การสื่อสารอย่างสันติ


การสื่อสารอย่างสันติ
เวลาเกิด “ความไม่พอใจ”แทนที่จะตะคอก หรือ ด่าทอ หรือ ทำกิริยาก้าวร้าวออกมาหรือ กระแทกใครกลับไปควรกลับมา
1. ตระหนัก เกี่ยวกับ ตนเองก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรา เพราะอะไร “เราถึงไม่พอใจ”ถ้าสงบเย็นขึ้นได้แล้ว และ รู้ทันเพราะอะไรเราถึง รู้สึกไม่พอใจ ค่อยเริ่มสื่อสารออกไปค่ะ ถ้ายังไม่สงบเย็น อย่าเพิ่งสือสาร เพราะ จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี มักจะหลุดสิ่งที่ไม่ควรพูด และ ไม่ใช่ความรู้สึกที่อยากสื่อด้วยค่ะ
2. การสื่อสาร “I message” (บอกฝั่งเรา)ควรสื่อสาร โดยการบอก ความคิด และ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้านใน ภาษาทางจิตวิทยาเรียกการสื่อสารนี้ ว่า “I message” ว่าเพราะอะไร เราถึงรู้สึกไม่พอใจ  เช่น สิ่งที่เขาทำ หรือ พูด เรารู้สึกไม่ชอบ เราไม่ชอบเพราะอะไร  หรือ สิ่งที่เขาทำ ทำให้เรารู้สึกแย่ หรือ เจ็บปวด เพราะ อะไร   I message คือ การบอกสิ่งที่เป็นผลกระทบกับใจเรา โดยไม่ได้ตำหนิใคร  แต่บอกว่า สิ่งนี้ ทำให้เรารู้สึก ดี หรือ ไม่ดี อย่างไร หรือ ทำให้เรารู้สึกแย่ เจ็บปวด กังวล หรือ ทำให้โกรธ อย่างไร  และ เพราะอะไร เราเดือดร้อนจากมันอย่างไร บอกเป็นฝั่งเรา เพราะ สิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี คือ สิ่งนั้น กระทบใจเรานี่เอง ค่ะ)
3. รับรู้ได้ถึงสิ่งที่คู่สนทนาเรา คิด / รู้สึก / เป็นอยู่ (empathy) อาทิ เช่น
#ตัวอย่างที่ 1 เช่น 
เราไม่ชอบใจที่เพื่อนพูดถึงแฟนเรา ที่เรากำลังมีปัญหากัน ฟังแล้วรู้สึกโกรธเพื่อน หงุดหงิดเพื่อน มองว่า เพื่อนวุ่นวาย เพื่อนไม่เข้าใจและ อยากด่าว่าเพื่อน เพราะ รู้สึกโมโหเพื่อนอย่างมากแทนที่เราจะหงุดหงิด หรือ ด่าว่าเพื่อนออกไปเรากลับมา
 3.1.1. รู้ทันความไม่สบายใจนั้นก่อน ว่าที่มาคืออะไร  (ตระหนักรู้ ตนเองก่อน) : สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจเราด้านในคือ ที่เราโมโหเพื่อน เพราะ เรากำลังไม่สบายใจ และ กังวลอย่างมาก กับปัญหาเรื่องแฟน พอฟังเพื่อนพูด ยิ่งทำให้รู้สึกแย่เจ็บปวด และ จิตตกลงไปอีก จึงยังไม่พร้อมรับฟัง คำแนะนำ ใดๆ จากใคร
 3.1.2. การสื่อสาร ใช้ I message (การบอกฝั่งเรา) : บอกเพื่อนว่า “ยังไม่อยากให้เพื่อนพูดถึง เพราะ เรายังรู้สึกแย่กับเรื่องนี้อยู่” (I message) “เข้าใจว่าเพื่อนหวังดี แต่เราไม่พร้อมรับฟัง เพราะ เรากำลังไม่สบายใจกับเรื่องนี้อย่างมาก”
 3.1.3. เพราะ จริงๆ เราก็ไม่ได้เกลียดอะไรเพื่อนคนนี้  ถ้าใจเย็นลง เรารู้ได้ด้วยซ้ำว่าเพื่อนหวังดี และ ห่วงเรา (empathy) แต่ถ้าเราไม่ตระหนักรู้ และ หลุดไปด่าว่าเพื่อน ด้วยอารมณ์ที่ไม่นิ่งของเรา จากความโมโหบังตา และ บังความอ่อนไหวในใจ ทำให้เราต้องไปทะเลาะกับเพือน เผลอไปด่าว่าเพือน ซึ่งในมุมกลับ ทำให้เราจะยิ่งรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิมอีก เพราะ เรารู้สึกผิดที่ไปด่าว่าเพื่อน หรือ บางครั้งอาจลุกลาม จนเสียความสัมพันธ์กับเพือนไป โดยไม่ได้เจตนาให้เป็นอย่างนั้นเลย
#ตัวอย่างที่ 2
คุณแม่ ที่ห่วงลูกมาก อยากให้ลูกทำการบ้าน พอเห็นลูกเล่นเกม ไม่ยอมทำการบ้าน เกิดความรู้สึกโมโห เลยด่าทอลูก บางทีถ้าโมโหมาก อาจพูดคำเสียๆหายๆ “วันๆเอาแต่เล่น เหลวไหล มีลูกอย่างแก มีแต่ปวดหัว”ผลคือ ลูกยิ่งรู้สึกแย่ ไม่เข้าใจว่าแม่ทำไมต้องด่าว่าเขารุนแรงขนาดนี้ และ กลายเป็นความผิดใจกันของแม่ลูก จริงๆ คุณแม่รักมาก และ ห่วงใยลูกมากๆ แต่การพูดด้วยอารมณ์โมโห ทำให้ไม่สามารถสือสาร “ความรัก” ออกไปให้ลูกรับรู้ได้การสื่อสารอย่างสันติ คือ
3.2.1. คุณแม่กลับมาตระหนักรู้  ว่าตนกำลัง กังวลใจ ห่วงลูก ใส่ใจกับอนาคตของลูก
3.2.2. สื่อสารด้วย “ I message” ว่าแม่ห่วง และ กังวล อะไร “ห่วงการบ้านเยอะ ถ้าลูกไม่ทำ ลูกจะทำไม่ทัน” “ห่วงว่าถ้าลูกไม่ทำการบ้าน แม่ห่วงลูกจะเรียนตามเพื่อนไม่ทัน” “ห่วงว่าลูกเล่นเกม ไม่ทำการบ้าน ลูกจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แม่รักลูกมาก อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี”
3.2.3. รับรู้ได้ว่า ลูก เป็น เด็ก ย่อม อยากเล่นสนุกๆ ตามประสาเด็กๆได้ และไม่ได้คิดถึงอนาคตใหญ่โตได้ขนาดคุณแม่ (empathy)
----------------------------------------------------------------------------------
ดังนั้น การกลับมา ตระหนักรู้ตนเอง ใช้การสื่อสาร I message และ รับรู้เข้าใจอีกฝ่าย จะช่วยทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างสันติ และ ตรงกับใจเรามากกว่าค่ะ เพราะ เราได้สื่อสาร ความรู้สึก ที่แท้จริง ออกไป และ ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจ และ ได้รับรู้ ความรู้สึกที่แท้จริงของเราค่ะ ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกันค่ะ
#คุณค่าการสื่อสารอย่างสันติ 
สามารถเปลี่ยนจาก การจะทะเลาะกัน เป็น ความเข้าใจกัน สามารถเปลี่ยนฉากในชีวิต จาก ฉากที่รุนแรง โศกนาฎกรรม (ซึ่งอาจกลายเป็นแผลใจเรื้อรัง)กลายเป็น ความเข้าใจ และ ความเห็นใจกันได้ค่ะหมั่นสื่อสาร ‘ด้วยความเข้าใจหัวใจตนเอง และ หัวใจผู้อื่น’ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ค่ะ
บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล