You are here

การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

อ. นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์
สาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

พว. ศิริพร เสมสาร
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลแบบประคับประคอง
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

 

การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

 

         การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care คือ การดูแลที่มีมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care สามารถให้การรักษาควบคู่กับการรักษาหลักเช่นการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยก็ยังได้รับการรักษาแบบมาตรฐาน เช่นการรับเคมีบำบัด การรับการรักษาการฉายรังสี โดยไม่ได้ไปจำกัดการรักษาที่ผู้ป่วยควรได้รับ แต่ในระยะท้ายที่สภาวะร่างกายของผู้ป่วยอาจไม่เหมาะสมกับการรักษาเดิม เช่น การรักษาเคมีบำบัด การรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative Careจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวโรค เข้าใจการพยากรณ์ของโรค เข้าใจการรักษา และเข้าใจถึงผลประโยชน์ และความเสี่ยงจากการรักษา และช่วยให้ผู้ป่วยตัดสินใจในการรับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยการดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ

 

การดูแลแบบประคับประคองไม่ใช่เพียงแค่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

         การรักษาแบบประคับประคองจะเริ่มตั้งแต่เริ่มผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจนถึงช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เป็นการดูแลแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นจนถึงวาระสุดท้าย เมื่อกล่าวถึงผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง คนทั่วไปอาจคิดถึงภาพของผู้ป่วยที่หมดหวัง รอความตาย ใกล้เสียชีวิต ไม่สามารถรับการดูแล หรือการรักษาใด ๆ ได้อีก แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถช่วยเหลือบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าไม่อาจกำจัดตัวโรคให้สิ้นไปได้ด้วยการดูแลแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดอาการที่เกิดจากโรคที่อาการเหล่านั้นมักรุนแรงและเกิดความทุกข์ทรมาน
 

เมื่อใดจึงควรเริ่มการรักษาการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

         การดูแลแบบประคับประคอง สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย หรือเมื่อผู้ป่วยและครอบครัวพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง โดยเมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลาม อาการของโรคมาก การรักษาแบบประคับประคองจะมีบทบาทมากขึ้น และเมื่อผู้ป่วยจากไปการรักษแบบประคับประคอง จะดูแลความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตร่วมด้วย การรับการรักษา สามารถแจ้งแพทย์ผู้รักษา เพื่อประสานทีมรักษาการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้การดูแลได้

 

การดูแลอาการผู้ป่วยระยะท้าย

         การดูแลแบบประคับประคองจะเน้นการรักษาที่เน้นความสุขสบายของผู้ป่วยและครอบครัว การรักษาที่ให้การรักษาครบทุกทุกอย่างอาจเป็นการรักษาที่ไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย การเลือกการรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นการรักษาที่ดี และเหมาะกับผู้ป่วย

 

    การรักษาทางโภชนาการ การรับประทานอาหารและน้ำ

         การที่ผู้ป่วยกินและดื่มได้ลดลง อาจสร้างความเป็นห่วงเป็นกังวลแก่ผู้ดูแลและครอบครัว โดยคิดว่าผู้ป่วยจะขาดสารอาหาร และอาจทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน แต่แท้จริงแล้วการรับประทานอาหารและน้ำลดลงเนื่องมาจากตัวโรคที่เป็นมากขึ้น ที่ทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารและน้ำได้น้อยลง ร่วมกับความต้องการของร่างกายที่ลดลง และการทำงานของระบบทางเดินอาหารทำงานลดลง การกินอาหารมากๆจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้ ไม่แนะนำการให้อาหารทางหลอดเลือดหรือสายให้อาหารทางจมูก เพราะไม่พบว่ามีประโยชน์ แต่อาจเสียงจ่อผลข้างเคียงเช่นการสำลักอาหารเข้าปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ การติดเชื้อที่หลอดเลือดให้สารอาหาร ภาวะตับอ่อนอักเสบในผู้ป่วยที่ได้สารอาหารทางหลอดเลือด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ป่วยได้
 

    การรักษาโรคประจำตัว

         เนื่องจากระยะเวลาชีวิตของผู้ป่วยมีระยะเวลาจำกัด จึงควรพิจารณาว่ายาต่างๆของผู้ป่วยมีความจำเป็น หรือมีประโยชน์หรือไม่ เราสามารถปรับลดการรักษาต่างๆได้หรือไม่ เพื่อลดภาระเรื่องยาให้กับผู้ป่วย เช่นการรักษาเบาหวาน เราสามารถลดปริมาณยาได้ เพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ เราสามารถงดยาวิตามิน หรือ ยาลดไขมันได้ เพราะผลการรักษาที่เป็นประโยชน์จะเป็นผลในระยะยาวเช่นอีก 5 ปีข้างหน้า
 

    การรักษาอาการช่วงท้ายของชีวิต

         ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมลง นอนหลับมากขึ้น หรืออาจสับสน นอนกลางวันตื่นกลางคืน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เพ้อ คราง ประสาทหลอน มีอาการปวด ท้องอืดแน่นท้องไม่สามารถกินอาหาร และอาจมีการขับถ่ายลำบาก หรือถ่ายราดได้ การรักษาแบบประคับประคอง จะเน้นที่การรักษาอาการของผู้ป่วย และเน้นเรื่องการคงความสัมพันธ์ ในการดูแลผู้ป่วยของครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถพูดคุย บอกความรัก ความห่วงใย บอกถึงการสะสางสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นกังวล
 

    การวางแผนการรักษาระยะท้ายและการเขียนพินัยกรรมชีวิต

         โดยทีมการรักษารักษาการดูแลแบบประคับประคองจะช่วยในการวางแผนการรักษา การเลือกสถานที่การรักษา เช่นถ้าผู้ป่วยเลือกรับการรักษาที่บ้าน ทางทีมรักษาการดูแลแบบประคับประคองจะช่วยวางแผน และประสานงานในการเยี่ยมบ้าน