บุคคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกลำบากใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยใกล้ตาย เนื่องจากภาวะใกล้ตายของผู้ป่วยอาจกระตุ้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายของตัวผู้รักษาเอง หรืออาจรู้สึกล้มเหลวที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ หรือมองไม่ออกว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะนี้ได้อย่างไร ทำให้รู้สึกท้อแท้ หรืออึดอัดใจ และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญกับปัญหา โดยให้เวลากับผู้ป่วยน้อยลง หรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับผู้ป่วย
ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการให้การศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่การแพทย์ในปัจจุบันเน้นการรักษาให้หายจากโรค ทำให้รู้สึกล้มเหลวเมื่อไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ และมองข้ามความสำคัญของการให้การดูแลและการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวในด้านต่างๆ ซึ่งยังสามารถทำได้อีกมากไป
จุดสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงอยู่ที่ การทำความเข้าใจและเอาชนะความรู้สึกอึดอัดใจของตนเอง โดยมองให้เห็นถึงสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้
หากสังเกตดูตามความเป็นจริง จะพบว่าในฐานะบุคคลากรทางการแพทย์นั้น เราสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ทำได้มากกว่าคือการช่วยบรรเทาอาการ แต่ในบางครั้งแม้แต่การบรรเทาอาการเราก็ยังไม่สามารถทำได้ สิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้เสมอ และเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากก็ คือ การให้การดูแลเอาใจใส่และความห่วงใย (cure sometimes, comfort often, care always).
แนวทางการให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องสนใจปัญหาต่างๆของผู้ป่วยทั้งทางกาย ทางจิตใจ และปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับการเจ็บป่วย และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด
1. ปัญหาทางกาย
- ให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆที่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน เช่น อาการเจ็บปวด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บปวด ควรให้ยาควบคุมอาการปวดอย่างเต็มที่
- ให้การรักษาอาการทางจิตเวช ในกรณีต่างๆ เช่น มีอาการเศร้าในขั้นรุนแรงมีความคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง มีพฤติกรรมก้าวร้าววุ่นวายหรือสับสนซึ่งมักเกิดจาก acute delirium
- ไม่ให้การรักษาที่ไม่จำเป็น หรือไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมากขึ้น
- ให้การดูแลด้านต่างๆ เช่น การนอน การขับถ่าย การดูแลเนื้อตัวให้สะอาดและให้อาหารให้เพียงพอ
2. ด้านจิตใจ
- ให้เวลาในการดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง
- ให้เวลาพูดคุย สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสซักถามถึงสิ่งต่างๆที่สงสัย เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และได้พูดถึงความคิด ความรู้สึกต่างๆโดยไม่ยัดเยียด และสังเกตจากความต้องการของผู้ป่วยในขณะนั้น
- ผู้ป่วยบางคนอาจต้องการพูดเรื่องเกี่ยวกับความตายของตน แต่บางรายก็อาจไม่อยากพูด ควรประเมินและพิจารณาตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย
- ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าแม้จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และผู้รักษาจะพยายามควบคุมอาการต่างๆ อย่างเต็มที่
3. ด้านสังคมเศรษฐกิจ
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น มีคนที่ผูกพันเช่น ญาติสนิท คอยดูแล ถ้าไม่มีญาติหรือคนใกล้ชิด ก็ควรจัดให้มีผู้ดูแลประจำ ที่ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอได้
- ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสะสางเรื่องต่างๆให้เรียบร้อยก่อนจะจากไป ทั้งด้านการเงินการงาน และเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน
- คำนึงถึงปัญหาทางด้านการเงิน และภาระการใช้จ่าย ที่ผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องแบกรับ
การบอกความจริงกับผู้ป่วย
การบอกความจริงเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคกับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกอึดอัดใจ เนื่องจากเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลเสีย เช่นทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจ แต่การไม่บอกความจริงกับผู้ป่วยก็ทำให้ผู้ป่วยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของตนเอง และไม่สามารถร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา หรือจัดการกับปัญหาของตนเองตามความเหมาะสมและความต้องการของตนได้
โดยทั่วไปผู้ป่วยจึงควรมีสิทธิได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและแผนการรักษาของตน แต่ผู้ป่วยแต่ละคนก็อาจต้องการรับรู้ความจริงไม่เท่ากัน การให้ข้อมูลกับผู้ป่วยจึงควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยมีจุดมุ่งหมายว่า จะพยายามบอกความจริงแก่ผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่ผู้ป่วยต้องการ หรือสามารถรับได้ โดยมีแนวทางทั่วไปตามที่แสดงไว้ในตารางที่ 1
แนวทางการบอกความจริงเกี่ยวกับโรคร้ายแรงแก่ผู้ป่วย
- ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นการตรวจรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลาในการรับรู้และปรับตัวกับข้อเท็จจริงที่ได้รับ
- ประเมินว่าผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนมากน้อยเพียงใด โดยอาจถามผู้ป่วยว่า คิดว่าตนป่วยเป็นอะไร เป็นมากน้อยเพียงใด
- ประเมินว่าผู้ป่วยต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนมากน้อยเพียงใด โดยสังเกตจากการพูดคุย และปฏิกิริยาของผู้ป่วยต่อข้อมูลที่ได้รับ
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยและแผนการรักษากับผู้ป่วย ตามที่ประเมินว่าเหมาะสม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถาม และพร้อมที่จะให้ข้อมูลมากขึ้นหากผู้ป่วยต้องการ เช่น ถามย้ำว่า ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่เราบอกอย่างไร และอยากรู้อะไรเพิ่มเติมจากนั้นหรือไม่
- แสดงความเห็นใจและเข้าใจปฏิกริยาทางจิตใจ ต่อการทราบข่าวร้ายของผู้ป่วย โดยพูดสะท้อนความรู้สึกของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่
- ให้ความหวังและความมั่นใจ ว่าจะให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ต่อไป โดยย้ำถึงสิ่งที่สามารถทำได้ ตามที่เป็นจริง เช่น การรักษา การควบคุมอาการ
บทความโดย: ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์
บรรณานุกรม
- ธนา นิลชัยโกวิทย์. เทคนิคการให้การปรึกษาผู้ป่วย HIV. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2537: 74-94.
- Buckman R, Kason Y. How to break bad news: A guide for health-care professionals. London: Papermac, 1992: 11-81.
- Donovan K. Breaking bad news. In: Division of Mental Health, World Health Organization. Communicating bad news: Behavioral science learning modules. Geneva: Division of Mental Health, World Health Organization, 1993: 3-14.
- Dubovsky SL, Weissberg MP. Clinical psychiatry in primary care, 3rd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1986: 176-82.
- Premi JN. Communicating bad news to patients. In: Division of Mental Health, World Health Organization. Communicating bad news: Behavioral science learning modules. Geneva: Division of Mental Health, World Health Organization, 1993: 15-21.