อตำแหน่งเหล่านี้สิ้นสุดลงตอนเกษียณ ทำให้ไม่ทราบว่าจะมองตนเองเป็นอย่างไร จะมองหาคุณค่าของตนจากอะไรต่อไป ในวัยหนุ่มสาวควรเรียนรู้ที่จะใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ มีงานอดิเรก มีความสนใจพิเศษนอกเหนือไปจากงานที่ทำประจำ ก็จะทำให้ปรับตัวง่ายขึ้นเมื่อเกษียณ การจัดเตรียมกำหนดแผนในด้านต่างๆ11 เกี่ยวกับการเงินรายได้ การประเมินค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยการช่วยเหลือค้ำจุนจากครอบครัวก็ควรจะจัดเตรียมไว้เพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย 

การใช้วัยวุฒิให้เกิดประโยชน์

ผู้สูงอายุมีวัยวุฒิอันมีค่า คือ ความเข้าใจและความอดทน (understanding and tolerance) จากประสบการณ์ทั้งในด้านความรู้และทักษะ ทำให้สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ดีมีประโยชน์ในงานหลายอย่าง สมควรที่จะใช้วัยวุฒิเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะแม้จะอายุมาก แต่ร่างกายยังแข็งแรง ได้รับการศึกษาดี มีทัศนคติอยากแก้ปัญหา ถ้าผู้สูงอายุไม่ได้ใช้วัยวุฒินี้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ผู้ที่เกษียณแล้วปลีกตัวออกจากสังคมไปเลย จะทำให้บุคลิกภาพและความนับถือตนเองเสื่อมถอยลง10 การเป็นบุคคลมีประโยชน์ไม่ว่าโดยทางใด ย่อมผดุงสุขภาพจิตได้เสมอ10

ผู้สูงอายุกับทัศนคติทางสังคม

สังคมมักจะมองผู้สูงอายุว่าเป็นคนแก่ที่หลงลืม เลอะๆเลือนๆ (senile) ความคิดก็โบราณ ไม่มีประโยชน์อย่างใด ผู้สูงอายุในปัจจุบันควรที่จะต่อสู้กับทัศนคติหรือความเชื่อที่ผิดๆเหล่านี้ โดย10ดูแลสุขภาพของตนให้ดี เอาใจใส่กับภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีความพึงพอใจชื่นชมในชีวิต ไม่ตัดขาดสังคมออกไป รักษาการติดต่อกับสังคมเอาไว้จัดเตรียมฐานะการเงินไว้ให้พอใช้และไม่อยู่เฉยยังคงทำกิจกรรมที่ตนพอใจและทำได้อย่างสมตัว คนที่มีกิจวัตรซ้ำซากไม่มีงานอดิเรก ไม่สนใจอะไรนอกจากงานอาชีพ จะปรับตัวลำบากเมื่อเกษียณ แม้แต่แม่บ้านเมื่อสามีเกษียณก็ต้องปรับตัวเช่นกัน สังคมก็ควรจะรับผิดชอบจัดให้มีการดูแลผู้สูงอายุให้สมกับที่ได้ทำงานหนักมาแล้วตลอดชีวิตที่ใดเมื่อใดก็ตามที่ผู้สูงอายุได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลอย่างแท้จริง สุขภาพของผู้สูงอายุก็ย่อมดีขึ้นทั้งทางกายและใจ

สังคมกับการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

สังคมที่มองเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุย่อมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพจิต การรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมของชาติต่อผู้สูงอายุ เช่น ประเพณีรดน้ำผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ จะทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนความสนใจในเรื่องของผู้สูงอายุ ทำให้มีกิจกรรมในสังคมร่วมกัน นอกจากนี้ การจัดให้มีบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนการเตรียมแผนการในชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ครอบครัว และการเงิน ส่งเสริมให้มีบริการ หรือให้ผู้สูงอายุได้ช่วยเหลือตนเองให้มีความเป็นอิสระ โดยสังคมช่วยจัดหาความสะดวกสบายให้ตามสมควร ก็จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น ในรูปแบบของสมาคมซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่พอมีความสามารถอยู่บ้าง และเต็มใจช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกันก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรับความช่วยเหลือก็เกิดกำลังใจ ฝ่ายให้ความช่วยเหลือก็ได้รับความภูมิใจ

ศักดิ์ศรีแห่งวัย10

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมปรารถนาให้ผู้อื่นเห็นว่าตนนั้นมีคุณค่าผู้สูงอายุเปรียบดังหนังสือมีค่าเล่มหนึ่ง เพราะประสบการณ์ซึ่งบรรจุอยู่ในนั้น มีความเป็นเอกลักษณ์อยู่ในตัวหาที่ใดไม่ได้อีกแล้ว10
 
เอกสารอ้างอิง
 
1. วีระ ไชยศรีสุข. สุขภาพจิต. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2533.
2. ฝน แสงสิงแก้ว. เรื่องของสุขภาพจิต. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2522.
3.สุชาจันทร์เอม. สุรางค์ จันทร์เอม. จิตวิทยาวัยรุ่น.กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,2518.
4. ประมวล คิดคินสัน, วัยวัฒนา จิตวิทยาพัฒนาการ. เล่ม 2. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2520.
5. Goldman HH. f Review of general psychiatry. 2nd ed. Connecticut: Lange. 1988.
6. Kennedy CE. Human development : the adult years and aging. NY: Macmillan, 1978.
7. Roediger HL III, Rushton JP, Capaldi ED, Paris SG. Psychology. Boston : Little, Brown, 1984.
8. Beach DS. The management of people at work. 5th ed. NY: Macmillan, 1985.
9. ประมวล ดิคคินสัน. วัยหนุ่มสาว วัยสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2520.
10. ประมวล คิดคินสัน. วัยท้าย วัยทอง. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2520.
11. ณรงค์ สุภัทรพันธุ์. สุขภาพจิตผู้สูงอายุ. เอกสารคำสอนภาควิชาจิตเวชศาสตร์
 
บทความโดย: แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. 2529.