ในปัจจุบันกล่าวได้ว่ายาเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีกับอาการหลายอย่างในจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แต่แน่นอนที่เด็กและพ่อแม่ย่อมรู้สึกไม่สบายใจเรื่องผลข้างเคียงของยา หรือเกรงว่าเด็กจะไม่ได้หัดคุมตัวเอง แพทย์ที่ใช้ยาทางจิตเวชกับเด็กควรมีความชำนาญในการใช้ยา และสามารถให้ความกระจ่างกับทุกคนได้ว่าเหตุผลในการใช้ยาคืออะไร ประโยชน์คืออะไร ผลข้างเคียงอาจมีอะไรได้บ้าง และมีทางเลือกการรักษาแบบอื่นหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วจิตแพทย์จะไม่ใช้การให้ยาอย่างเดียวในการรักษา แต่อาจจะให้คำแนะนำ ทำจิตบำบัดควบคู่ไปด้วย
ก่อนการให้ยาจิตแพทย์เด็กจะตรวจและประเมินเด็ก ซึ่งอาจรวมถึงการให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ตรวจเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ การสั่งยามักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเหส่านี้ (ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
- ปัสสาวะรดที่นอนบ่อยๆ ในเด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ และทำให้เด็กอับอาย ไม่มั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม
- กลัวกับสิ่งใดหรือสถานการณ์ใดอย่างมาก หรือกังวลในเรื่องทั่วๆ ไปจนรบกวนเด็กในชีวิตประจำวัน
- เด็กซน มีความสนใจสั้นๆ จดจ่อกับอะไรไม่ได้นานพอ ยุกยิกอยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด โกรธง่าย ในบางรายอาจมีปัญหากับเพื่อนและครูที่โรงเรียน
- ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือติดพ่อแม่มาก เด็กมักบอกว่าตัวเองป่วยเป็นโน่นนี่ประจำ
- ซึม ดูไม่ร่าเริงอยู่นานหลายสัปดาห์ ดูเบื่อๆ ท้อ หมดหวัง คิดว่าตัวเองไม่มีค่า ผิด ไม่ดี ไม่สนุกเพลิดเพลินกับกิจกรรมเดิมๆ กินได้น้อย นอนไม่หลับ ผลการเรียนตกต่ำลง
- พฤติกรรมการกินผิดปกติ แบบทีเรียกว่ากลัวอ้วนอย่างมาก พยายามผอม (anorexia nervosa) หรืออีกแบบที่กินทีละมากๆ เป็นพักๆ แล้วก็ทำให้ตนเองอาเจียนทีหลัง (bulimia nervosa) บางคนมีทั้ง 2 แบบ
- อารมณ์สดใส “ห้าว” หรือ “กล้า” เกินปกติ ฉุนเฉียวใจร้อน ไม่ยอมนอน จะทำโน่นนี่ทั้งวัน พูดมาก ไม่เกรงใจใคร วางแผนใหญ่โต ซึ่งสลับมากับอาการซึมเศร้าได้
- โรคจิต คิดและเชื่อแปลกๆ ไม่อยู่บนเหตุผลและความจริง หวาดระแวง ประสาทหลอน ( อาจเป็นหูแว่ว หรือเห็นภาพหลอน ) แยกตัวจากสังคม มีพฤติกรรมแปลกๆ ทำซ้ำๆ ไม่สนใจดูแลตัวเองเท่าเดิม เช่นไม่อาบน้ำ หรือหวีผม
ยากลุ่มหลักๆ ที่ใช้กับอาการทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นได้แก่
- ยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการซน หรือความสนใจสั้น
- ยารักษาอาการซึมเศร้า ซึ่งใช้รักษาโรคซึมเศร้ารุนแรง ไม่ยอมไปโรงเรียน กังวลเกินเหตุ ปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือซน สมาธิสั้น
- ยารักษาโรคจิตเภท ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ลดอาการประสาทหลอน หรือความคิดหลงผิดที่ไม่เป็นความจริงเหล่านั้น
- ยา lithium และยากันชัก มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำของโรค mania ยาลดความกังวล ใช้เมื่อเกิดความกังวลอย่างมากในระยะสั้นชั่วครั้งคราว
ยาเหล่านี้ควรให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นผู้ใช้เท่านั้น เพราะยาทุกตัวถึงจะมีประโยชน์แต่ก็มีผลข้างเคียงต่างๆ ทั้งที่ไม่รุนแรงจนถึงน่ากังวลได้ การได้รับการรักษาโดยผู้ชำนาญจึงเป็นการช่วยเด็กให้กลับมามีชีวิตที่ปกติได้ดีที่สุด