ความก้าวร้าวรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น (Violence and Aggression)

 
ตามคำจำกัดความของ Mercy และ Rosenberg คำว่า violence หมายถึง การข่มขู่ว่าจะใช้หรือมีการใช้กำลังต่อบุคคลอันอาจหรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตขึ้นจริง ซึ่งมักหมายถึง การพกพาอาวุธ การต่อสู้ทำร้ายตนเองหรือคนอื่น เป็นต้น ส่วน aggression นั้น มักหมายถึง ความรู้สึกความต้องการความรุนแรงภายในซึ่งอาจเปลี่ยนรูปออกในทิศทาง บุคคล หรือเป็นเพียงความรู้สึก คิด ท่าทางคำพูด ก็ได้
 
การมีพฤติกรรมและความคิดดังกล่าว เป็นปัญหาทางสุขภาพ เนื่องจาก ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการบาดเจ็บโดยตรงแล้ว ยังอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น การสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด เกิดอุบัติเหตุ ประพฤติผิดทางเพศ ติดโรคทางเพศสัมพันธ์และ เอดส์ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงปัญหาต่อการเรียน ครอบครัว และสังคม

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิด violence มากขึ้น

  1. ระดับบุคคล ได้แก่บุคลิกภาพอันเป็นผลจากทั้งพันธุกรรม การตั้งครรภ์ การคลอดน้ำหนักแรกเกิดต่ำและการเลี้ยงดู ระดับสติปัญญาและความสำเร็จในการศึกษา ยากจน เคยเห็นหรือเคยถูกทำร้ายเอง มีความภูมิใจในตัวเองต่ำ และมีการใช้สุราสารเสพติดต่างๆ
  2. ระดับครอบครัว เช่นความยากจน ครอบครัวใหญ่อยู่อย่างแออัด การหย่าร้างครอบครัวแตกแยก ผู้ปกครองมีการศึกษาไม่สูง มีทัศนคติในการใช้ความรุนแรงในทางบวกหรือเคยกระทำต่อกัน
  3. ระดับเพื่อนบ้านและชุมชน ได้แก่ชุมชนที่ขาดแคลนแออัด ไม่ค่อยได้ติดต่อจากสังคมภายนอก มีอัตราการตกงานสูง มีแหล่งสุรายาเสพติด มี gang และชุมชนไม่ร่วมมือกัน
  4. ระดับสังคม ได้แก่ สังคมที่กำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีการแบ่งชนชั้นเชื้อชาติ วัฒนธรรม มีการจำหน่ายสุรายาเสพติด รวมทั้งอาวุธต่างๆทั่วไป สื่อต่างๆมักแสดงเรื่องความรุนแรง เห็นได้ว่า ปัจจัยกลุ่มนี้ มักถูกล่าวอ้างถึงว่าเป็นเหตุหลักของปัญหานี้ ซึ่งไม่ตรงความจริง

การช่วยเหลือในฐานะบุคลากรทางการแแพทย์

การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ นอกจากช่วยเหลืออาการบาดเจ็บให้รอดชีวิต ควร
  1. ให้ความปลอดภัย ความลับต่อข้อมูล
  2. ให้การปลอบใจ ค้นหาความรู้สึกของผู้ป่วย เช่น ตกใจกลัว ผิดหวังเสียใจ หรือรู้สึกผิด
  3. อาจช่วยแนะนำวิธีการแก้ปัญหาหลบเลี่ยงความรุนแรงเฉพาะหน้า
  4. หากพบว่า มีปัญหาในระดับบุคคลหรือครอบครัวรุนแรง ควรปรึกษาบุคลาการทางสุขภาพจิต
  5. การช่วยเหลือผู้กระทำ ไม่ควรละเลยคนกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่ควรได้รับการดูแลอย่างยิ่ง เพราะเขาอาจกำลังควบคุมตนเองไม่ได้ รู้สึกผิด และการช่วยเหลือถือเป็นการป้องกันการเกิดซ้ำในระยะยาว
ก่อนอื่น ควรมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกที่สถานพยาบาลของท่าน ปัจจัยที่อาจช่วยทำนายว่า คนใดอาจเสี่ยงที่จะกระทำได้แก่ เพศชาย มีการใช้สุราสารเสพติด มี gang มีอาวุธ เคยเจ็บป่วยทางจิตเวช การศึกษาต่ำ ถูกเจ้าหน้าที่นำส่ง มีประวัติเคยกระทำการดังกล่าว หรือเคยถูกกระทำในครอบครัว และยังมีความเคียดแค้น
 
การปฏิบัติ คือ ไม่ควรให้รอนานปะปนกับคนทั่วไป พบเขาในที่เงียบเป็นส่วนตัว มีประตูเข้าออกที่ทั้งท่านและเขาจะใช้ได้โดยสะดวก ให้เจ้าหน้าที่ปลดอาวุธ ให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นความลับ และทุอย่างที่ให้กับผู้ถูกกระทำ หากยังรู้สึกว่า เขายังควบคุมตนเองได้ยาก ควรเสนอให้ยาเช่น haloperidol และหากจำเป็นอาจต้องให้มีการพันธนาการ
 
บทความโดย: ผศ.นพ. ปราโมทย์ สุคนิชย์
 
References:
  1. Hennes H. A review of violence statistics among children and adolescents in the United States.Pediatric Clin N Am. 45; 269-80.
  2. Christine M, Kelly W, Strait R. Impact of violence and the emergency department response to victimes and perpetrator: Issues and protocols. Pediatric Clin N Am. 45;449-58.