ตัวอย่างผลงานวิจัย

ตัวอย่างงานผลวิจัย

           ภายหลังจากการก่อตั้งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร เกิดการสร้างผลงานวิจัยด้านเวชศาสตร์ปริวรรต (Translational Medicine) ระดับนานาชาติ ได้แก่ ผลงานการค้นพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือ Biomarker สำหรับผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ (1) และ ผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างโมเดลเซลล์มะเร็ง 3 มิติ หรือ ออแกนอยด์ สำหรับมะเร็งจอตา (2)

           งานวิจัยเพื่อหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง (cancer biomarker) ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ตัวบ่งชี้การดำเนินโรค ตัวบ่งชี้วิธีการรักษา และตัวบ่งชี้ขนาดยา ซึ่งจำเป็น ต้องใช้ตัวอย่างทางคลินิกที่ยังคงคุณภาพสารพันธุกรรมและโปรตีนที่จัดเก็บไว้ล่วงหน้าในธนาคารชีวภาพเป็นจำนวนมากในการทดสอบและพัฒนาให้ถึงขั้นที่สามารถนำไปใช้ตรวจผู้ป่วยได้จริง ผลงานวิจัยสำคัญคือการค้นพบตัวบ่งชี้การเกิดมะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ เป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีการอ้างอิงสูง โดยมะเร็งศีรษะและลำคอเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนเอเชียมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น มะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 เป็นสาเหตการเสียชีวิตหลักของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสากลและวิธีการตรวจคัดกรองหามะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงทำให้การหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อช่วยทำนายโอกาสเกิดและระยะเวลาที่จะเกิดมะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 นั้นมีความสำคัญมาก โดยสามารถนำไปพัฒนาเป็นชุดตรวจที่สามารถใช้ทำนายโอกาสเกิดและระยะเวลาที่จะเกิดมะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 ในผู้ป่วยชาวไทย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตรวจพบมะเร็งร่วมตำแหน่งที่ 2 ได้ในระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาด และทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตระยะยาวสูงขึ้น

           ในการดำเนินงานในส่วนของธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง เฟสที่ 2 นั้น ทางทีมงานได้มุ่งเน้นการนำที่ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งสดของผู้ป่วยมาพัฒนาต่อยอดเป็นโมเดลออร์แกนอยด์ ซึ่งออร์แกนอยด์มะเร็ง (cancer organoid) คือ โมเดลเซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นจากเนื้อเยื่อมะเร็งสดของผู้ป่วยที่มีลักษณะสามมิติเหมือนก้อนเนื้อเยื่อจำลองขนาดเล็กสามารถคงคุณสมบัติทางชีววิทยาได้ใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อมะเร็งในผู้ป่วยจริง ความโดดเด่นนี้ทำให้ออร์แกนอยด์ถูกใช้เป็นโมเดลของโรคมะเร็งเพื่อการศึกษาความรุนแรงของโรค การค้นพบตัวยาใหม่ และการทดสอบประสิทธิภาพของตัวยาแทนตัวผู้ป่วย การใช้โมเดลมะเร็งออร์แกนอยด์สามมิติเพื่อทำนายการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย จะช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการรักษามะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำ ซึ่งเน้นการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลการตอบสนองต่อยาของเซลล์มะเร็ง ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ ทำนายและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยได้ ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรน้ำยาและระบบการเลี้ยงเซลล์สำหรับการผลิตออร์แกนอยด์จากเนื้อเยื่อมะเร็งจอประสาทตาของผู้ป่วยเด็กที่เก็บในธนาคารชีวภาพฯ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่แรกในโลกที่มีการสร้างโมเดลออร์แกนอยด์ของมะเร็งจอประสาทตาสำเร็จ ออร์แกนอยด์มะเร็งจอประสาทตามีคุณสมบัติทางชีววิทยาและการตอบสนองต่อยาคล้ายกับเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วย ดังนั้นโมเดลออร์แกนอยด์จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยในหลอดทดลอง ซึ่งผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ นอกจากนี้ทางธนาคารชีวภาพฯยังผลิตและเก็บสะสมออร์แกนอยด์ของมะเร็งหายากและมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ ออร์แกนอยด์มะเร็งสมองในเด็ก ออร์แกนอยด์มะเร็งเต้านม ออร์แกนอยด์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทางธนาคารชีวภาพฯได้ปรับสูตรน้ำยาเลี้ยงเซลล์ให้มีราคาถูกลงและเหมาะสมกับเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยไทย โมเดลออร์แกนอยด์มะเร็งสามมิติที่ถูกสร้างขึ้นและเก็บในธนาคารชีวภาพฯนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งของประเทศในอนาคต

แหล่งอ้างอิง

           (1) Bunbanjerdsuk S, Vorasan N, Saethang T, Pongrujikorn T, Pangpunyakulchai D, Mongkonsiri N, Arsa L, Thokanit N, Pongsapich W, Anekpuritanang T, Ngamphaiboon N, Jinawath A, Sunpaweravong S, Pisitkun T, Suktitipat B, Jinawath N. Oncoproteomic and gene expression analyses identify prognostic biomarkers for second primary malignancy in patients with head and neck squamous cell carcinoma. Mod Pathol. 2019 Jul;32(7):943-956. doi: 10.1038/s41379-019-0211-2. Epub 2019 Feb 8. PMID: 30737471.

           (2) Saengwimol D, Rojanaporn D, Chaitankar V, Chittavanich P, Aroonroch R, Boontawon T, Thammachote W, Jinawath N, Hongeng S, Kaewkhaw R. A three-dimensional organoid model recapitulates tumorigenic aspects and drug responses of advanced human retinoblastoma. Sci Rep. 2018 Oct 23;8(1):15664. doi: 10.1038/s41598-018-34037-y. PMID: 30353124; PMCID: PMC6199308.