การดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่นจากเหตุกราดยิงสังหารหมู่

การดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่นจากเหตุกราดยิงสังหารหมู่

เหตุกราดยิงสังหารหมู่ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสลดใจ ความเจ็บปวดและความเขย่าขวัญ อย่างมาก โดยแรงจูงใจส่วนใหญ่มักเกิดจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการบ่งบอกถึงความโกรธที่ผู้กระทำมีต่อสังคม

ในความเป็นจริงนั้น พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากบุคคลที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงเพียง 3-5 % ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงเหล่านี้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม มักจะก่อความรุนแรงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ซึ่งขาดยา รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ มักจะไปใช้สารเสพติดมากขึ้น และมีโอกาสจะกระทำความรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นการให้ข้อมูลโดยสื่อ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความระมัดระวังในการสื่อสารกับสังคม เพื่อไม่ให้เกิดตราบาปในจิตใจผู้ป่วยของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้มากขึ้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่น

ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุการณ์ เด็กและวัยรุ่นอาจมีความคิดแทรกซ้อนที่วนซ้ำไปมา มีฝันร้าย พยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่จะเตือนให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ แยกตัวออกจากสังคม มีความผิดปกติของการนอน หงุดหงิดง่าย ไม่สามารถคงสมาธิได้ดีเท่าเดิม ผลการเรียนแย่ลง เด็กและผู้ปกครอง อาจมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยต่อการไปโรงเรียนได้มากขึ้น และอาจมีการขาดเรียนมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ได้

นอกจากนี้ในเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจพบว่ามีพฤติกรรมถดถอย (เช่น ดูดนิ้ว ต้องนอนในที่นอนของผู้ปกครอง) พัฒนาการล่าช้ากว่าที่เคยทำได้ มีพฤติกรรมการกินการนอนที่เปลี่ยนไป ร้องไห้ กังวล หวาดกลัว หงุดหงิดมากขึ้นกว่าเดิม เด็กที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์อาจมีการเล่นตามจินตนาการลดลง และมีการเล่นซ้ำๆ ในลักษณะการเล่นที่เป็นตัวแทนของมุมมองต่อความเจ็บปวดที่เกิดจากเหตุการณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่สามารถสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

แนวทางการดูแลจิตใจ

  • การดูแลจิตใจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
    1. การดูแลแบบทั่วไปสำหรับทุกคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเป้าหมายคือ ลดความตึงเครียด ทำให้ปฏิกิริยาของเด็กกลับมาเป็นปกติ และค้นหาเด็กคนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม เช่น การปฐมพยาบาลทางใจ [Psychological First Aid : PFA] 
    2. การดูแลแบบเข้มข้นสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น การทำกลุ่มบำบัด โดยอาจใช้เป็นศิลปะบำบัดหรือบำบัดตามแนวทาง การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT)
    3. การดูแลเฉพาะบุคคล สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมที่เน้นการกระทบกระเทือนจนเกิดบาดแผลทางจิตใจ (Trauma - Focused Cognitive Behavioral Therapy; TF-CBT), การเล่นบำบัด (Play Therapy), จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy; EMDR)   

การใช้ยาจะใช้ร่วมกับการดูแลทางจิตใจ โดยใช้กับอาการจำเพาะบางอย่าง เช่น ปัญหาการนอนในช่วงแรก ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า มีความหงุดหงิดและวุ่นวาย โดยอาการที่เกิดนั้นจะต้องเป็นมากจนกระทบกับการใช้ชีวิต

การป้องกัน

การป้องกันโดยการลดพฤติกรรมรุนแรงในเด็กตั้งแต่ยังอายุน้อยนั้น จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กโต และอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเป็นความก้าวร้าวรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ กับคนอื่นๆต่อไปในอนาคตได้

อาจนำโปรแกรมที่เน้นปรับการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสารในเด็กปฐมวัย และเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถปรับพฤติกรรมเด็กในเชิงบวกได้นั้น จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพทางจิตที่ดีในภายหลังได้

สำหรับโปรแกรมการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตและความรุนแรงในโรงเรียนนั้น อาจจำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งความปลอดภัยของโรงเรียน และพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เกิดสภาวะความเท่าเทียมของเด็กวัยเรียน กล่าวคือ ให้เด็กได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้อารมณ์สังคม (skill-oriented initiatives with a social-emotional learning focus ) ช่วยให้เด็กและวัยรุ่นพัฒนาทักษะที่ดีในการปรับตนเมื่อเผชิญปัญหา (coping mechanisms) และพัฒนาความสามารถการจัดการความวิตกกังวลด้านสังคม การแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนและคนรอบข้าง การจัดการกับอารมณ์โกรธหรือความผิดหวังในรูปแบบที่มีความเหมาะสม ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวควรจัดการผ่านโรงเรียนหรือห้องเรียน โดยให้ความสำคัญกับบรรยากาศในโรงเรียน/ห้องเรียนและเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองในสังคมของโรงเรียน

Reference

  1. Cimolai V, Schmitz J, Sood AB. Effects of mass shootings on the mental health of children and adolescents. Current psychiatry reports. 2021 Mar;23(3):1-0.
  2. Smart R, Schell TL. Mass shootings in the United States. The RAND Corporation. 2021.
  3. Leiner M, De la Vega I, Johansson B. Deadly mass shootings, mental health, and policies and regulations: what we are obligated to do!. Frontiers in pediatrics. 2018 Apr 16;6:99.
  4. Hirschtritt ME, Binder RL. A reassessment of blaming mass shootings on mental illness. JAMA psychiatry. 2018 Apr 1;75(4):311-2.
  5. Lowe SR, Galea S. The mental health consequences of mass shootings. Trauma, Violence, & Abuse. 2017 Jan;18(1):62-82.
  6. Reeping PM, Gobaud AN, Branas CC, Rajan S. K–12 school shootings: Implications for policy, prevention, and child well-being. Pediatric Clinics. 2021 Apr 1;68(2):413-26.