เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา               

     เมื่อปี พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ในขณะนั้นได้มีโครงการก่อตั้งสาขาวิชาที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีพื้นฐานของโรคพันธุกรรมแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่การรักษาผู้ป่วยดังกล่าวในขณะนั้นหลังจากการรักษาโรคแทรกซ้อนแล้วก็ไม่ได้ดูรายละเอียดในโรคพื้นฐานที่เป็นพันธุกรรม นอกจากนี้อาจารย์ยังเห็นว่าเทคโนโลยีทางด้านชีววิทยาโมเลกุล (molecular biology) น่าจะมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์รวมทั้งอายุรศาสตร์ในอนาคต ทั้งในด้านการวินิจฉัย การประเมินโรค การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และการรักษา อาจารย์อรรถสิทธิ์จึงได้ให้คำแนะนำแก่อาจารย์นายแพทย์ธันยชัย สุระ เรื่องการไปศึกษาต่อด้าน medical genetics และ molecular biology ที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างนั้นอาจารย์ได้วางแผนให้มีการจัดตั้งสาขาเวชพันธุศาสตร์และชีววิทยาโมเลกุลขึ้น  โดยใน 2 ปีแรกอาจารย์อรรถสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสาขาวิชา จนกระทั่งอาจารย์ธันยชัยกลับมาจากการฝึกอบรมในวิชาดังกล่าว จึงได้จัดตั้งสาขานี้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2531 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา                

     ในระยะเริ่มต้นอาจารย์นายแพทย์ธันยชัย เป็นอาจารย์ประจำเพียงท่านเดียวและได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกภาควิชาที่มีผู้ป่วยที่มีโรคพื้นฐานทางพันธุกรรม เช่น ร่วมกับอาจารย์ในสาขาโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์เรื่องธาลัสซีเมีย ร่วมกับสาขาโรคปอด  และสาขาประสาทวิทยาเรื่องการตรวจหาเชื้อวัณโรคโดยวิธี PCR  (polymerase chain reaction) และยังร่วมกับอาจารย์แพทย์ที่สถาบัน IMM (Institute of Molecular Medicine) ที่มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เช่น Professor Sir David Weather All เรื่องการตรวจสอบพันธุกรรมของผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่พบได้น้อย เป็นต้น ต่อมางานด้านชีววิทยาโมเลกุลได้ขยายตัวขึ้น โดยมีการรับตรวจยีน และ genetic markers ในโรคต่าง ๆ ซึ่งได้มีการสร้างห้องปฏิบัติการทาง DNA ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2533 โดยที่มีนักวิทยาศาสตร์ 1 คน และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 1 คน                

     ในปี พ.ศ. 2540-2550 มีแพทย์ที่จบจากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปแล้ว สนใจขอกลับมาศึกษาวิชาเวชพันธุศาสตร์ คือ นายแพทย์จักรกฤษณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา  และแพทย์หญิงอัจฉรา ธัญธีรธรรม  ปัจจุบันแพทย์หญิงอัจฉรา ธัญธีรธรรม ได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำสาขาเวชพันธุศาสตร์และชีววิทยาโมเลกุล ส่วนนายแพทย์จักรกฤษณ์  เอื้อสุนทรวัฒนา หลังจากที่ได้ช่วยตรวจรักษาผู้ป่วยโรคพันธุกรรมอยู่ระยะหนึ่ง  ปัจจุบันได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน  และได้มาช่วยตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่แผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรมสัปดาห์ละ 1 วัน และมีพยาบาลวิชาชีพประจำสาขาวิชาเพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยคือ คุณกนกนันท์  ศรีจันทร์

วัน เวลาให้บริการ

            วันจันทร์ อังคาร และศุกร์  เวลา 9.30-12.00 น. คลินิกให้คำปรึกษาโรคทางพันธุกรรมและธาลัสซีเมีย  แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว อาคาร 4 ชั้น 1 ห้องตรวจที่ 44

            วันพฤหัสบดี เวลา 9.30-12.00 น. แผนกตรวจผู้ป่วยนอกอายุรกรรม โซน A ชั้น 1 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ห้องตรวจที่ A15 และ A21

โทรศัพท์ & แฟกซ์: 02-2011374