โรคจิตเวช จิตเวช
หน้าแรก
โรคจิตเวช 5 โรคสำคัญที่คนไทยควรรู้
โรคจิตเวช 5 โรคสำคัญที่คนไทยควรรู้

ปัจจุบันคนไทยที่ป่วยด้วย โรคจิตเวช มีไม่น้อย ขณะที่ผู้ป่วยบางรายรู้ตัวว่าตนเองป่วย บางรายก็ไม่รู้ตัว ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้ป่วยบางรายยังสับสนในอาการป่วยทาง จิตเวช บางโรค และเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกาย แต่เมื่อทำการตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้สังเกตตนเอง รวมถึงการสังเกตคนรอบข้างว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยหรือไม่ สู่การรับมือและการรักษาที่ถูกต้อง โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอ 5 โรคจิตเวชสำคัญที่คนไทยควรรู้

รับชมวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ >>> “5 โรคสำคัญทางจิตเวช”ที่คนไทยควรรู้

1. โรคแพนิก

โรคแพนิกเป็นโรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติมีการทำงานที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการแพนิก ได้แก่หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือเหมือนกับจะถึงชีวิต โดยการเกิดครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว เช่น เกิดขึ้นตอนกำลังจะขับรถขึ้นทางด่วน ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าขึ้นทางด่วน เป็นต้น และเมื่อมีครั้งที่ 1 มักมีครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตามมาเรื่อย ๆ กล่าวคือเมื่อเจอกับสถานการณ์กระตุ้นนั้นอีกครั้ง ก็จะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก อาการแพนิกแต่ละครั้งจะเป็น 10-20 นาที เมื่อหายก็จะหายปกติเลย

ความสำคัญของโรค เนื่องจากยังมีผู้ป่วยบางรายไม่รู้จักหรือยังขาดความรู้เกี่ยวกับโรคแพนิก เมื่อมีอาการมักเข้าใจผิดและคิดว่าตนเองเป็นโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ แต่เมื่อพบแพทย์แล้วตรวจคลื่นหัวใจจะพบว่าร่างกายปกติทุกอย่าง และอาจต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะรู้ตัวว่าตนเองป่วยด้วยโรคแพนิก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนไทยควรทำความรู้จัก

อาการของโรคแพนิก

มีอาการแพนิกเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยคาดไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อไร หลังจากมีอาการแพนิก จะมีอาการต่อไปนี้ตามมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เดือน

  • กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นมาอีก หรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นบ้า
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเกี่ยวเนื่องกับการมีอาการนี้ เช่น ไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยได้ไหม หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ

2. โรคซึมเศร้า

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ความสำคัญของโรคนี้คือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง หากมีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์  ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

อาการของโรคซึมเศร้า

  1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป – เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย
  2. ความคิดเปลี่ยนแปลง – มองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้คุณค่าในตนเอง หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง รู้สึกสิ้นหวัง อาจมีความคิดอยากตาย
  3. สมาธิความจำแย่ลง – หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  4. มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ – อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว

3. โรคจิตเภท

ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว มีภาพหลอนเกิดขึ้น และจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง เป็นนานเกิน 6 เดือน หากเป็นแล้วไม่รักษาตั้งแต่ต้น หรือปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้การรักษามีความยุ่งยาก และผลการรักษาไม่ดีนัก โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ปัญหาของโรคนี้คือผู้ป่วยบางรายเมื่อพบว่าตนเองอาการดีขึ้น มักคิดว่าหายแล้วและหยุดใช้ยา ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก โดยอาการมักเกิดขึ้นเมื่อหยุดยาไปเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน เช่น 6-7 เดือน ผู้ป่วยจะต้องทำการเริ่มต้นรักษาใหม่ทั้งหมด

4. โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว

โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่าง ช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ (ช่วงแมเนีย) โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง อาการช่วงนี้จะเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอาการแมเนีย ซึ่งจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง อยากทำหลายอย่าง กระฉับกระเฉง นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง บางรายพบว่าอยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เช่น อยากไปเที่ยวต่างประเทศ ก็จัดการจองตั๋วเลยทั้งที่ยังไม่ทันลางาน เมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้เลย

ลักษณะอาการช่วงซึมเศร้าของโรคไบโพลาร์

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
  2. มีความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
  4. นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไปแทบทุกวัน
  5. กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้าแทบทุกวัน
  6. อ่อนเพลีย หรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสม แทบทุกวัน
  8. สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง หรือตัดสินใจอะไรไม่ได้ แทบทุกวัน
  9. คิดอยากตายอยู่เรื่อย ๆ

อาการช่วงแมเนียของโรคไบโพลาร์

  1. มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ หรือหงุดหงิดมากเกินปกติ
  2. รู้สึกว่าตนเองเก่ง หรือมีความสำคัญมาก
  3. ต้องการนอนลดลง
  4. ความคิดพรั่งพรู แล่นเร็ว
  5. มีพลัง มีกิจกรรมหรือโครงการที่อยากทำหลายอย่าง
  6. วอกแวก สนใจไปทุกอย่าง
  7. หุนหันพลันแล่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  8. พูดมากหรือพูดไม่หยุด
  9. ไม่ตระหนักว่าตนเองผิดปกติไปจากเดิม

5. โรคสมองเสื่อม

พบมากในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในคนที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจะไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอย เช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าตนเองวางไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับเรื่องที่ทำ ณ ขณะนั้น อาจมัวคิดถึงเรื่องอื่นอยู่ในขณะที่วางกุญแจ ทำให้หลงลืม แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โดยโรคนี้จะมีลักษณะคือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมา เป็นต้น

การสังเกตคนรอบข้างที่มีอาการเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช เป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติของคนรอบข้าง ที่มีลักษณะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้ มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ลองให้คำปรึกษาก่อน หากพบว่าไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์

 

ข้อมูลจาก

ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/

Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
บทความสุขภาพ
07-05-2024

4

บทความ เรื่อง การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ของ ผู้หญิง
การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และความเสี่ยงอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
02-05-2024

2

บทความ เรื่อง ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ ผิวหนัง เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรค มะเร็งผิวหนัง
ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ผิวหนังเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคมะเร็งผิวหนัง ได้
บทความสุขภาพ
01-05-2024

11

บทความ เรื่อง ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาล แลคโตส ที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
บทความสุขภาพ
26-04-2024

7