ประวัติความเป็นมาภาควิชา

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถือกำเนิดตั้งแต่เมื่อมีการวางแผนจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งจะเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 4 ของประเทศไทย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี กุมารแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เชิญศาสตราจารย์นายแพทย์รจิต บุรี ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าสาขาวิชาโรคไตอยู่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเช่นกันให้มาเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ มีอาจารย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ ชุมพล อายุรแพทย์โรคหัวใจ และอาจารย์ ม.ร.ว.พวงแก้ว สุนทรเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง (สองพี่น้อง)จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้บุกเบิกและวางแผนจัดตั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่นี้ด้วย อาจารย์รจิตเต็มใจที่จะรับงานนี้เมื่อทราบว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์เปรม บุรี (พี่ชาย) จะเข้าร่วมบุกเบิกและวางแผนจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ฯ ในฐานะหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ เพราะเห็นว่าภาควิชาอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์จะต้องประสานงานกันได้ งานจึงจะเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดีและรวดเร็ว

ในระยะแรกของการจัดตั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ นอกจากเรื่องของสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่อาจารย์รจิตต้องพยายามจัดหา คือ อาจารย์ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามหาผู้ที่มีคุณวุฒิดีเด่น มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อคณะแพทยศาสตร์อื่นๆ อาจารย์ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมจัดตั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ คือ อาจารย์ถนอมศรี ศรีชัยกุล เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาจากโรงพยาบาลภูมิพล อาจารย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหารจากโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ แพทย์หญิงวิภา ทองมิตร เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากโรงพยาบาลศิริราช และอาจารย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งต่อมาอาจารย์อรรถสิทธ์ได้ชักชวนอาจารย์สุชาติ อินทรประสิทธ์ ลูกศิษย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์วิชัย ตันไพจิตร จากโรงพยาบาลศิริราช มาร่วมในภาควิชาฯ ด้วย

มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้ทุนแก่หัวหน้าภาควิชาหลายท่านไปดูงานด้านต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่กิจกรรมของคณะฯ อาจารย์รจิตได้ไปดูงานด้านแพทยศาสตรศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยล์ เป็นเวลา 3 เดือน ในขณะที่ไปดูงานต่างประเทศ อาจารย์ได้ติดต่อกับแพทย์ที่กำลังปฏิบัติงาน หรือฝึกอบรมอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในขณะนั้น และได้ชักชวนให้กลับมาปฏิบัติงานในภาควิชาอายุรศาสตร์ อาทิเช่น อาจารย์สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ (ต่อมไร้ท่อ) อาจารย์ยศวีร์ สุขุมาลจันทร์ (ปอด) อาจารย์เกรียงไกร อัครวงศ์ (ทางเดินอาหาร) อาจารย์อุดม หิริณสุต (ทางเดินอาหาร) อาจารย์ เพ็ญศรี มกรานนท์ (ไต) และอาจารย์พวงเพ็ญ ทัศนไพโรจน์ (ต่อมไร้ท่อ) เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ติดต่อกับ นายแพทย์ไมเคิล สจ๊วต ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่ Massachusette General Hospital ให้มาทำงานเป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน

มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ยังได้ให้ทุนแก่ผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ในภาควิชาฯ ไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศหลายท่านอาทิเช่น อาจารย์ศิริพัฒน์ วัฒนเกษตร ไปศึกษาเพิ่มเติมทางเวชสถิติและระบาดวิทยา อาจารย์ วิชัย ตันไพจิตร ไปศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์ และอาจารย์อนุวัตร ลิ้มสุวรรณ ไปศึกษาทางเวชศาสตร์ชุมชน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ยังได้รับโอนอาจารย์สมจิตต์ วิริยานนท์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากแคนาดา และปฏิบัติงานที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้มาเป็นหัวหน้างานด้านเวชศาสตร์อุตสาหกรรม และรับโอนอาจารย์ ศรีธรรม ธนะภูมิ มาเป็นหัวหน้างานด้านจิตเวชศาสตร์

ในขณะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีกำลังก่อสร้างอยู่อย่างรีบเร่ง อาจารย์ที่ได้รับการบรรจุแล้วจึงยังกระจัดกระจายทำงานอยู่ ณ ต้นสังกัดเดิมไปก่อน ช่วยราชการอยู่ในคณะแพทยศาสตร์อื่นๆ หรือทำงานอยู่ในโรงพยาบาลอื่นๆ ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง โดยสรุปเมื่อเริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีภาควิชาอายุรศาสตร์ประกอบไปด้วย นายแพทย์รจิต บุรี เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ และหัวหน้าหน่วยโรคไต นายแพทย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ ชุมพล เป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯ และเป็นหัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ แพทย์หญิง ม.ร.ว.พวงแก้ว สุนทรเวช เป็นหัวหน้าหน่วยโรคผิวหนัง นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ เป็นหัวหน้าหน่วยโรคทางเดินอาหาร และอายุรศาสตร์เขตร้อน แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล เป็นหัวหน้า หน่วยโลหิตวิทยา นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา นายแพทยศวีร์ สุขุมาลจันทร์ เป็นหัวหน้าหน่วยโรคปอด นายแพทย์เกรียงไกร อัครวงศ์ อยู่หน่วยโรคทางเดินอาหาร และช่วยปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศิริราช นายแพทย์สุชาติอินทรประสิทธิ์ อยู่หน่วยโรคไตและฝากปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์หญิงวิภา ทองมิตร อยู่หน่วยโรคหัวใจและฝากปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศิริราช และนายแพทย์วิชัย ตันไพจิตรกำลังทำปริญญาโททางโภชนศาสตร์และปฏิบัติงานที่ศูนย์วิจัยทางคลินิกซึ่งอาจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคนแรกเป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น

     ต่อมาเมื่อคณะฯ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 ได้นายแพทย์สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ มาเป็นหัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม แพทย์หญิงเพ็ญศรี มกรานนท์ มาเป็นหัวหน้าหน่วยโรคไตแทนอาจารย์รจิต หลังจากนั้นไม่นานภาควิชาอายุรศาสตร์ได้อาจารย์มงคล วัฒนสุข มาเป็นหัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ นายแพทย์สมชาติ โลจายะ ซึ่งเดินกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา บรรจุในตำแหน่งอาจารย์หน่วยโรคหัวใจ และนายแพทย์เทพ หิมะทองคำ กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ได้รับบรรจุในตำแหน่งอาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม

เนื่องจากอาจารย์ที่เข้ามาอยู่ในภาควิชาฯ มาจากหลากหลายสถาบันมีความแตกต่างกันในบุคลิกนิสัยและวัฒนธรรม มีความตั้งใจและมีไฟแรง ในที่ประชุมภาควิชาอายุรศาสตร์จึงมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างเพราะความเห็นไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่เพราะทุกคนอยากทำงาน พยายามจะแย่งงานกันทำ แต่เมื่อเวลามี CPC (Clinical Pathological Conference) อาจารย์ทุกท่านจะพร้อมใจกันมาเข้าฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการที่นั่งในห้องประชุมใหญ่จะเต็มหมด ต้องนั่งกันตามขั้นบันได ทำให้ได้ความรู้ตั้งแต่นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์ที่จบใหม่ อาจารย์อารี คณบดีก็จะเข้าฟังเกือบทุกครั้งเว้นแต่จะติดภารกิจ บรรยากาศการเรียนการสอนมีความเข้มข้น นักศึกษาแพทย์มีบทบาทในการดูแลคนไข้มาก เนื่องจากบางช่วงมีแพทย์ประจำบ้านไม่ครบ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาแพทย์เป็นไปอย่างใกล้ชิด

หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผลต่อเจตคติของนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีกลุ่มหนึ่ง การจัดสัมมนาโดยนักศึกษาแพทย์ภายใต้ “โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล” ที่อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ได้ข้อสรุปมาเสนอต่ออาจารย์ทุกท่านในห้องประชุมใหญ่ เป็นธรรมเนียมทุกปีที่อาจารย์จะมารับฟังการประเมินจากนักศึกษา เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นในปีนั้นการนำเสนอเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรการสอนของคณะแพทยศาสตร์ฯ นักศึกษาเห็นว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไม่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศไทย ไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานในสังคมชนบทโดยเฉพาะในระดับสถานีอนามัยได้ ต้องการให้คณะแพทยศาสตร์ฯ เปลี่ยนวิธีการสอน รวมไปถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์คุณธรรมจริยธรรมของอาจารย์อย่างเปิดเผย เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างมากทำให้มีการตกลงกันที่จะจัดตั้งสภาอาจารย์ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางโดยมีอาจารย์ถนอมศรีเป็นประธานฯ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 2 ปี ประกอบกับปัจจัยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในภาควิชาฯและภายในคณะแพทยศาสตร์ฯ ทำให้อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านได้แก่ อาจารย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ อาจารย์สมพนธ์ และอาจารย์ ม.ร.ว.พวงแก้ว ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาอีกไม่นานประมาณปี พ.ศ. 2521 - 2525 อาจารย์ยศวีร์ อาจารย์อุดม อาจารย์เกรียงไกร และ อาจารย์ถนอมศรี ได้ลาออกจากราชการเช่นกัน ปัจจัยภายนอกที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สมองไหล” ของอาจารย์แพทย์ คือ การออกไปประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้ อาจารย์สมชาติ และอาจารย์เทพ ตัดสินใจลาออกจากราชการในระยะเวลาต่อมา

เมื่ออาจารย์รจิต ได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งคณบดี ในปี พ.ศ. 2521 ด้วยความที่ภาควิชาฯ ยังไม่ค่อยมีความมั่นคง อาจารย์รจิต จึงยังรั้งตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ควบคู่กันไปกับตำแหน่งคณบดีโดยให้อาจารย์อรรถสิทธิ์ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 อาจารย์รจิตจึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ อาจารย์อรรถสิทธิ์ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าภาควิชาฯอย่างเป็นทางการ อาจารย์อรรถสิทธิ์ได้ทำแผนพัฒนาภาควิชาฯระยะยาวเสนอต่อรัฐบาล ทำให้ได้ตำแหน่งอาจารย์เพิ่มมาทีเดียวถึง 10 ตำแหน่ง และได้วางแผนการเกิดหน่วยเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา หน่วยเวชพันธุศาสตร์ และหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพิ่มเติมจากหน่วยหลักที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ต่อมาในสมัยของศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ  มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ระหว่างการออกนอกระบบราชการ การรับอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่เข้าทำงานจึงเปลี่ยนจากการบรรจุในตำแหน่งข้าราชการ เป็นตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลแทน จนกระทั่งมหาวิทยาลัยมหิดลออกจากระบบราชการอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2550 เมื่อเข้าสู่สมัยที่ศาสตราจารย์แพทย์หญิงแสงสุรีย์ จูฑา เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ได้เกิดหน่วยอายุรศาสตร์ทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยอายุรศาสตร์แบบองค์รวม รวมไปถึงการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน ในปัจจุบันภาควิชาอายุรศาสตร์มีอาจารย์แพทย์ทั้งหมด 101 คน และมีสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้ โรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม เวชพันธุศาสตร์ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรคทางเดินอาหารและตับ โลหิตวิทยา โรคติดเชื้อโรคไต ประสาทวิทยา โภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ มะเร็งวิทยา โรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต เภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก และอายุรศาสตร์ทั่วไป

VDO แนะนำภาควิชาฯ ครบรอบ 40 ปี  Thai version : English version
ดาวน์โหลดประวัติภาควิชาฉบับเต็ม