ทำอย่างไรถึงจะตั้งใจทำงานไปจนสำเร็จ

 
มีธรรมภาษิตอยู่ข้อหนึ่งว่า
 
งานที่คั่งค้างจะทำให้เกิดความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ท่านคงจะเห็นกับตัวเองว่าภาษิตข้อนี้เป็นความจริง แต่ก็มีคนไม่ใช่น้อยซึ่งรวมทั้งตัวท่านเองมักปล่อยให้งานคั่งค้างถึงขนาดสับสนวุ่นวายและเสียงานในที่สุด
 
ในภาษาจิตวิทยา เขาว่าลักษณะดังนี้เป็นอาการของ lack of concentration คือไม่มีความ มุ่งใจ ที่จะทำงานติดต่อไปให้เสร็จสิ้น
 
คำว่า "concentration" นี้เคยแปลกันว่า "สมาธิ" รู้สึกว่าจะไม่ตรงนัก คำว่าสมาธิน่าจะตรง กับคำว่า "meditation" มากกว่า ทางศาสนา สมาธิ หมายถึงการทำจิตให้หยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดแต่เฉพาะอย่างเดียว
 
ในทางจิตวิทยา concentration ศัพท์บัญญัติใช้ว่า "การสำรวมใจ" ซึ่งหมายถึง
 
ก. การปฏิบัติอันมีความตั้งใจจดจ่ออยู่กับกิจการปัญหาหรือประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
 
ข. การใช้กำลังกายและกำลังใจอย่างมีความรู้สึกตัวที่จะกระทำการ หรือแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง 
 
ดังนี้ท่านก็จะเห็นว่า การสำรวมใจ หรือการเอาใจจดจ่อกับงานนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้งานนั้นบรรลุผลสำเร็จ ท่านลองนึกดูว่ามีงานอะไรที่ท่านทิ้งค้างไว้บ้าง งานที่ค้างอยู่นั้นดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย แต่ที่จริงแล้วคนที่ไม่ก้าวหน้าก็เพราะเหตุที่ทิ้งงานให้คั่งค้างอยู่นั่นเอง อะไรก็ไม่สำเร็จซักอย่างมันก็ไม่มีผลอะไรขึ้น เท่ากับลงทุนเสียเวลาเปล่า
 
เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างความสำรวมใจให้แรงกล้าคือสามารถรวมกำลังความตั้งใจ เพ่งอยู่กับงานที่มุ่งหมายจะทำและทำไปจนงานนั้นถึงที่สุด ที่ว่าถึงที่สุดนั้นคืองานนั้นเสร็จ ถ้าท่านทำงานตามที่กะเสร็จท่านก็จะรู้ได้ว่างานนั้นให้ผลหรือไม่ให้ผล แต่ถ้าทิ้งไว้ ท่านก็ไม่มีทางรู้เลยว่างานชิ้นนั้นจะให้ผลหรือไม่ให้ผลยิ่งถ้าเกี่ยวกับข้อปัญหาด้วยแล้ว หากทิ้งปัญหาไว้ครึ่งๆกลางๆเราก็แก้อะไรกันต่อไปไม่ถูกเพราะ ค้นไม่พบว่า อะไรผิด อะไรบกพร่อง 
 

ท่านจะทำอย่างไรจึงจะสำรวมใจ (concentrate) ดำเนินงานไปจนสำเร็จตามที่คิด

นักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อฮีทอร์น (R.J. Heathorne) ได้เขียนแนะนำไว้ว่าหากท่านคิดจะทำอะไรซึ่งจะต้องใช้เวลานานก็อย่าวางแผนไว้เพียงในสมอง จงหยิบกระดาษดินสอมาจดแผนงานลงให้ชัดแจ้งว่า
  1. จะทำอะไร : แต่งห้องรับแขก
  2. จะลงมือทำงานเมื่อใด : คิดเสียให้ดีว่าวันใดท่านจะสะดวกที่จะไม่ต้องผัดผ่อนต่อไป และเพื่อไม่ให้งานอื่นเข้ามาขัดขวาง
  3. จดรายการอุปกรณ์ที่จะใช้ : เขียนลงไปให้ละเอียด จะใช้อะไรขัดสีเก่าออก จะใช้สีอะไรทาใหม่ จะหาแปรงทาสีที่ไหน
  4. ลำดับงาน : คือจะทำอะไรก่อนหลังเขียนรายงานลงไปตามลำดับเพื่อท่านจะปฏิบัติให้เป็นไปตามลำดับนั้น
เมื่อจดเสร็จเรียบร้อยอ่านทบทวนดีแล้ว ก็สัญญากับตัวเองว่าจะต้องลงมือตามกำหนด ต้องเอารายงานมาดูเสมอ การจดรายการหรือแผนทำงานไว้อย่างนี้จะช่วยในการสำรวมใจ (concentration) ได้เป็นอย่างดี
 
เรียกรายการแบบนี้ว่า การนัดหมายกับตนเองทำให้เกิดความเป็นความเคยตัว แล้วท่านจะเป็นคนที่ทำอะไรสำเร็จเสมอ คนที่ทำอะไรไม่สำเร็จ มักเป็นคนขาดความสำรวมใจ และขาดความเป็นระเบียบ
 
โบราณเรียกคนที่ทำอะไร ไม่สำเร็จว่าคนจับจด
 
งานบางอย่างต้องใช้เวลานานเต็มที ต้องการความสำรวมใจติดต่อกันเป็นระยะยาวนานก็ต้องพยายามปฏิบัติไปตามแผนการโดยไม่ทอดทิ้ง จึงจะปรากฎผล แต่ผลจะดีหรือเลวนั้นต้องยกไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
การผัดวันประกันพรุ่งเป็นศัตรูกับความสำรวมใจ

รีบทำงานในหน้าที่ให้เสร็จ

หากท่านเป็นเลขานุการบันทึกรายงานการประชุม หมดเวลาประชุมแล้วท่านเก็บบันทึกไว้ ผัดเวลาว่าพรุ่งนี้เถอะค่อยเขียนรายงานให้เรียบร้อย พอรุ่งขึ้นมัวไปยุ่งกับเรื่องอื่นเสียจนล่วงไปอีกสองสามวันท่านกลับมาหยิบบันทึกมาเขียน จะรู้สึกว่าเขียนยากที่สุดรายงานการประชุมของท่านจะไม่ละเอียดถูกต้อง ทางที่ดีพอเลิกการประชุมท่านต้องรีบเขียนเสียให้เสร็จสดๆ ร้อนๆ เลยทีเดียว
 
งานอื่นก็เช่นกัน ต้องถือเป็นข้อกำหนดอันแน่นอนแก่ตนเองว่าจะต้องรีบทำให้เสร็จโดยเร็ว สิ่งสำคัญก็คือให้ลงมือทำ ลงมือเสียก่อนแล้วการสำรวมใจต่องานจะเกิดขึ้นเอง หากท่านไม่ลงมือก็จะเฉื่อยแฉะต่อไปจนไม่ได้ทำอะไรเลยในที่สุด
 
หัวใจของการสำรวมใจก็คือท่านต้องลงมือทำ อย่าปล่อยให้ใจไปมัววุ่นวายกับเรื่องใดๆทั้งสิ้น นึกปลอบใจตัวเองว่าถ้างานชิ้นนี้เสร็จก็จะโล่งอก จะไปเที่ยวไหนโดยไม่ต้องคอยเป็นห่วง ทำอย่างนี้ได้สักสามสี่ครั้งเท่านั้นก็จะเกิดความเคยชิน ต่อไปท่านก็จะมีความสำรวมใจที่จะทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนสำเร็จอย่างไรก็ดี ก่อนที่ท่านจะทำอะไรท่านต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่า งานชิ้นนี้เป็นงานจำเป็นที่ท่านจะต้องทำมันจะเป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ท่าน ไม่ใช่ว่าทำไปโดยปราศจากความมุ่งหมาย
 
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง: ศาสตราจารย์รณชัย คงสกนธ์