เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา

สาขาวิชาโลหิตวิทยาก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งนับว่าเป็นสาขาวิชาที่เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเริ่มเปิดดำเนินการ ขณะนั้นภาควิชาอายุรศาสตร์มีเพียง 6 สาขาวิชา คือ สาขาโรคระบบทางเดินอาหารและเวชศาสตร์เขตร้อน สาขาโรคหัวใจ สาขาประสาทวิทยา สาขาโรคผิวหนัง สาขาโลหิตวิทยา และสาขาโรคต่อมไร้ท่อ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาคนแรก คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพันเอกพิเศษแพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพันเอกพิเศษแพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ได้รับการศึกษาทางโลหิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาก่อตั้งสาขาโลหิตวิทยา อาจารย์มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเลือดในมาลาเรีย งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 - 2545 โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลวิชัยยุทธ มีผู้เชี่ยวชาญร่วมงานหลายท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นงานวิจัยที่ครบวงจร ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดของฟาลซิพารั่มมาลาเรียที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และควรรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือดซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ งานวิจัยนี้ได้รับการอ้างอิงไปทั่วโลก อาจารย์ถนอมศรีได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นในปี พ.ศ.2544 และรางวัลมหิดล-บีบราวน์ในปี พ.ศ. 2548

ในปี พ.ศ.2521 และ 2522 ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชัย อติชาตการ และ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง แสงสุรีย์ จูฑา กลับจากการศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ อาจารย์วิชัยศึกษาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (hemostasis) จากสหรัฐอเมริกาในสถาบันที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกถึง 3 แห่ง เมื่อกลับมาประเทศไทย ทำให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติดีขึ้นมาก ในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์วิชัย ได้เปิดโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง อาจารย์สนใจศึกษาเกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาของภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ได้รับการตัดม้ามแล้ว เป็นผลงานค้นคว้าระดับโลก เพราะเป็นประโยชน์มหาศาล กับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ซึ่งต่างประเทศมีผู้ป่วยน้อย ผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือผู้ป่วยในประเทศไทย

อาจารย์แสงสุรีย์ ศึกษาที่มหาวิทยาลัย Vanderbilt มลรัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cell) มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic myeloid leukemia) และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cell transplantation) ในปี พ.ศ. 2530 อาจารย์แสงสุรีย์ และคณะฯได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอิสราเอล เรื่องการปลูกถ่ายไขกระดูกกับ Professor Shimon Slavin และได้กลับมาก่อตั้งหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูกโดยมีสำนักงานและหอผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์

 

            สาขาวิชาโลหิตวิทยาได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยมีอาจารย์เพิ่มขึ้น คือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุภร จันท์จารุณี (ปี พ.ศ. 2530) รองศาสตราจารย์นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ (ปี พ.ศ. 2534) ศาสตราจารย์นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ (ปี พ.ศ. 2540) รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พิมพ์ใจ นิภารักษ์ (ปี พ.ศ. 2550) อาจารย์แพทย์หญิง ธีรยา พัววิไล (ปี พ.ศ. 2552) อาจารย์แพทย์หญิง พิจิกา จันทราธรรมชาติ (ปี พ.ศ. 2555) อาจารย์แพทย์หญิง สุลดา ภู่เกียรติ (ปี พ.ศ. 2556) และอาจารย์แพทย์หญิง กชวรรณ บุญญวัฒน์ (ปี พ.ศ. 2556)

 

            ในปัจจุบันสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งในผู้นำทางโลหิตวิทยาของประเทศทางด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยา (Hematologic malignancies) มีการศึกษาทางด้านพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งทางโลหิตวิทยาต่างๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน (Acute leukemia), ภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ (Myelodysplatic syndrome) และมะเร็งเม็ดเลือดมัยอีโลมา (Multiple myeloma) ด้านการดูแลผู้ป่วยโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ โดยมีห้องปฏิบัติการโครงการหลอดเลือดอุดตัน ที่ทันสมัย และเป็นศูนย์อบรมฮีโมฟีเลียระดับนานาชาติ (International Hemophilia Training Center, IHTC-Bangkok) ร่วมกับสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, ด้านการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยประสบความสำเร็จในการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทั้งจากของตัวผู้ป่วยเอง (Autologous Stem Cell Transplantaion) การปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่น้อง (Matched sibling donor) และการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้บริจาค (Matched unrelated donor) ซึ่งมีผลการรักษาโรคซับซ้อนเทียบเคียงกับผลการรักษาจากสถาบันการแพทย์ชั้นนำในต่างประเทศ

            ในส่วนของการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยา ได้รับแพทย์ฝึกอบรมเฉพาะทางรุ่นแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ปัจจุบันมีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางแล้ว ได้แก่

  1. นพ.วรชาติ เอื้อทวีเกียรติ                     15. พญ.ณัฐติยา สุวรรณศรี                                           29. นพ.ทักษยุส สุทธิพงศ์เกียรติ
  2. นพ.จำเป็น ผลากรกุล                              16. พญ.พิจิกา จันทราธรรมชาติ                                30. นพ.สิทธาคม ผู้สันติ    
  3. นพ.สุภร จันท์จารุณี                                  17. นพ.ปิยะณัฐ มหานุภาพ                                             31. พญ.ชวฎา ปิยะบุญญานนท์
  4. นพ.นิทัศน์ โสธนะพันธุ์                              18. พญ.ลัดดา สรคุณพิพิธกุล                                    32. พญ.ภัคทิพา ภัทรโกศล
  5. นพ.อาทิตย์ อังกานนท์                             19. พญ.นิศา มะเครือสี                                                      33. พญ.สิรภัทร รุ่งวิทยาธิวัฒน์
  6. นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ                        20. พญ.นริศรา วงศ์ทอง                                                34. พญ.มณีรัช แก้วมณี
  7. พญ.กฤตยา สุธีโสภณ                              21. พญ.กิตติยา มณีเชษฐา                                          35. พญ.ญาณิศา เครือวัลย์   
  8. พญ.ธีรยา พัววิไล                                         22. พญ.ปิยฉัตร (วงศ์ใหญ่) จันทรมังกร               36. พญ.กนกรัตน์  ขจรไชยกูล
  9. พญ.ฐิรภัทร จิตต์โสภักตร์                       23. พญ.พิริยาภรณ์ เอี่ยมสาย                                   37. พญ.รุจรวี จันทร์คำอ้าย      
  10. พญ.นลวันท์ เชื้อเมืองพาน                     24. นพ.ปรัชญา วิชชาธร                                                38. พญ.ภัสสร โชคสมนึก                                  
  11. พญ.ศิริวิมล พัฒนสิงห์                             25. พญ.กชวรรณ บุญญวัฒน์                                    39. นพ.ณรงค์เดช พูนสมบัติเลิศ
  12. พญ.พิมพ์ใจ นิภารักษ์                                26. นพ.ปธาวุฒิ วัชราภรณินทร์                                40. พญ.นัฎฐิกาญจน์ เล็กสมบูรณ์  
  13. นพ.เดชวิทย์ วรสายัณห์                           27. พญ.ดวงกมล ภิญโญพรพาณิชย์                    41. พญ.ปองกานต์ ทัศการ          
  14. นพ.ณรงค์ ชัยวุฒินันท์                             28. พญ.เอมวิภา สาสกุล                                               42. พญ.รุ้งตะวัน จันทรังศรี