เรื่องของเมียน้อย... น้อย

 
“เมียน้อย” ……เมื่อเอ่ยคำนี้กับใครๆ ทุกคนก็จะมองว่านี่คือตัวปัญหาที่จะคอย บ่อนทำลายสถาบันครอบครัว ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดปัญหานี้ขึ้นในครอบครัว แต่อย่างไรก็ดีปัญหานี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาได้อย่างได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายมาตลอดตั้งแต่อดีตกาล ถึงปัจจุบัน และคาดว่าในอนาคตต่อไปก็ยังคงเกิดขึ้นได้ ถ้าเรายังเพียงแค่ปฏิเสธ ไม่ยอมรับโดยที่ไม่สนใจจะทำความรู้จักและศึกษา เพื่อหาทางป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง

มารู้จักเมียน้อยกันเถอะ

เมียน้อย คือผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างสามีเมียกับชายที่มีเมียอยู่แล้ว

สาเหตุการต้องมาเป็นเมียน้อย

โดยทั่วไปมักจะคิดกันว่าผู้หญิงที่ต้องมาเป็นเมียน้อยนั้น เป็นเพราะต้องการความสุขสบาย ไม่ต้องลำบากสร้างฐานะตัวเองเหมือนกับการเป็นเมียหลวง แต่จากผลการศึกษา พบสาเหตุ ว่ามีดังต่อไปนี้ (เรียงตามลำดับ)
  1. ต้องการความรัก ความอบอุ่น และอยากมีที่พึ่งพิงทางใจ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในกลุ่มเมียน้อย เนื่องจากในอดีตพวกนี้ขาดความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัว มาจากครอบครัวที่แตกแยก
  2. ถูกสามีหลอกลวงว่ายังไม่มีครอบครัว ยังไม่ได้แต่งงาน หรือหลอกลวงไปข่มขืน
  3. ต้องการเงิน ต้องการผู้อุปการะ
  4. อื่น ๆ เช่น มีปัญหาทางบุคลิกภาพ เช่น ต้องพึ่งพิงผู้อื่น รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า มีวุฒิภาวะต่ำกว่าอายุ
ค่านิยมของผู้หญิงที่ต้องการมีสามีเพียงคนเดียว เมื่อรู้ความจริงว่าสามีมีภรรยา อยู่ก่อนแล้ว จึงต้องยอมรับความเป็นเมียน้อย

ความรู้สึกของเมียน้อย

จากการศึกษาถึงความรู้สึกต่อการเป็นเมียน้อย ส่วนใหญ่จะรู้สึกผิดหรือเสียใจ เพราะความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับเรื่องสามีมีเมียน้อย เป็นเรื่องที่ไม่สมควร มีบางส่วนที่รู้สึกโกรธที่ถูกหลอกลวง บางคนทั้งโกรธและรู้สึกผิดรวมกัน มีจำนวนน้อยที่ไม่รู้สึกอะไร
 

ป้องกันปัญหาเมียน้อยอย่างไรดี

ปัญหาเมียน้อยนี้ควรจะเน้นการป้องกันเป็นสำคัญ เพราะถ้าเกิดปัญหาเมียน้อย กับครอบครัวใดขึ้นมาก็เป็นการยากที่จะจัดการกับชีวิต ครอบครัวเพราะไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเลิกรา กันไป ซึ่งก่อให้เกิดความปวดร้าวทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นควรหันมาให้ความสนใจในด้านป้องกันจะเป็นประโยชน์มาก
  1. บิดามารดาควรเลี้ยงดูบุตรอย่างใกล้ชิด ให้ความรักความอบอุ่น อย่างเพียงพอ ไม่นำบุตรไปให้คนอื่นเลี้ยง หรือไม่นำเด็กเล็กไปอยู่โรงเรียนประจำ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กโตขึ้นมาแบบขาดรัก และต้องไปแสวงหาทดแทนในอนาคตที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
  2. บิดามารดาควรอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเกิดบุคลิกภาพที่ดี เช่นมีความเป็น ตัวของตัวเอง มีวิจารณญาณที่ดี ให้บุตรรู้เท่าทันคนโดยมีวุฒิภาวะให้สมอายุ ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่หลงเชื่อคนง่ายๆโดยไม่ตรวจสอบให้มีความสามารถเลือกคู่ครองให้ดีจะได้ไม่ผิดหวังในคู่ครอง
  3. ดูแล เอาใจใส่ เข้าใจ ให้ความรักซึ่งกันและกันของสมาชิกในครอบครัวเพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจ แตกแยก อันจะนำมาซึ่งผลเสียขาดความอบอุ่นในครอบครัว
  4. ช่วยกันพัฒนาสังคมช่วยกันแก้ไขความยากจน เพื่อให้ประชากรในชาติช่วยตัวเองได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ เพื่อลดปัญหาการที่เด็กสาวต้องกลายเป็นเมียน้อยหรือโสเภณี

บทความโดย

ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ