shiftwork
หน้าแรก
Shift Work ผลกระทบต่อสุขภาพจากทำงานเป็นกะ
Shift Work ผลกระทบต่อสุขภาพจากทำงานเป็นกะ

Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ ส่งผลเสียต่อสุขภาพในเรื่องของการกินไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะคนที่ทำงานกะดึก ย่อมมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ทำให้ส่งผลต่อการทำงานโดยตรง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาวอีกด้วย

ทำความเข้าใจกับการทำงานเป็นกะ (Shift Work)

สถานที่ที่มักพบการทำงานแบบ Shift Work เป็นสถานที่ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ สนามบิน เป็นต้น คนทำงานส่วนหนึ่งตามสถานที่ดังกล่าวมีการทำงานแบบ Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ เป็นการทำงานที่ไม่ตรงกับนาฬิกาชีวิตของร่างกายที่เป็นธรรมชาติ โดยปกติช่วงเวลากลางวันจะต้องตื่นเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน

คนทำงานเป็นกะ (Shift Work) ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

การนอนหลับพักผ่อน

ช่วงที่ไม่ได้อยู่กะควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้ครบ 8 ชั่วโมง หากพักผ่อนไม่เพียงพอสมรรถภาพการทำงานของสมองจะลดลง ที่สำคัญควรจัดที่นอนให้เหมาะสม เพราะการนอนตอนกลางวัน จะมีสิ่งรบกวนค่อนข้างมาก อาจปิดผ้าม่านและหน้าต่างเพื่อส่งผลให้การนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่

การรับประทานอาหาร

หากต้องอยู่กะดึก ไม่ควรรับประทานอาหารที่หนักเกินไป หรือรับประทานอาหารควรกินแค่ไม่ให้รู้สึกหิวเท่านั้น แล้วไปกินมื้อเช้าหนัก ๆ เพื่อการนอนหลับให้เต็มอิ่ม จากนั้นเมื่อนอนครบ 8 ชั่วโมงแล้วตื่นมาในช่วงบ่าย ก็ให้กินมื้อกลางวัน และมื้อเย็นตามปกติก่อนเข้างาน ที่สำคัญคือควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การออกกำลังกาย

สำหรับคนที่ทำงานกะดึก ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าในช่วงเวลางาน ส่วนคนที่ทำงานกะเช้าและกะบ่าย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การเปลี่ยนกะ

ควรเปลี่ยนไปข้างหน้าเสมอ อย่าเปลี่ยนย้อนหลังหรือกลับไปกลับมา เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า รู้สึกอดนอนมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากกะเช้าไปเป็นกะบ่าย เปลี่ยนจากกะบ่ายไปเป็นกะดึก อย่าเปลี่ยนจากกะดึกไปเป็นกะบ่าย เป็นต้น  และไม่ควรเปลี่ยนกะทุกสัปดาห์ เพราะปกติแล้วเมื่อปรับเวลานอนต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มชินกับเวลานอนนั้น หากต้องเปลี่ยนควรเปลี่ยนทุก 2-3 สัปดาห์ หรือไม่ก็ให้เปลี่ยนทุก 2-3 วัน

การแบ่งเวลา คนทำงานเป็นกะมักมีช่วงเวลาชีวิตที่ไม่ตรงกับผู้อื่น ทำให้ไม่มีเวลาในการพบปะเพื่อนฝูง หรือไม่มีเวลาให้ครอบครัว ดังนั้นควรแบ่งเวลาหรือวางแผนในเรื่องของเวลาให้ดีทั้งนี้เพื่อรักษาสุขภาพจิตใจของตนเอง

ผลกระทบของการทำงานเป็นกะ (Shift Work)

การทำงานเป็นกะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

  • ระยะสั้น ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ง่วงในเวลางาน ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงานที่ลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน
  • ระยะยาว มีงานวิจัยเผยว่าคนที่ทำงานเป็นกะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างมากกว่าคนอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมรรถภาพของสมองเสื่อมลง มีอาการกล้ามเนื้อตาล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีความเครียด อ่อนเพลียเรื้อรัง นอนไม่กลับ โรคอ้วน

ทั้งนี้คนทำงานเป็นกะควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดีและมีแบบแผน จากวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากนาฬิกาชีวิตของร่างกายที่เป็นธรรมชาติ ทั้งในด้านการกิน การนอน รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตนเอง

 

ข้อมูลจาก
อ. พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “พยาบาลอันตรายจากการทำงานเป็นกะ | work with a healthy life” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
บทความสุขภาพ
07-05-2024

3

บทความ เรื่อง การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ของ ผู้หญิง
การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และความเสี่ยงอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
02-05-2024

2

บทความ เรื่อง ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ ผิวหนัง เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรค มะเร็งผิวหนัง
ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ผิวหนังเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคมะเร็งผิวหนัง ได้
บทความสุขภาพ
01-05-2024

11

บทความ เรื่อง ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาล แลคโตส ที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
บทความสุขภาพ
26-04-2024

7