ข้อมูลหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560)

ปรัชญาของหลักสูตร : 2560  

       โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มีความเชื่อว่า การพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ช่วยเหลือดูแลสุขภาพของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม โดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์และศิลปะการพยาบาล ศาสตร์ทางการแพทย์ ศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยี คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพรวมทั้งส่งเสริมให้บุคคล ครอบครัว กลุ่มคนในสังคมและชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพและพึ่งพาตนเองสามารถตัดสินใจพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อการมีสุขภาพที่ดีสามารถเรียนรู้และมีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยและข้อจำกัดได้อย่างปกติสุขบนพื้นฐานของความปลอดภัย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมตามหลักเศรษฐกิจและสุขภาพพอเพียงการจัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเปิดโอกาสให้มีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ สู่การปฏิบัติการพยาบาลในสถานพยาบาลและในชุมชนให้การพยาบาลเป็นรายบุคคล ครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นองค์รวมโดยผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณมีทักษะเชิงวิชาชีพและวิชาการและทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับสากล มีภาวะผู้นำ กล้าคิด มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น พัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง มีจิตอาสาสามารถทำงานร่วมกันในทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และผู้อื่น มีคุณธรรมจริยธรรม มีอุดมการณ์และความภาคภูมิใจในวิชาชีพ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. มีคุณธรรม จริยธรรมเชิงวิชาการและวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  2. รอบรู้และบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักฐานเชิงประจักษ์ สู่การปฏิบัติการพยาบาลรายบุคคล ครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นองค์รวม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยความแตกต่างทางวัฒนธรรมความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์และสิทธิของผู้ใช้บริการ
  3. คิดอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ
  4. ประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย ในการริเริ่มพัฒนาโครงการ นวัตกรรม หรืองานวิจัยที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาทางการพยาบาล
  5. สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาการเรียนรู้และการปฏิบัติการพยาบาล
  6. แสดงภาวะผู้นำ เข้าใจตน เข้าใจผู้อื่น ใช้ทักษะในการสื่อสารและแสดงออกอย่างเหมาะสม มีจิตอาสา สามารถทำงานร่วมกันในทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้อื่น
  7. ส่งเสริมและดำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม