อาการ Panic อาการทางจิตที่แสดงออกทางกาย
ก่อนหน้านี้ได้มีกระทู้ Pantip ออกมาพูดถึงอาการของตัวเองที่มีลักษณะคล้ายๆ กับโรคหัวใจ แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ ซึ่งตัวเจ้าขอกระทู้นั้นเล่าว่า มีอาการวูบหลายครั้ง แม้จะออกกำลังกายเพื่อหวังว่าอาการจะดีขึ้น แต่กลับมีสุขภาพแย่ลง เริ่มมีอาการหน้ามืด ขาแขนชา และใจสั่น จึงสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ แต่เมื่อตรวจกับพบว่าปกติดี จึงเกิดอาการกลัวจึงค้นในอินเตอร์เน็ตแล้วพบโรคหนึ่งที่คล้ายกับอาการของตน เรียกว่า อาการ Panic
อาการ Panic คือ
เป็นโรคทางด้านจิตใจชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่เรียกว่า panic attack ประกอบด้วยอาการทางกาย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น มือเท้าชา ตัวเย็น คลื่นไส้ มวนท้อง ปวดหัว ปวดตามร่างกายบางคนอาจมีอาการทางด้านอารมณ์ เช่น กลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิต หรือเป็นอะไรที่ร้ายแรง
สาเหตุที่ทำให้เกิด
คือผู้ป่วยอาจจะมีความวิตกกังวล หรือโรควิตกกังวลอื่นๆ ร่วมด้วย หรือมีลักษณะของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเร็วหรือไวกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบทางกายหลายๆ อย่าง เช่น ระบบหายใจ อาการมือเท้าเย็น แน่นหน้าอก หรืออัตราการเต้นของหัวใจ
โรคนี้เป็นโรคทางจิตใจที่แสดงออกมาทางอาการทางกาย ซึ่งจะมีอาการอยู่บ่อยๆ ร่วมกับผลกระทบต่างๆ
เช่น บางคนเฝ้ากังวลเกี่ยวอาการเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา หรือมีผลต่อพฤติกรรมเช่น ไม่กล้าออกไปไหน พบเจอได้ในวัยรุ่นตอนต้นจนถึงผู้ใหญ่ตอนปลาย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มคนที่มักจะมีความวิตกกังวล
โรคนี้สามารถรักษาได้โดยทั้งการใช้ยา และการปรับพฤติกรรมและความคิด
- การรักษาโดยยา ก็คือยาที่ใช้ในการรักษาเรื่องวิตกกังวล ร่วมกับยาคลายเครียดที่อาจต้องใช้เมื่อมีอาการรุนแรงจริงๆ
- การปรับพฤติกรรม จะมีตั้งแต่การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกด้านการหายใจ ฝึกปรับความคิดต่างๆ ซึ่งพบว่าจะช่วยลดอาการลงได้
ในส่วนของวิธีดูแลตัวเอง
แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามคุมสติเมื่อมีอาการ หรือใช้วิธีการบอกกับตัวเองว่า สิ่งที่เป็นนั้นเกิดมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เกิดอันตรายร้ายแรง ซึ่งหากมีสติและรู้เท่าทันความวิตกกังวล ความกลัวและอาการต่างๆ ได้ ก็ช่วยในการรักษาด้านอื่นๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนั้นควรฝึกการหายใจและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ขณะที่คนใกล้ตัวเองก็มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้เยอะ โดยต้องคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจอย่าทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองเป็นตัวปัญหา นอกจากนนี้ โรค Panic นั้นอาจจะมีเรื่องของภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา เช่น ภาวะซึมเศร้า แต่หากคนรอบตัวทำความเข้าอกเข้าใจในตัวผู้ป่วย จะช่วยลดภาวะต่างๆ ลงได้
ข้อมูลจาก
อ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล