ประวัติความเป็นมา
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วิชัย ตันไพจิตร เป็นผู้ก่อตั้งสาขาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2516 โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีและศาสตราจารย์แพทย์หญิง สาคร ธนมิตต์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยในขณะนั้น ได้กรุณาจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของชั้น 6 อาคาร 1 ให้เป็นห้องปฏิบัติการของสาขาวิชาซึ่งนับเป็นคลินิกโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทางด้านทุพโภชนาการเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อบริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่องานวิจัย และการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ภายในสาขามีอาจารย์แพทย์จากภาควิชาอายุรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยมาร่วมปฏิบัติงาน และได้มีการพัฒนาการมาตามลำดับดังนี้
ปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดสอนโภชนศาสตร์คลินิกแก่นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักโภชนากร นักกำหนดอาหาร และพยาบาล ให้ตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการกับการดูแลรักษาผู้ป่วย
ปี พ.ศ. 2518 ได้ก่อตั้งหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาโภชนศาสตร์ ระดับปริญญาโท
ปี พ.ศ. 2528 ได้ก่อตั้งหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาโภชนศาสตร์ ระดับปริญญาเอก
ปี พ.ศ. 2532 ได้จัดตั้งโครงการโภชนศาสตร์คลินิก โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและเบลเยี่ยม ให้การสนับสนุนเครื่องมือหลายชนิด จนกระทั่งห้องปฏิบัติการของสาขาชั้น 6 อาคาร 1 มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีในขณะนั้นจึงได้อนุมัติให้ดำเนินการดัดแปลงพื้นที่ด้านหลังของชั้น 9 อาคาร 1 เป็นห้องปฏิบัติการของโครงการโภชนศาสตร์คลินิก มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารอาหารต่างๆ ห้องเจ้าที่ธุรการ และห้องสมุดของสาขาวิชา รวมทั้งเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และแพทย์ที่มาฝึกอบรมด้านโภชนศาสตร์คลินิก
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วิชัย ตันไพจิตร ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาคนแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 จนถึง ปี พ.ศ.2543 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 27 ปี อาจารย์ได้วางรากฐานโภชนาการทางคลินิก การให้อาหารทางระบบทางเดินอาหารและทางหลอดเลือดดำให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งจัดตั้งทีมงานในการบำบัดทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล
ปี พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2550 ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาคนที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเรื่องโครงสร้าง โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีในขณะนั้น ได้ก่อสร้างตึกอาคารวิจัยและสวัสดิการและมีดำริให้เป็นศูนย์รวมเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆด้านการวิจัยทางการแพทย์ ให้อยู่ที่ตึกเดียวกัน ดังนั้นห้องปฏิบัติการวิจัยของหน่วย ชั้น 6 และชั้น 9 จึงถูกยุบมารวมกันที่อาคารวิจัย การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมีผลทำให้เจ้าหน้าที่สาขาวิชามีการโยกย้ายที่ทำงาน ลาไปศึกษาต่อ ลาออกก่อนเกษียณอายุ ทำให้มีเจ้าหน้าที่น้อยลง แต่การดำเนินงานยังมีต่อและมีผลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ. 2550-2555 ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ เป็นหัวหน้าคนที่ 3 ได้มีผลงานดังนี้ 1) ก่อตั้ง Parenteral health care team มีสถานที่ตั้งที่ชั้น6 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ และวางรากฐานร่วมกับทางกลุ่มเภสัช พัฒนาสูตรอาหารทางหลอดเลือดดำมาตรฐานโรงพยาบาลรามาธิบดี Ramathibodi Standard Total Parenteral Formula ซึ่งสามารถให้ในผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลงานตีพิมพ์ ผ่านการรับรองจากศูนย์ประยุกต์ ซึ่งได้รับอนุสิทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล หมายเลข อนุสิทธิบัตร 1499 พ.ศ. 2547 2) ได้พัฒนาสารละลายแร่ธาตุสำหรับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ Ramatrace ชึ่งมีประสิทธิภาพ และราคาถูก ได้รับอนุสิทธิบัตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 1920 เมื่อพ.ศ. 2550 3) ได้ทำหนังสือคู่มือการดูแลผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และวางแนวทางการดูแลสายสวนเพื่อลดการติดเชื้อซึ่งสามารถการติดเชื้อจากร้อยละ 18 เหลือ ร้อยละ 4 ซึ่งตีพิมพ์รายงาน ในปีพ.ศ. 2546 4) ได้รับรางวัลการจาก คณบดีโรงพยาบาล รามาธิบดี รางวัลพัฒนาคุณภาพ หัวหน้าโครงการการดูแลผู้ป่วย เป็นทีม ในปี พ.ศ. 2544 5) ได้พัฒนา หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของโรงพยาบาล รามาธิบดี ให้ได้มาตรฐานผ่านแพทยสภารับรอง สามารถได้วุฒิบัตรในปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีแพทย์ ผู้สำเร็จจากหลักสูตรนี้ 10คน 6)ได้วางรากฐานการดูแลผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้าน ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2543 และได้รับรางวัล บริการ ภาครัฐแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2559 ประเภท รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดย ท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม
ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร เป็นหัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์จนปัจจุบัน โดยปัจจุบันหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเป็นแหล่งผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนศาสตร์คลินิกเพื่อเป็นอาจารย์แพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนศาสตร์คลินิกในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งอบรมสำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดทั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา รวมถึงบุคลากรทางแพทย์สาขาต่างๆและสถาบันศึกษาต่างๆทั่วประเทศ
ด้านการให้บริการและการวิจัยทางสาขาวิชา ดำเนินการด้านการดูแลผู้ป่วยทีมีปัญหาด้านทุพโภชนาการทั้งในโรงพยาบาล และผู้ป่วยนอก มีการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำหรือทางสายให้อาหารทางเดินอาหารที่บ้าน (Ramathibodi Home Parenteral and Enteral Nutrition Center) โดยเป็นการให้การดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขา ร่วมกับอายุแพทย์สาขาต่างๆ ศัลยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและนักโภชนาการ
นอกจากนั้นยังมีการดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนอย่างเป็นระบบทั้งการให้การดูแลรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยาและการผ่าตัดลดน้ำหนัก โดยดูแลผู้ป่วยทั้งที่แผนกผู้ป่วยนอก (Nutrition and Bariatric Clinic)และผู้ป่วยใน
รางวัลของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ในสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์