วิสัยทัศน์ พันธกิจ
1) รักษามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยหนักให้มีประสิทธิภาพที่ดีตลอดไป และวิจัยพัฒนาการดูแลรักษาเพิ่มเติม เพื่อให้คุณภาพการรักษาดียิ่งขึ้น
2) สร้างมาตรการคัดกรอง ป้องกัน และรักษาวัณโรคในบุคลากรทางการแพทย์ของภาควิชาอายุรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมสืบค้นและเสนอแนะวิธีการแก้ไข หากพบมีอุบัติการณ์การติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้น
3) สร้างระบบการดูแลผู้ป่วยวัณโรค (ผู้ป่วยนอก) การลงทะเบียน และการติดตามผู้ป่วยวัณโรคในภาควิชาอายุรศาสตร์ โดยอิงมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก ตลอดจนสร้างเครือข่ายประสานงานกับสถานพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาจขยายโครงการให้ครอบคลุมผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดของโรงพยาบาลรามาธิบดีในอนาคต
4) สร้างระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังอย่างครบวงจร โดยผลักดันให้มีโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (pulmonary rehabilitation program) ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยทั้งใน รพ.รามาธิบดี และเผยแพร่สู่โรงพยาบาลรอบนอก อันจะเป็นการเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และนำไปสู่การลดจำนวนการใส่ท่อช่วยหายใจ/เครื่องช่วยหายใจโดยไม่จำเป็นของผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อเข้าใกล้วาระสุดท้ายของโรค
5) ศึกษาเพื่อหาอุบัติการณ์และลักษณะอาการของผู้ป่วย COPD ในประชากรไทย ตลอดจนแนว
ทางการป้องกันการเกิดโรค
6) ศึกษาเพื่อหาอุบัติการณ์และลักษณะทางคลินิกของภาวะ sleep breathing disorder ในประชากรไทย และสร้างแนวทางการป้องกันรักษา โดยประสานงานกับแพทย์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง
7) ขยายโครงการดูแลผู้ป่วยโรคหืดแบบบูรณาการณ์ ไปสู่โรงพยาบาลรอบนอกเพื่อพัฒนาการรักษาโรคหืดในระดับชุมชน
ขอบเขตการดำเนินงานของสาขาวิชา
วิชาโรคระบบการหายใจนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนต้น หลอดลม เนื้อปอด ทรวงอก และผนังทรวงอก โรคที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากภาวะการติดเชื้อ (infection) เนื้องอก (neoplasm) ความไวผิดปกติของหลอดลม (bronchial hyperreactivity) และความผิดปกติของเนื้อปอดเอง ทั้งที่ไม่ทราบสาเหตุหรือทราบสาเหตุ โดยอาจเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมในบรรยากาศ หรือเป็นผลต่อเนื่องจากโรคของอวัยวะหรือระบบอื่นๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจนั้น ผู้รักษาไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้พื้นฐานทางสรีระวิทยาของระบบการหายใจอย่างดีแล้ว ยังต้องรอบรู้ถึงการทำงานของอวัยวะอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องมีความแตกฉานในการรักษาโรคติดเชื้อของปอด การใช้ยาปฏิชีวนะ ตลอดจนการดูแลรักษาโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระยะสุดท้าย อนึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าภาวะการหายใจล้มเหลวนั้น มิได้จำกัดแค่ความผิดปกติอันเนื่องจากพยาธิสภาพของปอดเอง แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดร่วมกับความล้มเหลวของอวัยวะระบบอื่นๆ ในผู้ป่วยภาวะวิกฤตทั่วๆ ไป (multiple organ failure in critically-ill patient) ดังนั้นในการรักษาพยุงชีวิตผู้ป่วยให้พ้นจากภาวะการขาดออกซิเจน (hypoxia) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตของระบบอื่น ๆ ไปพร้อมๆ กันแบบองค์รวมและอย่างแยกกันไม่ออก (holistic critical care) นอกจากนั้นทักษะความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยภาวะการหายใจล้มเหลวและผู้ป่วยภาวะวิกฤตนั้นเป็นศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้และพึ่งเครื่องมือช่วยชีวิตและเครื่องมือเฝ้าประเมินจำนวนมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจจึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางกลศาสตร์การหายใจเป็นอย่างดีและมีความสามารถในการดูแล และทำนุบำรุงรักษาเครื่องมือให้มีคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ประโยชน์จึงเกิดกับผู้ป่วยและได้ประสิทธิภาพการรักษาที่สูงที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว ขอบข่ายภาระงานของหน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต จึงพอสรุปได้ดังนี้·
งานการเรียนการสอน
- ระดับก่อนปริญญา สอนวิชาโรคระบบการหายใจ (pulmonary medicine) และวิชาเวชบำบัดวิกฤต (critical care medicine) แก่นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาพยาบาลทั้งจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และจากสถาบันการศึกษาอื่น
- ระดับหลังปริญญา สอนวิชาโรคระบบการหายใจและวิชาเวชบำบัดวิกฤตแก่แพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป ทั้งจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และจากสถาบันอื่น และเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (ต่อยอด) อายุรศาสตร์สาขาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตระบบหายใจ (pulmonary and pulmonary critical care medicine) ของแพทยสภา หลักสูตร 2 ปี โดยรับแพทย์ได้ชั้นปีละ 5 คน แต่ปัจจุบันรับ 4 คนต่อชั้นปี
งานการบริการ
- โรคระบบการหายใจ
- ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจในภาควิชาอายุรศาสตร์ และให้คำปรึกษา/ดูแลผู้ป่วยระบบการหายใจจากภาควิชาอื่นๆ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่รับตัวไว้ในหอผู้ป่วย
- บริการการทดสอบสมรรถภาพปอดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้ป่วยปรึกษาจากโรงพยาบาลอื่นๆได้แก่ pulmonary function test (เช่น spirometry, lung volumes, diffusing capacity), broncho-provocative test, cardio-pulmonary exercise test
- บริการการส่องกล้องหลอดลมคอ (bronchoscopy) ดูความผิดปกติของทางเดินหายใจล้างน้ำ (broncho-alveolar lavage) และตัดชิ้นเนื้อ (bronchial biopsy) เพื่อส่งตรวจโดยผ่าน fiberoptic bronchoscope การเผาทำลายเนื้องอกในหลอดลมโดยใช้ Nd-Yag laser ผ่าน rigid/fiberoptic bronchoscope การถ่างขยายหลอดลม (bronchoplasty) โดยวิธี balloon dilatation การใส่เครื่องถ่างขยายหลอดลมถาวร (endotracheal/endobronchial stent placement)
- บริการการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ (sleep breathing disorder) โดยการตรวจ polysomnography
- โรคระบบการหายใจและเวชบำบัดเวชบำบัดวิกฤต
- ดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตใน intensive care unit จำนวน 8 เตียงและ intermediate care unit จำนวน 20 เตียง
- บริหารเตียงของ intensive care unit และ intermediate care unit โดยควบคุมให้การใช้เตียงหมุนเวียนผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- ตรวจสอบ ดูแล และควบคุมคุณภาพการบริการรักษาผู้ป่วยโรคระบบการหายใจและผู้ป่วยภาวะวิกฤตใน intensive care unit และ intermediate care unit ให้เป็นไปอย่างได้มาตรฐานระดับสากล
- บริการทำความสะอาด บำรุงรักษาและจัดหาเครื่องช่วยหายใจตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ป่วยในภาควิชาอายุรศาสตร์ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยมีเครื่องมือใช้อย่างเพียงพอ มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพดี ทันสมัย และมีอายุการใช้งานนานที่สุด
งานวิจัย
งานวิจัยที่ได้ทำและส่งเสริมให้ทำมักเป็นการวิจัยทางคลินิก (clinical research) เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภาระรับผิดชอบด้านการบริการและการเรียนการสอนมาก งานวิจัยจึงมุ่งเน้นเฉพาะงานวิจัยที่เพิ่มพูนความรู้ต่อการรักษา เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของคนไทยหรือของประเทศไทย ตลอดจนเพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยไทย งานวิจัยที่ได้กระทำไป หรือกำลังกระทำของหน่วย ได้แก่
- เชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบชุมชนในประเทศไทย
- ภาวะ adult respiratory distress syndrome ในผู้ป่วยไทย
- มาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤติของไทย
- ค่า spirometry และ lung volume ของคนไทยปกติ
- อุบัติการณ์และระบาดวิทยาของ sleep breathing disorder ในคนไทย
- โรคหืดและการบริหารจัดการที่ห้องฉุกเฉิน
- โรค COPD-Survival ในผู้ป่วยไทย
- การศึกษา hemodynamic ในผู้ป่วยติดเชื้อมาเลเรียที่รุนแรง
- การประดิษฐ์เครื่อง IMV/CPAP ขึ้นใช้เองในการช่วยหย่าเครื่องช่วยหายใจ
- ผลของการรักษาปอดอักเสบชุมชนภายหลังการปฏิบัติตาม guideline
- Ventilator-associated pneumonia ในภาควิชาอายุรศาสตร์
- การบริหารจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยหนักของภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี การคัดกรอง ป้องกัน และรักษาวัณโรคในบุคคลากรทางการแพทย์ของภาควิชาอายุรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหอผู้ป่วย ถ้ามีการระบาดของโรคมากขึ้น และอื่น ๆ
ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- มีค่าอ้างอิงการทดสอบสมรรถภาพปอดในคนไทยปกติ (normal Thai predicted spirometric value) ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528
- ประเมินความเป็นไปได้และความน่าเชื่อถือ (assessment and validation) ของระบบ APACHE II System เมื่อนำมาใช้ในผู้ป่วย ICU ของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2533
- ประเมินประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยหนักของภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี (hospital performance) ได้ค่า predicted death ต่อactual death เท่ากับ 1.17 ในปี พ.ศ.2533
- แต่งตำราชื่อ การดูแลรักษาโรคระบบหายใจในผู้ใหญ่ (respiratory care in adult) ตีพิมพ์ในปีพ.ศ.2535
- เปิดบริการตรวจรักษาโรคเกี่ยวกับการนอนหลับและตรวจ polysomnogram ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537
- บริการทดสอบสมรรถภาพปอด (spirometry, lung volume, DLCO) โดยใช้ body plethysomgraphy ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538
- บริการตรวจ cardio-pulmonary exercise test ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538
- บริการจัดการการดูแลผู้ป่วยวิกฤตของภาควิชาอายุรศาสตร์ใหม่ โดยจัดให้มี intermediate care unit เพิ่มเติมจากแผนก ICU และ CCU ทำให้การบริหารจัดการและการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตของภาควิชาอายุรศาสตร์ แยกจากผู้ป่วยอายุรศาสตร์สามัญทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นผลให้จำนวนวันครองเตียงของผู้ป่วยในอายุรศาสตร์ลดลงร้อยละ 25 อัตราตายลดลงร้อยละ 40 และอัตรา predicted death ต่อ actual death ใหม่เท่ากับ 1:0.7
- ปรับปรุงตำราเรื่อง การดูแลรักษาโรคระบบหายใจในผู้ใหญ่ (Respiratory Care in Adult) ฉบับใหม่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2545
- โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังโดยวิธีการออกกำลังกายแบบไทเก๊ก
- โครงการดูแลผู้ป่วยโรคหืดแบบบูรณาการณ์ทั้งในห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก และการดูแลตนเองที่บ้าน