ปฏิกิริยาทางจิตสังคมต่อการเจ็บป่วยทางกายในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

 
ความเจ็บป่วยเป็นภาวะที่กระทบกระเทือนต่อภาวะทางจิตใจของทุกคน ซึ่งจะต้องมีวิธีการปรับตัวแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ
 
๑. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเจ็บป่วยโดยตรง เช่น
  • ความรุนแรงของโรค
  • ความพิการ ความเจ็บป่วย และทรมาน
  • เฉียบพลัน หรือเรื้อรัง
  • วิธีและขบวนการการรักษา
  • สภาพโรงพยาบาล และบุคลากร
๒. ภูมิหลังและวิธีการปรับตัว
 
๓. สังคม สภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์ในครอบครัวตลอดจนเศรษฐฐานะ

ความหมายของการเป็นมะเร็ง

เป็นเรื่องรุนแรงทำให้มีความหมายรวมถึง ความตาย พิการ ความทุกข์ทรมาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกได้หลายอย่าง เช่น
  • กลัวตาย กลัวความเจ็บปวด
  • ตนเองไม่มีค่า กลัวถูกทอดทิ้ง
  • ไม่มีความสำคัญ โกรธ สิ้นหวัง รู้สึกช่วยตนเองไม่ได้
  • ห่างผู้อื่นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ หรือลำบากมากขึ้น
  • เป็นภาระต่อผู้อื่น ต้องพึ่งพาผู้อื่น
  • พิการ ภาพลักษณ์ของตนเองเสียไป
  • กระตุ้นความรู้สึกเก่าๆที่ฝังอยู่ในจิตใจ เช่น ความรู้สึกผิด เหงา โดดเดี่ยว ก้าวร้าว
สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการเกิดความวิตกกังวล และอารมณ์เศร้า

ขั้นตอนของปฏิกิริยาทางอารมณ์และพฤติกรรม (Kubler-Ross)

๑. ตกใจและปฏิเสธไม่ยอมรับ (Denial)
๒. กังวล สับสน และโกรธ (Anxiety, anger)
๓. ต่อรอง (Bargaining)
๔. เศร้าและหมดหวัง (Depression)
๕. ยอมรับความจริง (Acceptance)
 
การแสดงออกของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีปฏิกิริยาตามขั้นตอน อาจจะข้ามขั้นตอน หรือแสดงออกเป็นบางส่วน หรือบางขั้นตอนก็ได้

การประเมินปัญหาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ด้านจิตเวช

๑. ประวัติอดีต
๒. สภาวะทางจิตในปัจจุบัน
๓. เข้าใจโรคที่ผู้ป่วยเป็น
๔. ความหมายของโรคต่อผู้ป่วย

ด้านกาย

๑. เข้าใจโรคมะเร็ง พยาธิสภาพทางกาย
๒. วิธีการรักษา และผลตาม ผลแทรกซ้อน
๓. การรักษาทางกายอื่นๆ

สภาพแวดล้อม

๑. เข้าใจสภาพครอบครัว และความสัมพันธ์ในครอบครัว
๒. เข้าใจและช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่ม
๓. ช่วยเหลือด้านสังคม
๔. ช่วยเหลือด้านการเงิน

การดูแลรักษาอาการปวดในด้านจิตใจ

๑. รักษาภาวะวิตกกังวล และอารมณ์เศร้า ซึ่งพบได้มาก
๒. ปัญหาแทรกซ้อนด้านจิตเวชซึ่งสัมพันธ์กับการประเมินอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริง และการใช้ยาในขนาดต่ำ
๓. ช่วยเหลือทีมการรักษาในลักษณะที่ประคับประคองความรู้สึก ไม่ตัดสินช่วยให้เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเคารพในการเป็นบุคคล และศักดิ์ศรีของผู้ป่วย

วิธีการรักษา

๑. การใช้ยารักษาอาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า อาการปวด
๒. เพิ่มความสัมพันธ์กับผู้ป่วย และประคับประคองความรู้สึกของผู้ป่วย
๓. เทคนิคทางพฤติกรรมบำบัด เช่น การสะกดจิต การสะกดจิตตนเอง การฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเบนความรู้สึกของผู้ป่วย สมาธิ และการลดความเจ็บปวดเป็นขั้นตอน
๔. การรักษาแบบกลุ่ม เช่น กลุ่มให้คำแนะนำ กลุ่มประคับประคอง และกลุ่มช่วยตนเอง

การแกล้งทำ (Malingering)

หมายถึง การที่บุคคลนั้นจงใจทำให้เกิดอาการทางจิต หรือทางกาย ทั้งนี้โดยได้รับผลตอบแทนที่เห็นได้ชัด เช่น ได้เงิน ไม่ถูกกฎหมายลงโทษ เป็นต้น

ปัญหาในการพิจารณาพฤติกรรมของผู้ป่วย

มักจะพบว่าผู้ป่วยหลายรายมีอาการมากกว่าที่ควรจะเป็น พฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจ หรือพฤติกรรมเหมือนเด็กที่ช่วยตนเองไม่ได้ ลักษณะเหล่านี้โดยมากไม่ใช่การแกล้งทำ แต่เป็นการถดถอย (Regression) ของจิตใจ หรือร่วมกับอาการซึมเศร้าด้วย ซึ่งถ้าเกิดอาการมากจนถึงเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรคจิต (Psychosis) ก็จะต้องใช้วิธีการรักษาโดยเฉพาะต่อไป
 
หลักการทั่วไปที่ผู้รักษาควรกระทำ ได้แก่
 
๑. บอกผู้ป่วยว่าเขาเป็นอะไร โดยคำนึงถึงขอบเขตความพร้อมของผู้ป่วย ระยะเวลาที่เหมาะสมในการบอก รายละเอียดของการบอกควรยึดหลักในการพูดความจริงที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย
 
๒. บอกผู้ป่วยถึงวิธีการรักษาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เหตุผลในการตัดสินใจ วิธีการรักษาของแพทย์ ให้เวลาตอบคำถามที่ผู้ป่วยข้องใจ ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรื่องการรักษาและการรับผิดชอบตนเองเท่าที่จะทำได้
 
๓. ยอมรับการแสดงออกของผู้ป่วย โดยเฉพาะการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง การวิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว ที่อาจแสดงต่อผู้รักษา ยอมรับและตอบสนองความพยายาม ในการปรับตัวของผู้ป่วยในระยะต่างๆ
 
๔. ปลอบใจและประคับประคองความรู้สึกของผู้ป่วย ให้ความจริงใจ ความช่วยเหลือ แก้ความเข้าใจผิด จะทำให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลได้
 
๕. ไม่ทิ้งผู้ป่วยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวว่าผู้รักษาจะทอดทิ้ง หรือไม่ดูแลตลอดไป
 
๖. สนใจที่จะหาข้อมูลด้านภาวะจิตสังคมผู้ป่วยอยู่เสมอ
 
๗. ให้การรักษาตามอาการและภาวะแทรกซ้อนทางกายเพื่อลดความทรมาน
 
ในผู้ป่วยที่ถึงวาระสุดท้าย ควรช่วยให้ลดความทรมาน และให้เผชิญกับความตายโดยไม่ทอดทิ้ง จะทำให้ผู้ป่วยสงบ ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมอย่างมาก อาจจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อการรักษาโดยเฉพาะที่เหมาะสมต่อไป
 
บทความโดย: รศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
 
เอกสารประกอบ
 
๑. Kaplan, Sadock. Modern synopsis of comprehensive textbook of psychiatry. 4th ed. Baltimore : Willams and Wilkins, 1985.
๒. Moos, Rudolf. Coping with physical illness. NY: Plenum, 1977.