ต้องกินอย่างไร เมื่อเป็นกรดไหลย้อน
เมื่อการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน กลับบ้านดึกดื่น กินอาหารเย็นแล้วก็เข้านอน เพื่อจะได้มีแรงตื่นไปทำงานในตอนเช้า สิ่งเหล่านี้ คือพฤติกรรมที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้โดยง่าย
โดยสาเหตุของโรคนี้ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ หย่อนยาน หรืออาจเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถกั้นน้ำย่อย กรดหรืออาหารต่าง ๆ ในกระเพาะไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก หรือแน่นหน้าอกได้ บางคนอาจรู้สึกจุกบริเวณคอ นอนราบไม่ได้ รวมถึงมีอาการเปรี้ยวและขมที่คอร่วมได้
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มากเกินไป เช่น การกินบุฟเฟ่ต์ ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะกินในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ทำให้กระเพาะขยายตัวมากขึ้น จนเกิดแรงดันสูง จึงมีแนวโน้มที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้
ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อแบ่งเบาการทำงานของกระเพาะอาหาร รวมถึงเลี่ยงอาหารมื้อหนัก เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนั้นหลังมื้ออาหารควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เพื่อดูดซึมต่อไป
โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรกินในปริมาณมาก ๆ มี 3 ชนิดด้วยกัน
- อาหารที่มีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็นของทอดของมันต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารที่มีไขมัน เช่น นม เนย ชีส คุกกี้ เป็นต้น เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะใช้เวลาย่อยในกระเพาะนาน เมื่ออยู่ในกระเพาะนาน จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดกรดมากขึ้น และไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้
- อาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊สในกระเพาะ เช่น ของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารที่ทำจากถั่ว เพราะอาหารกลุ่มนี้จะไปเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาจส่งผลให้หูรูดมีช่องว่างเปิดออกมา ทำให้น้ำย่อยหรือกรดไหลย้อนขึ้นมา
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะไปกระตุ้นให้กรดหลั่งมากขึ้น ทำให้หูรูดปิดตัวผิดปกติได้