ทำอย่างไรจึงอยู่อย่างมีความสุข

 
ความเอ๋ย ความสุข
ใครๆทุกคน ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
 
“แกก็สุข ฉันก็สุขทุกเวลา”
 
แต่ดูหน้าตาแห้งยังแคลงใจ
 
 
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็ “สุก”หรือเกรียมได้
 
เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป
 
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอ่ยฯ
 
ท่านพุทธทาสภิกขุ
 
 
ความสุข เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ที่สามารถแสวงหาได้ซึ่งแนวทางในการทำตัวให้มีความสุข มีดังต่อไปนี้

1.การรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรง

สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมีอิทธิพลต่อกันและกันคนที่มีสุขภาพกายดีย่อมส่งผลให้มีจิตใจร่าเริงเข้มแข็ง การทำให้สุขภาพแข็งแรงได้แก่การรับประทานอาหารถูกส่วน การพักผ่อนเพียงพอ การรักษาความสะอาดของร่างกาย ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างพอเพียง

2. มีความสุขกับการทำงาน

การเลือกทำงานที่ชอบหรือการสร้างความพึงพอใจในงานที่ทำหาวิธีการทำงานให้มีความสุขพร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายหลายอย่างภายในขอบเขตที่สังคมยอมรับ ตามความสามารถของตนเองและมองเห็นหนทางไปสู่ความสำเร็จได้ แล้วลงมือปฏิบัติอย่างตั้งใจก็ย่อมจะเกิดความสุขเกิดความปิติจากความสำเร็จในงานตามมา

3. รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง

ควรได้สำรวจตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนเรามีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย เราต้องมองหาส่วนดี เห็นคุณค่า ชื่นชม พยายามพัฒนาส่วนดีพร้อมทั้งยอมรับในข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข
คนที่มีความสุขนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยพบอุปสรรค ข้อขัดแย้งในใจหรือไม่เคยพบปัญหา แต่อาจจะเป็นคนที่บางครั้งแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องใช้ความพยายามความอดทน ก็จะสามารถเผชิญปัญหาไปได้

4. มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี

ควรมองหาความสุข ความเพลิดเพลิน เพื่อช่วยลดความตึงเครียดต่างๆ ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย การหัวเราะทำให้จิตใจเบิกบาน มีการกระเพื่อมของหน้าท้องหัวใจปอดได้ออกกำลัง มีผลถึงกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน หลัง กระบังลม และขา
เกิดความพึงพอใจในความสุข นอกจากนี้ไม่ควร มองโลกในแง่ร้ายเวลาจะทำอะไรต้องหาจุดดีของเรื่องนั้นให้พบ เมื่อพบแล้วทำความพอใจและชื่นชมก็จะเกิดแต่ความดีงาม

5. ไม่ควรเก็บอารมณ์ขุ่นมัว

การเก็บกดอารมณ์ทำให้เกิดความ ขุ่นมัว สับสน วุ่นวายใจเป็นการก่อให้เกิดความตึงเครียด ทางอารมณ์ ผลทำให้สีหน้าหม่นหมอง น่าเกลียดขากรรไกรประกบกันแน่น ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอย เหี่ยวย่น ผมสีเทา-ขาว ผมร่วง
โรคผื่นคัน พุพอง และสิวตามมา เราควรต้องหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัวโดยการแสดงออกในทางที่สังคมยอมรับและได้ตอบสนองตามความต้องการของเราแต่ถ้าพบความยุ่งยากใจเพิ่มขึ้น ก็ควรหาวิธีหลีกเลี่ยงเสียก่อน เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์จะเผชิญความตึงเครียดทางอารมณ์ได้ถึง ขีดหนึ่งเท่านั้นจากนั้นต้องหาทางผ่อนคลาย ดังคำกลอนที่ว่า
 
เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง
 
วุ่นก็ให้ว่าง ทุกอย่างก็สบาย

6. ควรมีงานอดิเรกและการพักผ่อนหย่อนใจ

ควรหาอะไรที่ชอบและพอใจทำ ทำในเวลาว่างที่เหลือจากกิจวัตรประจำวันการทำอะไรในสิ่งที่พึงพอใจย่อมเกิดความสุขเพลิดเพลิน ทำให้ไม่มีเวลาว่างที่จะคิดกังวลเรื่องต่างๆ เป็นการฝึกการใช้เวลาว่างนั้นๆให้มีสมาธิในการทำสิ่งที่พอใจซึ่งจิตมีสมาธิจะเป็นจิตที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวง่าย พบว่างานอดิเรกที่เกี่ยวกับกีฬาจะช่วยให้มีความสุข สนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส นอกจากนั้นการได้ท่องเที่ยวไปกับธรรมชาติที่กว้างใหญ่ เช่น ท้องฟ้า ทะเล ป่าเขาลำเนาไพร จะก่อให้เกิดความปลอดโปร่ง สดชื่น มีความสุข และถ้าต้องการทำจิตให้เป็นสมาธิในทางศาสนาจะก่อให้เกิดความสงบสุขทางใจเป็นอย่างมาก

7. หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ

แต่ละชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป เราจึงควรหาเพื่อนหรือใครสักคนที่สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ ค้นหาคนที่คุณรักและเขารักคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูล ปลอบขวัญ บำรุงจิตใจซึ่งกันและกันสามารถที่จะระบายทุกข์ ปรึกษาขอความคิดเห็น การแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือในที่สุดอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวและการบำบัดทางจิตโดยเฉพาะ ทั้งนี้ขึ้นกับปัญหาความซับซ้อน ซึ่งนับเป็นวิธีการแก้ปัญหาการปรับตัวตั้งแต่ต้นที่ชาญฉลาด

8. พร้อมที่จะเผชิญปัญหาและความกังวลใจ

เมื่อพบอุปสรรค พึงพิจารณาปัญหาอย่างใช้เหตุและผลโดยค้นหาข้อเท็จจริง มองปัญหานั้นๆและหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา ทำการตัดสินใจแล้วปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจไว้ หรือถ้าปัญหารุมเร้ามากจนต้องการหลีกให้พ้น
“จงใช้ชีวิต อยู่เพื่อวันนี้เท่านั้น” ดังคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุว่า
 
สิ่งล่วงแล้ว แล้วไป อย่าใฝ่หา
 
ที่ไม่มา ก็อย่าพึงคนึงหวัง
 
อันวันวาน ผ่านพ้น ไม่วนวัง
 
วันข้างหน้า หรือก็ยัง ไม่มาเลย
 
หรือถ้าปัญหาต้อนท่านไปจนมุมให้มองพิจารณาดูผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้วทำใจให้ยินดีเผชิญกับสิ่งนั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปให้พิจารณาว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทำลายความสุขแห่งชีวิตมามากเพียงพอแล้ว แล้วหันกลับใช้เหตุผลในการพิจารณาแก้ไขสิ่งร้ายๆให้กลายเป็นดีด้วยใจสุขุมเยือกเย็น ท่านก็จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

9. ใช้เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด

เมื่อพบกับความผิดหวังจงใช้เวลาเป็นเครื่องช่วยเยียวยา เมื่อพลาดหวังแล้วจงอดทน และมีความหวังต่อไป ความหวังเป็นพลังหรือแรงจูงใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อประสบความผิดหวัง ไม่ควรใช้วิธีถอยหนีหรือเลี่ยงปัญหา ควรคิดเสมอว่า “ท้อแท้-หงอย ท้อถอย-แพ้” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ควรแก้ปัญหาโดยใช้สิ่งเสพย์ติด เช่นสุรา หรือยาบางชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลืมความทุกข์ ได้เพียงชั่วขณะไม่ทำให้เราพิจารณาใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เป็นการหลีกหนีปัญหาที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

10. ค้นหาเป้าหมายของชีวิต

การคิดฝันไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความคิดฝันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งความคิดฝันจะทำให้เรามีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตใกล้เคียง กับความสามารถที่แท้จริงและสอดคล้องกับความเชื่อและอุดมคติ แล้วทำการลงมือปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมาย ถ้าทำเช่นนี้ได้เราก็จะประสบความสำเร็จและความสมหวัง เกิดความสุขทางใจได้
 
จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการเสนอแนวทางในการปฏิบัติอย่างกว้างๆการทำตัวให้มีความสุขได้เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต้องอาศัยการเรียนรู้ และหาวิธีการ แล้วนำไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการของผู้ต้องการแสวงหาความสุขนั่นเอง
 
ในท้ายที่สุดขอฝาก
 
อันทุกข์สุขอยู่ที่ใจ มิใช่หรือ
ใจเราถือเป็นทุกข์ไม่สุกใส
 
ใจไม่ถือเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ
เราอยากได้ความทุกข์หรือสุขนา
 
“ขอให้ท่านผู้อ่านจงประสบแต่ความสุข…….”
 
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง: นางจิรา เติมจิตรอารีย์ พยาบาลจิตเวช ภาควิชาจิตเวชศาสตร์