วัยอนุบาล

 
วัยนี้มีพัฒนาการต่อจากวัยทารกเริ่มจากอายุ 2-5 ปี ระยะนี้เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลง ของบุคลิกภาพมากที่สุด เช่นต้องการเป็นตัวของ ตัวเองค่อนข้างดื้อ ซุกซนมาก และเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของความฝันและความจริง ในบางครั้งความคิดและการกระทำของเด็กจะไม่ตรงกับความเป็นจริง

เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาที่สำคัญ 4 ด้านคือ

  1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น ส่วนแขนและขาจะยาวออกไป ศีรษะจะได้ขนาดกับลำตัว โครงกระดูกแข็งแรงขึ้น เริ่มมีทักษะในการเคลื่อนไหว ส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น รู้จักป้อนข้าวเอง แต่งตัวได้เอง ใส่รองเท้าและอาบน้ำได้ ในปลายวัยเด็กตอนต้นฟันแท้จะเริ่มขึ้น 1-2 ซี่
  2. พัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัยนี้มักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดและโกรธง่าย ดื้อรั้นเป็นวัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธ และอาการดังกล่าวจะค่อยๆหายไปเองเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนมีเพื่อนเล่นมาก แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
  3. พัฒนาการทางสังคม เริ่มรู้จักคบเพื่อน เล่นกับเพื่อนปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน รู้จักร่วมมือ การยอมรับฟัง เริ่มรู้จักแข่งขันระหว่างกลุ่มเมื่ออายุ 4-5 ขวบ และมักเล่นกับเพศเดียวกัน การเล่นกันเพื่อนนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นไม่รู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง
  4. พัฒนาการทางภาษา จะเป็นไปทีละขั้น เริ่มใช้ภาษาได้ดีพอสมควร รู้จักศัพท์เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เรียนรู้คำใหม่ๆมากขึ้น พ่อแม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการทางภาษาของเด็กมาก เช่นการชักจูงให้เด็กพูด โดยการซักถาม การแนะนำที่ดี การเน้นคำให้ถูกต้องเมื่อพูดกับเด็ก การที่ผู้ใหญ่ยอมรับฟังการพูดคุยของเด็กจะช่วยให้เด็กรู้จักพูดในสิ่งที่เป็นสาระยิ่งขึ้น

ลักษณะพฤติกรรมทางจิตใจที่พบได้บ่อยในวัยนี้คือ

ก. ความอิจฉาน้อง

เป็นอารมณ์ปกติที่พบได้บ่อยในวัยนี้ เด็กอาจแสดงออกโดยการ ทุบตีน้อง เย้าแหย่น้อง หรือแสดงความประพฤติไม่เหมาะสม เช่นดูดนิ้ว พูดติดอ่าง กินอาหารน้อยลง นอนไม่หลับ ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มอิจฉาน้องเป็นเมื่อเข้าวัยขวบที่ 3 โดยมาก จะเห็นชัดเมื่ออายุระหว่าง 2-4 ปี
 
 สาเหตุ
  1. พ่อ แม่ ผู้ใหญ่อาจเป็นต้นเหตุ เช่นกล่าวกับเด็กว่า “แม่ไม่รักแล้วรักน้องดีกว่า” การเปรียบเทียบเด็กกับน้องๆว่าน้องเก่งกว่า น่ารักกว่าการที่พ่อแม่แสดงให้เห็นว่ารักน้องมากกว่าจะเป็นด้วยคำพูด หรือการกระทำก็ตาม เช่น การกล่าวชมเชยให้ความสนใจน้องอย่างเกินควร
  2. เกิดจากน้อยใจว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า ได้รับความสนใจน้อยลงเนื่องจากเด็กไม่เข้าใจ พ่อแม่นั้นสามารถให้ความรักลูกคนอื่นๆ ได้เท่ากับที่พ่อแม่รักตัวเอง เด็กเหล่านี้รู้สึกว่าตนสูญเสียความรักที่เคยได้รับจากพ่อแม่ และน้องเป็นผู้ทำให้พ่อแม่รักตนน้อยลง
  3. เด็กในวัยนี้ยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่อยู่เสมอและเด็กยังไม่รู้จักแบ่งปัน เขายังถือตนเป็นใหญ่อยู่และยังไม่เข้าใจเหตุผลดีพอเมื่อได้รับการสนใจน้อยลงเพราะมีผู้อื่นมาแทนที่ก็ย่อมไม่พอใจแสดงการอิจฉาน้องได้
  4. ขาดการอบรมที่ดี พ่อแม่ให้การตามใจ ทำให้เป็นคนไม่ยอมใคร
วิธีแก้ไข
  1. บอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าตนจะมีน้องใหม่ มารดาควรให้เด็กคุ้นเคยกับน้องในท้อง พูดถึงน้องในทำนองว่าจะเป็นเพื่อนเล่นของเขา
  2. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าตนมีส่วนเป็นเจ้าของน้อง ที่จะเกิดใหม่และให้ความมั่นใจ กับเด็กว่าเขาก็ยังเป็นผู้หนึ่งที่ท่านรักและภูมิใจอยู่เสมอ
  3. หากต้องมีการเปลียนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งภายในบ้าน เช่นเด็กต้องย้ายไปอยู่ ห้องอื่นและให้น้องเข้าอยู่แทน ควรชี้แจงให้เด็กทราบด้วยเหตุผลว่าเด็กโตแล้วและให้ย้ายไปอยู่ห้องที่ดีกว่าหรือใหญ่กว่า
  4. ผู้ที่ดูแลเด็กที่บ้านขณะแม่ไปคลอดควรเป็นผู้ที่คุ้นเคย
  5. เมื่อแม่กลับจากโรงพยาบาลใหม่ๆ อาจจะให้คนพาเด็กไปเล่น ข้างนอกเพื่อไม่ให้เด็กเห็นความชุลมุนวุ่นวายกับการจัดที่ทางให้น้องใหม่และท่าทีคนอื่นๆในบ้านที่พากันมาสนใจน้องใหม่
  6. พยายามให้เด็กมีส่วนในการดูแลน้องเช่นช่วยแม่หยิบผ้าอ้อมหยิบขวดนมให้น้อง และควรเตรียมให้เขารู้ว่าการเป็นพี่นั้นดีอย่างไร และสำคัญอย่างไร เขาจะทำอะไรให้น้องได้บ้างเป็นต้น
  7. พ่อแม่ควรให้ความสนใจแก่เด็กตามสมควรเมื่อมีญาติ เพื่อนฝูงมาเยี่ยมน้องใหม่
  8. ไม่แสดงความรักและสนใจน้องจนออกนอกหน้าเกินควร ให้ความรักแก่พี่น้องเท่ากัน อย่าแสดงว่ารักใครมากกว่าใคร และอาจแสดงความเห็นใจ เขาบ้างเวลาที่น้องกวนหรือรังแกเขา อย่าพูดหรือแสดงกิริยาว่ารักน้องมากกว่า
  9. ผู้ใหญ่ พ่อแม่ควรระวังคำพูด หรือจะกระทำใดๆ ที่ทำให้เด็กเสียกำลังใจหรือเป็นปมด้อย
  10. เมื่อน้องโตเล่นกับพี่มีการทะเลาะกัน พ่อแม่ควรทำตัวเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถ้าทะเลาะกันต้องทำโทษทั้งคู่ เช่น ให้แยกกันเล่นคนละห้อง ถ้าอยากเล่นด้วยกันต้องไม่ทะเลาะกัน ทำโทษด้วยการให้เหตุผลเช่นทำไมจึงโดนทำโทษ หรือไม่ให้บางสิ่งบางอย่างที่ชอบ เช่น ไม่ให้ดูรายการโทรทัศน์ ไม่พาไปเที่ยว เป็นต้น
  11. เวลาซื้อของให้น้องใหม่ควรซื้อให้พี่ด้วย
  12. ถ้าเด็กดีต่อน้องควรให้รางวัล
  13. ในบางโอกาสควรให้คนพี่นั่งตัก นอนตัก แม่บ้าง จะทำให้เด็กพอใจและไม่เห็นความเปลียนแปลงมากนัก
ความรักพี่รักน้องในเด็กมิได้เกิดติดตัวมากับเด็ก แต่ได้รับการปลูกฝังให้มีขึ้นจากท่าทีของพ่อแม่ที่ให้ความรักและมั่นใจแก่เด็ก เด็กที่รู้สึกว่าตนเป็นที่รักและต้องการของพ่อแม่มักไม่อิจฉาน้อง และมีความพอใจที่เห็นสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในครอบครัว

ข. ความดื้อ 

เป็นความรู้สึกต่อต้านซึ่งเป็นลักษณะของเด็กในวัยนี้โดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-3 ฝ ปี เพราะเขาอยู่ในระยะปฏิเสธไม่ยอมใคร จะดื้ออย่างที่เขาต้องการทำเท่านั้น อาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บังคับเกินกว่าเหตุ ตั้งกฎเกณฑ์มากเกินไป หรือทำตนไม่สม่ำเสมอทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้อะไร
 
วิธีแก้ไข
  1. ผู้ใหญ่พ่อแม่ควรร่วมมือในการอบรมเด็ก ไม่ขัดแย้งกัน
  2. ตั้งกฎเกณฑ์ที่เด็กสามารถทำได้ตามวัยและตามความสามารถของเขา
  3. เวลาเด็กทำอะไรควรช่วยแนะนำในแนวทางที่เหมาะสมด้วยเหตุด้วยผล
  4. งดการดุและการลงโทษพร่ำเพรื่อ ไม่บังคับเด็กจนเกินไป
  5. ให้คำชมเชยเมื่อเด็กทำดี

แนวทางในการเลี้ยงดูอบรมเด็กให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

  1. ให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและเพียงพอเพื่อสมองจะได้เจริญเต็มที่
  2. ให้เด็กได้พักผ่อนนอนหลับ ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเด็ก
  3. พาไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนกับแพทย์เป็นระยะๆเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและพิการด้วยโรคต่างๆ
  4. ช่วยฝึกหัดให้กำลังใจเด็กเมื่อเริ่มคลาน นั่ง ยืน เดิน และพูด
  5. พ่อแม่ควรมีความเข้าใจกันซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นมั่นคงภายในบ้าน แสดงความรักความเอาใจใส่ ความห่วงใยในตัวลูกให้ลูกได้รับรู้อยู่เสมอ ให้เขามั่นใจว่าเขาเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าคนหนึ่งในครอบครัว
  6. ช่วยให้เด็กเติบโตมีอารมณ์มั่นคง โดยการอบรมสั่งสอนลูกอย่างมีเหตุผล มีวินัยที่ดี แต่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป
  7. ช่วยให้เด็กเข้ากับคนอื่นในสังคมได้ดีโดย
  8. สนับสนุนให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
  9. ให้ความรู้และประสบการณ์โดยการพูดคุยคำตอบคำถามพาไปเที่ยวเมื่อมีโอกาส
  10. ส่งเสริมที่ดีในตัวลูก อย่าทำให้เกิดปมด้อยโดยการนำไปเปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ
  11. เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกได้ทำตามในทุกๆเรื่องๆ
  12. ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความนิ่มนวล เข้าใจความรู้สึกของเด็ก เข้าใจความต้องการของเด็ก จะช่วยให้เกิดสัมพันธภาพอันดีต่อกัน
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง: อัญชลี จุมพฎจามีกร 
ผู้ให้คำปรึกษา: ผศ.สเปญ อุ่นอนงค์ 
 
เอกสารอ้างอิง
  1. กองสุขภาพจิต กรมการแพทย์. “เลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี” ข่าวสารสุขภาพจิต ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 (พ.ย.2529) หน้า 88.
  2. นักศึกษาพยาบาลปีที่ 4 โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี. “แผ่นพับเผยแพร่เรื่องเด็กดื้อ”
  3. ศิริวิไล. คู่มืออ่านพฤติกรรมเด็ก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์, อ.อิทธิพล, 2526.
  4. สุชา จันทร์เอมและสุรางค์ จันทร์เอม. จิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2520.
  5. หน่วยจิตเวช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช. “แผ่นพับ เผยแพร่ ทำไมเด็กจึงขี้อิจฉา”