ปัญหาทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV

 
การติดเชื้อ HIV จัดเป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขประมาณการว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ประมาณ 700,000 คน และในปี 2548 จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 1.8 ล้านคน
 
ที่ผ่านมาจิตเวชศาสตร์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV ในประเด็นสำคัญๆ 3 ประการคือ
 
1. ผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณร้อยละ 50 จะมีอาการทางจิตประสาทที่เกิดจากพยาธิสภาพในสมอง เนื่องจากการติดเชื้อ HIV และอาจพบอาการทางจิตหรือระบบประสาทส่วนกลางนี้เป็นอาการนำอาการแรกของการติดเชื้อ HIV ได้ถึงร้อยละ 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด
 
2. ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมากจะมีปัญหาในการปรับตัวกับการติดเชื้อ และผลกระทบจากการเจ็บป่วยที่มีต่อตนเองและครอบครัว ทำให้มีปํญหาทางจิตเวช เช่น adjustment disorder, อาการวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า
 
3. มีการนำความรู้ทางจิตเวชศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และในการให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจเลือด และการติดเชื้อ HIV แก่ผู้ป่วยและครอบครัว

การให้การปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจเลือดและการติดเชื้อ HIV

การให้การปรึกษาเป็นการให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ เพื่อช่วยให้ผู้รับการปรึกษาสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ โดยเริ่มต้นจากการสำรวจทำความเข้าใจปัญหา และสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แล้วจึงตัดสินใจเลือกทางออกที่เหมาะสม และวางแผนในการปฏิบัติตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป
 
การให้การปรึกษาเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV อาจทำได้ทั้งเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง, เป็นการให้การปรึกษาก่อนการเจาะเลือด และในการแจ้งผลเลือดหลังการตรวจเลือดแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญในการให้การปรึกษาในตามที่แสดงไว้ ในตารางที่ 1, ตารางที่2 และตารางที่ 3

กลุ่มอาการทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV

กลุ่มอาการทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ
 
1. อาการทางจิตเวชที่เกิดจากพยาธิสภาพทางสมองหรือทางกาย จากการติดเชื้อ HIV หรือโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
 
อาการทางสมองและระบบประสาทส่วนกลางเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ HIV แม้แต่กลุ่มที่ยังไม่มีอาการแสดงอื่นๆของโรคเอดส์ชัดเจน ก็อาจมีอาการทางสมองได้ กลุ่มอาการทางจิตเวชที่พบบ่อยจากการติดเชื้อ HIV ได้แก่ อาการสมองเสื่อมจากโรคเอดส์ (AIDS dementia), organic mood disorder, และ organic personality disorder นอกจากนี้ยังอาจพบอาการแสดงอื่นๆ เช่น acute delirium, อาการโรคจิต, และ mania ได้ด้วย
 
สาเหตุของกลุ่มอาการทางจิตต่างๆนี้นอกจากการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น toxoplasmosis, cryptococcal meningitis, lymphoma, และวัณโรค
 
อาการสมองเสื่อมจากโรคเอดส์ (AIDS dementia) เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด โดยมีอาการและอาการแสดงที่สำคัญ ดังนี้
  1. อาการที่พบบ่อย ความจำเสื่อม สมาธิลดลง apathy แยกตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม psychomotor retardation, ขาดความกระตือรือล้น ปวดศรีษะ(มักไม่รุนแรง)
  2. อาการที่พบได้บ้าง motor deficits, อาการชัก อาการทางจิตเวชต่าง ๆ เช่น อาการหลงผิด ประสาทหลอน
  3. อาการที่พบได้น้อย decreased level of consciousness, aphasia, apraxia
2. อาการทางจิตเวชที่เป็นผลจากการปรับตัวกับปัญหาที่เกิดจากการติดเชื้อ และการเจ็บป่วย
 
อาการทางจิตเวชที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือ adjustment disorder, โรคอารมณ์เศร้า, และโรควิตกกังวล นอกจากนี้อาจพบปํญหาการใช้สารเสพติด และบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งอาจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อบางกลุ่มได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นโรคจิต (brief psychosis) ได้ แต่พบได้น้อย

การให้การปรึกษาก่อนการตรวจเลือด

  1. ประเมินเหตุผลที่ทำให้ผู้รับบริการมาขอรับการตรวจและสำรวจพฤติกรรมเสี่ยง
  2. ประเมินความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ แล้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง
  3. ประเมินความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเลือด และความหมายของผลการตรวจเลือดทั้งในกรณีผลบวก และผลลบ โดยเฉพาะเรื่อง window period
  4. อภิปรายถึงผลดีผลเสียของการตรวจเลือด และผลกระทบจากการตรวจเลือดทั้งกรณีที่ผลเป็นบวกและเป็นลบ
  5. ประเมินความคาดหวังของผู้มารับบริการต่อการตรวจเลือดว่าเขาคิดว่าผลจะออกมาอย่างไร และประเมินความพร้อมและความสามารถของผู้รับบริการในการปรับตัว หากผลเป็นบวก ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถตัดสินใจได้ว่าตนจะทำการตรวจเลือดหรือไม่
  6. อภิปรายเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงและวิธีการที่จะลดพฤติกรรมเสี่ยง
  7. ตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเจาะเลือดและการฟังผล
  8. เปิดโอกาสให้ผู้มารับบริการซักถามปัญหาและข้อข้องใจ
  9. สร้างความสัมพันธ์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการให้การปรึกษาหลังการตรวจเลือด

การให้การปรึกษาหลังการตรวจเลือดในกรณีที่ผลการตรวจเลือดเป็นลบ

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลเลือด โดยเฉพาะเรื่อง window period
  2. ประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อและพฤติกรรมเสี่ยงและให้ข้อมูลเพิ่มเติม
  3. ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถแสวงหาแนวทางลดพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองได้
  4. การให้การปรึกษาหลังการตรวจเลือดในกรณีที่ผลการตรวจเลือดเป็นบวก
  5. เตรียมความพร้อมของผู้รับบริการโดยถามถึงความรู้สึกในช่วงรอฟังผลและการคาดการณ์ของเขา แจ้งผลให้ทราบ ด้วยท่าทีสุภาพ แสดงความเห็นใจ แต่ใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนไม่อ้อมค้อม วกวน ให้เวลาผู้รับบริการปรับตัวกับการรับความจริง โดยไม่รีบปลอบใจ หรือพูดต่อเรื่องอื่น เช่นให้ข้อมูล มีความเข้าใจและยอมรับปฏิกริยาทางจิตใจและอารมณ์ต่างๆของผู้รับบริการ เช่น การปฏิเสธความจริง
  6. แสดงความเข้าใจ เห็นใจ โดยพูดสะท้อนความรู้สึกของผู้รับบริการตามที่สังเกตเห็น และช่วยให้ผู้รับบริการแสดงความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อการทราบความจริง ออกมาได้อย่างเต็มที่
  7. ตรวจสอบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการมีเลือดบวก
  8. ถามถึงปัญหาที่ผู้รับบริการรู้สึกกังวลใจมากที่สุดหลังจากทราบผลเลือด
  9. ตรวจสอบความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  10. ช่วยผู้รับบริการหาวิธีการในการปรับตัวกับปัญหาต่างๆที่กังวล และปัญหาในทางปฏิบัติบางเรื่อง เช่นควรจะบอกผลให้ใครทราบบ้าง เพราะเหตุใด
  11. พูดคุยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และการป้องกันการแพร่เชื้อ และรับเชื้อเพิ่ม พูดคุยถึงแผนการเฉพาะหน้า ว่าจะทำอะไรเมื่อออกจากห้องตรวจไปแล้ว เพราะจะเป็นช่วงที่รู้สึกสับสนมากที่สุด
  12. เปิดโอกาสให้ซักถามปัญหาและข้อข้องใจ และสร้างความสัมพันธ์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดูแลต่อไป พร้อมกับให้ความมั่นใจว่าจะให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง

การรักษา

1. รักษาสาเหตุของอาการทางสมอง เช่นการใช้ยา AZT อาจช่วยลดอาการทางสมองจากการติดเชื้อ HIV ให้มีความรุนแรงน้อยลง หรือชลอให้อาการแย่ลงช้ากว่าเดิมได้ การรักษาโรคแทรกซ้อนต่างๆ
 
2. การใช้ยาทางจิตเวช ใช้ตามอาการ เช่นเดียวกับที่ใช้ในการรักษาโรคทางจิตเวชในกลุ่มอาการนั้นๆ แต่ควรระมัดระวังอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งพบได้บ่อย จึงควรเลือกยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยที่สุด และพยายามใช้ยาในขนาดต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
 
3. การให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ ควรพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจเป็นการทำจิตบำบัดรายบุคคล หรือทำจิตบำบัดกลุ่มก็ได้ ที่ใช้บ่อยคือการให้การปรึกษา ปัญหาสำคัญๆที่พบได้บ่อยคือ ความรู้สึกสูญเสีย ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ความตาย และปัญหาอื่นๆที่เกิดจาการเจ็บป่วย เช่นปัญหาในการทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาในครอบครัว การถูกสังคมรังเกียจ และการติดโรคของบุคคลใกล้ชิด
 
บทความโดย:  ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์
 
บรรณานุกรม
  1. กองวางแผนและทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. การคาดประมาณจำนวนประชากรผู้ติดเชื้อเอดส์และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย พศ. 2530-2548. ข่าวสารโรคเอดส์ 2538; 8(3): 1-3.
  2. ธนา นิลชัยโกวิทย์. เทคนิคการให้การปรึกษาผู้ป่วย HIV. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2537: 47-73,113-28.
  3. Kaplan HI, Sadock BJ. Pocket handbook of clinical psychiatry. Baltimore: Williams & Wilkins, 1990: 297-303.
  4. Kaplan HI, Sadock BJ, Grebb JA, eds. Synopsis of Psychiatry, 7th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1994: 374-82.