โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด
หน้าแรก
เอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด
เอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด

อาการปวดบริเวณข้อมือ นิ้วมือ โดยเฉพาะบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับคนที่ทำงานออฟฟิศ ใช้แรงข้อมือในการยกของแบกของ หรือแม้กระทั่งการเล่นโทรศัพท์มือถือในลักษณะท่าทางเดิม ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือหรือนิ้วมือ หากเกิดอาการแบบนี้เรื้อรังไปเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิดโรคปลอกหุ้ม เอ็นข้อมืออักเสบ ได้

ความสำคัญของข้อมือ

ข้อมือ อวัยวะส่วนข้อต่อที่สำคัญของร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทางและใช้งานบ่อย ทำให้สะดวกต่อการยกของ แบกของ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์งาน

เอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด

โรคปลอกหุ้ม เอ็นข้อมืออักเสบ คืออะไร

เป็นโรคที่เส้นเอ็นข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ เกิดการเสียดสีกับปลอกหุ้มเส้นเอ็นจนอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการบวมเพราะปลอกหุ้มเส้นเอ็นมีการอักเสบ และหนาตัวขึ้น

สาเหตุของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

เกิดจากการใช้งานมือหรือข้อมือในท่าทางหรือลักษณะที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน และอีกหนึ่งสาเหตุ คือ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคประจำตัวเหล่านี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทหรือเส้นเอ็นส่วนปลายได้น้อยลงทำให้เส้นเอ็นเกิดการเปื่อยยุ่ยและอักเสบได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปลอกหุ้ม เอ็นข้อมืออักเสบ

  • อายุ 30-50 ปี
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • ตั้งครรภ์
  • พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
  • อาชีพที่ต้องใช้มือ เช่น แม่บ้าน ช่างไม้ คนทำอาหาร
  • เล่นกีฬา เช่น แบดมินตัน เทนนิส ปิงปอง

เอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด

อาการของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

  • ขยับข้อมือ นิ้วมือ ลำบาก
  • ปวดเมื่อยขยับข้อมือหรือใช้มือในการหยิบจับสิ่งของ
  • บวม แดง ร้อน บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
  • อาจมีอาการปวดร้าวลงไปปลายนิ้ว หรือขึ้นมาถึงข้อศอก
  • อาจมีอาการชาที่นิ้วหัวแม่มือและโคนนิ้วหัวแม่มือ
  • อาจคลำเจอก้อนบริเวณข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ
  • ปวดเมื่อกดบริเวณใต้รอยต่อข้อมือ

ความรุนแรงของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

จะวินิจฉัยได้จากอาการอักเสบหากมีอาการเจ็บเมื่อกดหรือขยับข้อมือเพียงเล็กน้อยอาการแบบนี้ก็จะไม่รุนแรงมาก แต่หากเกิดจากการกระชากและมีอาการบวมขึ้นมาทันทีจนเห็นได้ชัดถือว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรงควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

เอ็นข้อมืออักเสบ รักษาได้ไหม ถ้าไม่ผ่าตัด

ตรวจเช็กอาการโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบเบื้องต้นด้วย Finkelstein test

  1. กำมือโดยสอดนิ้วโป้งเข้าไปตรงกลางฝ่ามือ
  2. กำมือในท่าเดิมและเอียงข้อมือลงไปฝั่งนิ้วก้อย

หากมีอาการที่ข้อมือเพียงข้างเดียวสามารถทำอีกข้างเพื่อเปรียบเทียบกันได้ เมื่อลองทำวิธีดังกล่าวแล้วเกิดอาการเจ็บ ปวด หรือทำลำบากในข้างที่มีอาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

วิธีรักษาโรคปลอกหุ้ม เอ็นข้อมืออักเสบ

  • แช่มือในน้ำอุ่น ประมาณ 15-30 นาที วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น (ยกเว้นกรณีเป็นใหม่ ๆ มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อนมาก ควรประคบเย็น 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง ในช่วง 1-2 วันแรก จนอาการอักเสบคงที่ หรือลดลง จึงเปลี่ยนเป็นประคบอุ่น)
  • การทำกายภาพบำบัด โดยการใช้เครื่องมือลดปวดชนิดต่างๆ เช่น อัลตราซาวนด์ เลเซอร์ รวมกับการออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ และนักกายภาพบำบัด
  • พักการใช้งานมือ
  • รับประทานยาแก้อักเสบ (หากมีข้อห้าม ได้แก่ มีประวัติแผลในทางเดินอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน)
  • การฉีดยาสเตียรอยด์
  • การผ่าตัด

อาการแบบไหนถึงต้องเข้ารับการผ่าตัด

หากทำการรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองและรักษาแบบอนุรักษ์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางมือแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานยากลำบาก ศัลยแพทย์ทางมืออาจพิจารณาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดซึ่งวิธีผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดเล็กโดยจะทำการตัดขยายปลอกเอ็นเพื่อลดการเสียดสีและทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

วิธีป้องกัน

  • ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือหนัก ๆ หรือใช้ในท่าเดิม ซ้ำ ๆ
  • ปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงาน เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้มือในการพิมพ์งานควรปรับเปลี่ยนท่าให้เหมาะสม และอาจใช้ที่รองข้อมือ รวมถึงแป้นพิมพ์ตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic keyboard) เพื่อลดการเกร็งของข้อมือ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหรือหิ้วของหนัก หากมีความจำเป็นต้องมีระยะการหยุดพักเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บในภายหลัง

เอ็นข้อมือเป็นส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อมือ เมื่อมีอาการเจ็บปวดจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้ เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการบาดเจ็บ ควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

 

ข้อมูลจาก

ผศ. นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย

ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่ เยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลังทำให้มีอาการอักเสบและบวม จะมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ไข้ขึ้นสูง หรือตึงบริเวณคอ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังทำให้มีอาการอักเสบและบวม จะมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ไข้ขึ้นสูง หรือตึงบริเวณคอ
บทความสุขภาพ
25-04-2024

1

บทความเรื่อง การ ฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน เพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
การฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
บทความสุขภาพ
24-04-2024

2

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

8

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

3