รู้ทันสัญญาณเตือนอาการของโรคไข้เลือดออกพร้อมวิธีดูแลรักษา
โรคไข้เลือดออกนั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกมักพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูนี้ ซึ่งอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นมีตั้งแต่อาการเป็นไข้สูง บางรายหากเข้ารับการรักษาช้าก็อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สัญญาณเตือนและอาการของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย เป็นพาหะที่สำคัญ โดยหลังจากที่ถูกกัดประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออกเกิดขึ้น ดังนี้
- มีไข้สูงเกือบตลอดเวลา
- มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดกระดูก
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา
- หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดเลือดออกผิดปกติ และอาการช็อกได้
ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติหรือมีอาการช็อก ส่วนใหญ่มัก จะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจะมีอาการรุนแรงมากกว่า
ปัจจุบันเชื้อไข้เลือดออกทั้งหมดมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน หากพบว่ามีการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และเป็นการติดเชื้อมาจากไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ก็อาจจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากรณีอื่น ๆ
วิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออก
สำหรับปัจจุบันวิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อไข้เลือดออกหรือเชื้อไวรัสเดงกีได้โดยตรง ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยหลัก ๆ เป็นการให้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งการให้ยาลดไข้มีความสำคัญ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงยาลดไข้ตัวอื่นที่อาจจะมีความสัมพันธ์ กับอาการ เลือดออก ผิดปกติได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน (aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
นอกจากนี้ยังควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้อง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อม ๆ กับไข้ลดลง หรือมีอาการหน้ามืด ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกได้
ป้องกันอย่างไรให้ไกลจากโรคไข้เลือดออก
การป้องกันการเกิดไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ก็คือ การระวังไม่ให้ถูกยุงลายกัด
สำหรับการป้องกันยุงลายนั้นสามารถทำได้ ดังนี้
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- หลีกเลี่ยงภาชนะที่มีน้ำขังต่าง ๆ
- ตุ่ม โอ่งต้องมีฝาปิดมิดชิด
- ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำ เช่น แจกัน ทุก ๆ 7 วัน
- ใส่ทรายอะเบตลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน
- ป้องกันการถูกยุงกัดที่เหมาะสม เช่น ทายาป้องกันยุง หรือใช้ยากันยุง เป็นต้น
- สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่พูดถึงกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลดีและลดความรุนแรงได้โดยเฉพาะในคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน
สรุป
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเกิน 3 วัน ตามตัวอาจมีจุดหรือผื่นแดง อ่อนเพลีย ซึม หากรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องบริเวณชายโครงขวาร่วมด้วย
ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออกนั้นสามารถทำได้โดย “อย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด” ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่าง ๆ นั่นเอง
ข้อมูลโดย
ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล