วิสัยทัศน์ พันธกิจ
ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ประหยัด คุ้มค่า และได้ผลลัพธ์ที่ดี เน้นการจัดระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับเศรษฐสาธารณสุขของประเทศ พัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาเท่าเทียมกับมาตรฐานสากล แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทำงานเป็นทีม โดยยึดประโยชน์ที่ผู้ป่วยพึงได้รับเป็นศูนย์กลาง และให้ความเคารพในสิทธิผู้ป่วยเป็นสำคัญ
เป้าหมาย
1. ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอาการจากโรคมะเร็งและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา
2. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการเรียนการสอน ให้ความรู้และเป็นแหล่งฝึกอบรม เพื่อผลิตบุคลากรด้านการดูแลรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
3. เป็นหน่วยงานที่มีการค้นคว้าวิจัยทางคลินิคเพื่อพัฒนาการตรวจรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัย
จุดเด่นของสาขาวิชา
1. การดูแลผู้ป่วยมีความร่วมมือในลักษณะสหสาขากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่ร่วมดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งทางศัลยกรรมทุกสาขา รังสีวินิจฉัย รังสีรักษา ทำให้มีการพัฒนาการให้การรักษาที่ทันสมัยและครบวงจรแก่ผู้ป่วย และนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางมะเร็ง (cancer excellent center) ของคณะ
2. มีการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ต้องมารับยาเคมีบำบัดแบบผู้ป่วยนอก โดยที่ทางสาขาวิชาเป็นแกนสำคัญในการผลักดันให้มีห้องให้ยาเคมีบำบัดที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เริ่มในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้ลดปัญหาความล่าช้าในการรับยาให้แก่ผู้ป่วย
3. มีการผลักดันและริเริ่มให้มีการจัดผสมยาเคมีบำบัดจากหน่วยกลางของรามาธิบดีในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งทำให้สามารถลดการสูญเปล่าของยา และก่อให้เกิดความปลอดภัยของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมดูแลผู้ป่วย และทำให้รามาธิบดีเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่สามารถจัดการบริหารรูปแบบนี้ได้
4. มีการวิจัยที่หลากหลายทั้งทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีการเชื่อมโยงการวิจัยกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่การรักษาที่ทันสมัย และเทียบเท่ามาตรฐานต่างประเทศ
5. ทางด้านวิชาการ
5.1 มีการจัดประชุมร่วมระหว่างสาขามะเร็งวิทยา และ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Mayo Clinic สหรัฐอเมริกาเป็นประจำ ทุก 2 ปี เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง และสร้างเครือข่ายทั้งในการวิจัย และดูงานในต่างประเทศสำหรับอายุรแพทย์สาขามะเร็งวิทยา
5.2 มีการจัดประชุมวิชาการในโรงพยาบาลในภูมิภาคที่มีศิษย์เก่าทำงาน เพื่อช่วยเผยแผ่ความก้าวหน้าทางสาขาให้แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ศิษย์อีกด้วย
ขอบเขตการดำเนินงาน
ด้านการเรียนการสอน
- รับผิดชอบการเรียนการสอนของนักศึกษาทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา เป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมโรคมะเร็งแก่แพทย์ประจำบ้าน อายุรศาสตร์แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง นักศึกษาพยาบาลปริญญาโท นักศึกษาพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง และบุคลากรภายในคณะฯ
- พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านให้มีความเหมาะสมสอดคล้องต่อปัญหามะเร็งของประเทศให้มากขึ้น
- พัฒนาการฝึกอบรมแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์สาขามะเร็งให้สอดคล้องกับปัญหาในประเทศ และสามารถประยุกต์ความก้าวหน้าทางวิทยาการในระดับสากลให้มีความเหมาะสมกับขีดความสามารถของสถานภาพของประเทศได้
ด้านการบริการทางการแพทย์
- การบริการผู้ป่วยนอก ให้บริการตรวจผู้ป่วยนอกที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ในส่วนที่เป็นคลินิกเฉพาะทางโรคมะเร็งในวันจันทร์ อังคาร และพฤหัส เวลา 9.00-12.00 น. และวันพุธ 13.00-16.00 น ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถพบผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงที
- การบริการผู้ป่วยใน ให้การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งทั้งในหอผู้ป่วยอายุรกรรมและที่ปรึกษาจากภาควิชาอื่น
- ให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตามแนวทางการรักษาที่ได้สร้างขึ้น ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาร่วมประชุมปรึกษา วางแผนการรักษาร่วมกับคณาจารย์ในหลายภาควิชา
- ในการรักษาผู้ป่วย มีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างองค์รวม ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยทีมแพทย์ พยาบาลผู้ชำนาญการ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
- บริหารยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ปลอดภัย เฝ้าระวังอันตรายและผลแทรกซ้อนที่เกิดจากยาเคมีบำบัดทั้งเฉียบพลันและผลระยะยาว
- คำนึงถึงความเสี่ยงและมาตรการความปลอดภัยของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการบริหารยาเคมีบำบัดโดยใช้ระบบการบริหารยาแบบรวมศูนย์ (unit dose) มีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยารักษาโรคมะเร็งเป็นผู้ดำเนินการ และประสานงานกับทีมผู้เกี่ยวข้อง
ด้านการวิจัย
งานวิจัยของสาขาวิชาในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการวิจัยทางคลินิกทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติเพื่อการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ทันสมัยทัดเทียมกับสากล ในปัจจุบัน มีความสนใจทำวิจัยในรูปแบบของ translational research และ molecular oncology มากขึ้น และมีความร่วมมือกับสาขาวิชาต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
ด้านการบริการวิชาการ
- จัดงานประชุมนานาชาติ เช่น งานประชุมวิชาการ รามาธิบดี-เมโย คลินิก ทุก 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และงานประชุมวิชาการ ESMO Asia CME Partner Centre ในปี พ.ศ. 2555
- ให้ความรู้ด้านโรคมะเร็งต่างๆแก่ประชาชนทั่วไป
- สอนและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อพัฒนาความสามารถในการดูแล จัดการกับอาการของโรคและผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล
- พัฒนาสื่อ และเอกสารความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว
ผลงานและความก้าวหน้าของสาขาวิชาในปัจจุบัน
1. ดำเนินการจัดทำ guideline ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตามมาตรฐานสากล ร่วมกับมะเร็งวิทยาสมาคมเพื่อเป็นคู่มือในการรักษาผู้ป่วย
2. มีการศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยยา และวิธีการรักษาใหม่ๆ ร่วมทั้งในและนอกประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วยมะเร็งต่อไป
3. ประเมินสถานการณ์การใช้ยาเคมีบำบัด และค่ารักษาตาม CPG และเป็นส่วนหนึ่งของคณะอนุกรรมการประเมินการใช้ยาเคมีบำบัด
4. เป็นผู้ริเริ่มในการแปลเครื่องมือคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็ง (แบบสอบถาม) ที่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ และทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความเป็นไปได้และความน่าเชื่อถือ (assessment and validation) จนมีผลงานตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์อัน เป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์ โรคมะเร็งในการอ้างอิงเพื่อทำวิจัยทางคลินิกต่อไป ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยไทยได้อย่างมีมาตรฐาน
5. เป็นผู้ริเริ่มให้มีระบบการบริหารยาแบบ short stay เพื่อลดปัญหาการครองเตียงในผู้ป่วยที่เข้ามารับยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาล
6. เป็นผู้ผลักดันให้มีระบบการบริหารยาแบบ unit dose เกิดขึ้นในบางจุดของโรงพยาบาลและขยายครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล
7. งานด้านพัฒนาการบริการ มีการพัฒนาการบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน ( Home Chemotherapy) ในปีพ.ศ. 2559 ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดตรงตามระยะเวลากำหนดการให้ยา, ลดการนอนโรงพยาบาล, ลดค่าใช้จ่ายในการให้ยาเคมีบำบัด, เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง และพัฒนาศักยภาพของหน่วยในการเป็นศูนย์อบรมการบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน แก่โรงพยาบาลอื่น
ผลงานที่ได้รับรางวัล
1. Home Chemotherapy RAMA Model: HCMC, Good Practice Award ในงาน Mahidol Quality 2016 ที่จัดที่โรงพบาบาลรามาธิบดี ประจำปี 2559.
2. Home Chemotherapy RAMA Model: HCMC, Team Good Practice award in Dean's innovation awards' 2016 ที่จัดที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2559.
ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ความร่วมมือกันในงานวิจัย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบุคลากร รวมทั้งจัดงานประชุมวิชาการกับประเทศต่างๆ ดังต่อไปนี้