ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ เพื่อผลิตกุมารแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถในการให้บริการสุขภาพแก่เด็กแบบองค์รวม ได้แก่ การดูแลเด็กด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องการเจ็บป่วย การวินิจฉัยและรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพและความพิการเพื่อให้เด็กมีสุภาพดี มีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างเหมาะสม ทั้งในสภาพที่เป็นปัจเจกบุคคล และในสภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน
การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านยึดตามหลักปรัชญาของภาควิชาฯ คือ “เก่ง ดี มีสุข” หลักสูตรการอบรมจึงมุ่งเน้นถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ของแพทย์ประจำบ้านเป็นสำคัญ โดยพยายามให้มีดุลยภาพระหว่างปริมาณงาน มีโอกาสที่จะเพิ่มพูนทักษะและแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และการคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของแพทย์ประจำบ้าน
จุดเด่น ของโครงการฝึกอบรมของกุมารฯ รามาธิบดี
- คณาจารย์และบรรยากาศการเรียนการสอน ภาควิชาฯ มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญสูง ครบทุกสาขา และกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยแพทย์ประจำบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนี้ในชั้นปีที่ 2 และ 3 ยังมีโอกาสไปปฏิบัติงานที่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และมีทุนสนับสนุนการไปดูงานต่างประเทศเป็นจำนาน 2 ทุน ทุกปี
- Training for the trainer กระบวนการฝึกอบรมของภาควิชาฯ มุ่งเน้นประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของแพทย์ประจำบ้านเป็นสำคัญ จึงจัดให้มีความสมดุลของงานบริการและประสบการณ์เรียนรู้อย่างเหมาะสม มีกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องประชุมและหอผู้ป่วยใน และแผนกผู้ป่วยนอกอย่างครบถ้วน สอดแทรกประสบการณ์และทักษะในการถ่ายทอดความรู้และความเป็นครู โดยให้แพทย์ประจำบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลและให้คำแนะนำแก่แพทย์ประจำบ้านรุ่นน้องและนักศึกษาแพทย์ มีการจัดอบรม Clinical Teaching Skills ให้แก่แพทย์ประจำบ้าน อีกทั้งฝึกฝนให้แพทย์ประจำบ้านได้ฝึกทำงานวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ได้แก่ การจัดสอน Research methodology การนำเสนอ Research proposal (ปี 1), Research progress report (ปี 2), และ Research result (ปี 3) อีกทั้งให้การสนับสนุนไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ราชวิทยาลัยกุมารฯ ปีละ 5 ทุน ทั้งนี้เพื่อฝึกฝนให้มีความสามารถรอบด้านและมีความพร้อมที่จะสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนางานของตนต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะไปเป็นอาจารย์แพทย์หรือทำงานในโรงพยาบาลใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้คณาจารย์ของภาควิชาฯ ยังได้ชื่อว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นครู มีความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะพัฒนาการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่แพทย์ประจำบ้าน
กรอบการฝึกอบรม และการเรียนรู้
- ชั้นปีที่ 1 จะเน้นการดูแลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในที่ไม่วิกฤต การดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (Child Development clinic) และ การเยี่ยมบ้าน การออกอนามัยโรงเรียน และ Child protection and advocacy ผ่านการดูแลผู้ป่วยที่คลินิกส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก (Child protection)
- ชั้นปีที่ 2 จะเพิ่มศักยภาพให้แพทย์ประจำบ้านเพิ่มขึ้น โดยให้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งเด็กโต เด็กเล็กและทารกแรกเกิด (PICU & NICU) ผู้ป่วยฉุกเฉิน (ER) การออกชุมชน (Community & Social) การดูแลผู้ป่วยวัยรุ่น (Adolescents) และจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในสาขาเฉพาะทางต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (Elective) และฝึกอบรมในสถาบันสมทบ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
- ชั้นปีที่ 3 มีการพัฒนาศักยภาพแพทย์ประจำบ้านเพิ่มขึ่น โดยเพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการ การเป็นผู้นำและทักษะในการถ่ายทอดความรู้ โดยจัดให้เป็นผู้นำทีมการรักษา ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยในทั่วไป และผู้ป่วยนอก และมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในโรงพยาบาลศูนย์ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หรือโรงพยาบาลลำปาง
ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย (Inpatient, Outpatient, ICU, Emergency, etc.)
- ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย (Inpatient Experience) หอผู้ป่วยในของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ให้การดูแลผู้ป่วยที่หลากหลายตั้งแต่คนไข้โรคทั่วไปจนถึงโรคซับซ้อนและโรคหายาก แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหลัก โดยเป็นผู้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค รวมถึงวางแผนการสืบค้นและการรักษา โดยมีแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 ช่วยกำกับดูแลให้คำแนะนำ
นอกจากนี้แพทย์ประจำบ้านยังมีส่วนสำคัญในการสอนและให้คำแนะนำนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4, 5 และ 6 ที่ขึ้นปฏิบัติงานชั้นคลินิกบนหอผู้ป่วยอีกด้วย โดยมีอาจารย์ประจำหอผู้ป่วยคอยให้คำปรึกษาและเป็นแบบอย่างในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยแพทย์ประจำบ้านจะหมุนเวียนกันทำงานในหอผู้ป่วยแห่งละประมาณ 1 เดือน
หอผู้ป่วยใน
หอผู้ป่วยโรคติดเชื้อ | หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต |
หอผู้ป่วยเด็กโต อายุ ≥ 5 ปี | หอผู้ป่วยวิกฤต |
หอผู้ป่วยเด็กเล็ก อายุ < 5 ปี | หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด |
หอผู้ป่วยสังเกตอาการ | >หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต |
หอผู้ป่วยเด็กศัลยกรรม | หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดปกติ |
- ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยนอก (Outpatient Experience) หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกรองรับผู้ป่วยเด็กประมาณ 6 – 8 หมื่นครั้งการตรวจต่อปี โดยแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 มีช่วงการออกตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไปคนละประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ยังได้ผ่านคลินิกเฉพาะทาง ในชั้นปีที่ 2 และ 3 แพทย์ประจำบ้านจะได้ดูแลผู้ป่วยของตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continuity Clinic) เป็นเวลาครึ่งวันต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะยาวอย่างเป็นองค์รวม
- ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน (Emergency Experience) ก่อนเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการกู้ชีพในเด็กและทารกแรกเกิด (Pediatric cardiopulmonary resuscitation & Neonatal resuscitation) และยังมีการบรรยายภาวะฉุกเฉินในสาขากุมารเวชศาสตร์ (Emergency series) ในช่วงต้นปีของการฝึกอบรม ในชั้นปีที่ 2 แพทย์ประจำบ้านได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่แผนกฉุกเฉินเป็นหลัก นอกจากนี้แพทย์ประจำบ้านยังได้ฝึกปฏิบัติงานที่แผนกฉุกเฉินในเวลานอกราชการอีกด้วย
- ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care) แพทย์ประจำบ้านจะได้เรียนรู้ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่หลากหลาย เนื่องจากภาควิชาฯ จัดเป็นสถานรักษาพยาบาลขั้นตติยภูมิ จึงมีการรับคนไข้ที่มีอาการวิกฤตซับซ้อน และน่าสนใจมารักษาต่อ โดยมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีการทำงานแบบสหสาขา
- PICU จำนวน 8 เตียง รองรับผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 1 เดือน ที่มีอาการวิกฤต รวมถึงผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์ประจำบ้านจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงการทำหัตถการที่จำเป็นโดยมีแพทย์ประจำบ้านต่อยอดและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตช่วยกำกับดูแลและให้คำแนะนำ
- NICU จำนวน 8 เตียง โดยแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหลัก ให้การดูแลทารกแรกเกิดอาการวิกฤต ทั้งทารกแรกเกิดครบกำหนดและเกิดก่อนกำหนด ร่วมกับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดและอาจารย์หน่วยทารกแรกเกิด
- รามา – โคราช (Interhospital Exchange Program) ภาควิชาฯ จัดเป็นสถานรักษาขั้นตติยภูมิ จึงเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีการรับส่งต่อคนไข้ที่มีความซับซ้อนมารักษาอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก ดังนั้นจึงเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แพทย์ประจำบ้านได้เรียนรู้โรคที่พบบ่อย และฝึกการดูแลรักษาคนไข้ด้วยตนเอง โดยผ่านการฝึกปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาซึ่งแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 จะได้รับมอบหมายให้ไปฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 – 3 เดือนต่อปี
- สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 จะได้ผ่านการฝึกปฏิบัติงานที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เพื่อได้ฝึกการรักษาดูแลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิที่มีความซับซ้อนไม่มาก เป็นระยะเวลา 1 เดือน
- การอยู่เวร (On Call) เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้ แพทย์ประจำบ้านจะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในและที่แผนกฉุกเฉิน โดยแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหลักและเป็นที่ปรึกษา โดย
- แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 อยู่เวรเดือนละ 8 ครั้ง
- แพทย์ประจำบ้านชันปี่ที่ 2 อยู่เวรเดือนละ 7 – 8 ครั้ง
- แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 อยู่เวรเดือนละ 6 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรามาธิบดีขณะนั้น
กิจกรรมการเรียนการสอน
นอกจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยใน และแผนกผู้ป่วยนอกแล้ว การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของภาควิชากุมารฯ ยังให้ความสำคัญและสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณ และฝึกการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้จัดให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเช้า เวลา 8.00 – 9.00 น. และ ช่วง เวลา 12.00 – 13.00 น. ในบางกิจกรรม โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายในห้องเรียน การเรียนรู้ทักษะในการทำหัตถการต่างๆ การเรียนรู้ทักษะในการสอนทางคลินิก การอบรมหลักสูตรกู้ชีพ การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะทางภาษาอังกฤษ การเรียนรู้ในการทำงานวิจัย และการฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น