ขอบเขตการดำเนินงาน

ขอบเขตการดำเนินงาน

 

วิสัยทัศน์ พันธกิจ             

สาขาวิชาโลหิตวิทยาเป็นสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอน งานบริการ และงานวิจัยที่ทันสมัย มีมาตรฐานระดับสากล สามารถรักษาผู้ป่วยด้านโลหิตวิทยาได้ทุกโรค ทุกระดับ เป็นคลังความรู้ด้านโลหิตวิทยาและมีการเผยแพร่ความรู้สู่สถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

 

การให้การบริการผู้ป่วยอย่างดีที่สุด

คณาจารย์และบุคคลากรสาขาวิชาโลหิตวิทยามีความมุ่งมั่นที่จะให้การบริบาลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด โดยใช้วิชาความรู้ หลักจริยธรรม ตลอดจนความเมตตาต่อผู้ป่วย ซึ่งหลักในการฝึกอบรม นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านนั้นทางสาขาวิชาโลหิตวิทยาจะเน้นปลูกฝังให้ผู้ได้รับการฝึกอบรมระลึกถึงผู้ป่วยเป็นหลักเสมอ โดยแพทย์ต้องพยายามใช้ความรู้ ความสามารถ ในการตรวจรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ตรงเป้า เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโดยเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

การเรียนการสอน

สาขาวิชาโลหิตวิทยารับผิดชอบการเรียนการสอนของนักศึกษาทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา ได้แก่

  1. การศึกษาระดับก่อนปริญญา สอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3, 4, 5 และ 6 เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัย  การแปลผลทางห้องปฏิบัติการและแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านโรคทางโลหิตวิทยา ซึ่งประกอบด้วยการสอนภาคทฤษฎี และการสอนภาคปฏิบัติ ได้แก่ ฝึกสอนทักษะการอ่านเสมียร์เลือดและไขกระดูก ซึ่งจัดทำเป็นคอร์สพิเศษ เพราะต้องการให้นักศึกษาแพทย์สามารถใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยปัญหาทางคลินิกและสามารถเลือกการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมได้
  2. การศึกษาหลังปริญญา ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป และแพทย์ประจำบ้าน/แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์สาขาอายุรศาสตร์โรคเลือด โดยมุ่งเน้นให้แพทย์ประจำบ้านได้เรียนรู้จากการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา และให้แพทย์ประจำบ้านติดตามดูแลผู้ป่วยในระยะยาวเพื่อให้ได้เรียนรู้การดำเนินโรค โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเลือดให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
  3. การจัดกิจกรรมทางวิชาการ ได้แก่ การอ่านทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ (Journal Club), การเรียนการสอนข้างเตียงผู้ป่วยในรายที่น่าสนใจหรือโรคที่พบได้น้อย (Grand round), การอ่านเสมียร์เลือดและไขกระดูกร่วมกับอาจารย์ทางโลหิตพยาธิวิทยา (Hemato-Pathology conference)

การวิจัย

หลักการ การวิจัยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าแพทย์ไม่รู้จักคิดขบปัญหาที่ตนเองพบจากการดูแลผู้ป่วย บางครั้งจะพบสิ่งที่แปลกไปไม่เหมือนในตำรา ต้องฝึกความอยากรู้ปัญหาที่พบให้ลึกซึ้งมากขึ้น โรงเรียนแพทย์ต้องมีการวิจัยที่ดี เพื่อเป็นแหล่งวิชาการเพิ่มเติมให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ

ในปัจจุบัน งานวิจัยของสาขาวิชาโลหิตวิทยามีทั้งการวิจัยทางคลินิก งานวิจัยด้านชีวเคมี (Biochemistry) และงานวิจัยด้านอณูชีววิทยา (Molecular biology) เกี่ยวกับโรคต่างๆ ดังนี้

  1. การวิจัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute leukemia)
  2. การวิจัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic myeloid leukemia)
  3. การวิจัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดมัยอีโลมา (Multiple myeloma)
  4. การวิจัยกลุ่มโรคไขกระดูกทำงานมากผิดปกติ (Myeloproliferative neoplasm)
  5. การวิจัยโรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ (Myelodysplastic syndrome)
  6. การวิจัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
  7. การวิจัยโรคโลหิตจาง Thalassemia
  8. การวิจัยภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ (Venous thromboembolism)
  9. การวิจัยโรคเลือดออกหยุดยากทางพันธุกรรม (Hemophilia)
  10. การวิจัยโรคเกล็ดเลือดต่ำ Immune thrombocytopenic purpura, Thrombotic thrombocytopenic purpura)
  11. การวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cell transplantation)

งานบริบาลและบริการทางการแพทย์

  1. ให้การบริบาลดูแลรักษาผู้ป่วยนอกโรคทางโลหิตวิทยา ที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ในวันจันทร์ อังคาร พุธ และ ศุกร์ เวลา 9.00-12.00 น. และวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 -16.00 น.
  2. ให้การบริบาลดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคทางโลหิตวิทยาในหอผู้ป่วยอายุรกรรม หอผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และให้คำปรึกษาผู้ป่วยต่างแผนก
  3. ให้บริการตรวจและแปลผลความผิดปกติจากเสมียร์เลือดและไขกระดูก
  4. ให้บริการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทั้งจากผู้ป่วยและผู้บริจาค
  5. ให้บริการตรวจวัดค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเกล็ดเลือด และตรวจวัดระดับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน (Direct oral anticoagulants)

งานบริการทางวิชาการ

  1. จัดงานประชุมวิชาการ Intensive course in Hematolology เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางโลหิตวิทยาที่ทันสมัยให้แก่แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ทั่วไป
  2. จัดงานประชุมวิชาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นประจำทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ให้แก่โลหิตแพทย์ แพทย์ที่สนใจ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  3. เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุมทั้งระดับประเทศและนานาชาติ
  4. ให้ความรู้ด้านโรคทางโลหิตวิทยาแก่ประชาชนทั่วไป ทั้งด้านโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกหยุดยากทางพันธุกรรม และโรคหลอดเลือดดำอุดตัน