นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ปวดหัวข้างเดียว = ไมเกรน จริงหรือมั่ว ?

Volume
ฉบับที่ 54 เดือนตุลาคม 2567
Column
Believe it or not
Writer Name
อ. พญ.ธนนันท์ ธรรมมงคลชัย สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

       ความเชื่อนี้ไม่จริง ปวดไมเกรนมีลักษณะจำเพาะหลายอย่าง การปวดหัวข้างเดียวเป็นเพียงหนึ่งในอาการของไมเกรนเท่านั้น แต่คนไข้ยังต้องมีอาการอื่น ๆ อีกถึงจะเรียกได้ว่าเป็นโรคไมเกรนจริง ๆ โรคนี้ส่วนใหญ่พบในวัยนักศึกษา วัยทำงาน แต่หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แล้วไม่เคยปวดหัวมาก่อน มักไม่ใช่อาการของไมเกรน

ลักษณะของการปวดหัวไมเกรน
    1.    ปวดหัวตุ้บ ๆ เหมือนเส้นเลือดกำลังเต้นอยู่บนศีรษะ 
    2.    ปวดหัวข้างเดียว อาจสลับข้างได้หรือปวดหัวทั้ง 2 ข้างได้ 
    3.    มีอาการปวดหัวอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เช่น ปวดเป็นชั่วโมง และปวดรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานไม่ไหว เป็นต้น 
    4.    เมื่อปวดหัวรุนแรงระดับหนึ่ง คนไข้มักมีอาการคลื่นไส้ 
    5.    มีอาการแพ้แสง แพ้เสียง เมื่อเจอแสงจ้า เสียงดัง ๆ หรือได้กลิ่นฉุน เช่น น้ำหอม ควัน จะปวดหัวมากขึ้น 

อาการปวดหัวที่ต้องระวัง
        อาการปวดหัวแบบไหนที่ไม่ใช่การปวดแบบทั่วไป อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคบางอย่างได้
    1.    ปวดหัวร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    2.    ปวดหัวตอนกลางคืนจนทำให้ตื่น
    3.    ปวดหัวแบบมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก ซึม รู้สึกตัวน้อยลง ชัก

คำแนะนำสำหรับคนปวดหัวบ่อย 
        แม้การกินยาเมื่อเริ่มมีอาการปวดหัวไมเกรนจะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคนี้ แต่ปัจจุบันยังมีการรักษาอีกแบบ เป็นการรักษาแบบป้องกัน โดยแพทย์จะให้ยาที่ช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการปวดหัว ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาการปวดหัว เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่หากปวดหัวบ่อยและรุนแรง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 54